ครบ 70 ปี D-Day

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
17 มิถุนายน 2557

          D-Day หรือวันที่ฝ่ายพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สองยกพลขึ้นบกครั้งใหญ่ที่ Normandy ได้เวียนมาบรรจบครบ 70 ปี ลองมานึกทบทวนกันว่ามันมีเรื่องราวอย่างไรในสงครามซึ่งโลกต้องสูญเสียไปกว่า 70 ล้านชีวิต

          สงครามโลกครั้งที่สองดำเนินอยู่ในช่วงเวลา ค.ศ. 1939 ถึง 1945 (6 ปีกับ 1 วัน) สำหรับด้านยุโรปฝ่ายอักษะเป็นผู้เริ่มสงครามโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ผู้นำของเยอรมันบุกยึดประเทศ ต่าง ๆ ในยุโรป อังกฤษซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามคือฝ่ายพันธมิตรตอบโต้โดยในที่สุดได้กลายเป็นสงครามที่ผู้คนกว่า 100 ล้านคนจากกว่า 30 ประเทศเกี่ยวพัน มัน

          เป็นการต่อสู้ฆ่าฟันกันครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ตัวละครทั้งหลายทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดที่มีในทุกด้านเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายอย่างไม่มีการลดราวาศอก

          ในด้านเอเชีย ญี่ปุ่นรุกรานเอเชียและหมู่เกาะปาซิฟิกโดยรบกับจีนมาตั้งแต่ 1937 และถือว่าร่วมสงครามโลกอย่างแท้จริงเมื่อญี่ปุ่นบุกโจมตีอ่าว Pearl Harbor ที่ฮาไวซึ่งเป็นดินแดนของสหรัฐอเมริกาในเดือนธันวาคม 1941 พร้อมกับบุกยึดดินแดนเอเชียไปทั่วรวมทั้งไทยด้วย

          ในช่วงแรกของสงครามคือ 1939-1941 เยอรมันจับมือกับอิตาลียึดครองพื้นที่ยุโรปอย่างกว้างขวาง เยอรมันกับสหภาพโซเวียตแบ่งดินแดนในยุโรปกันครอบครอง มีเพียงอังกฤษและประเทศในจักรภพอังกฤษเท่านั้นที่ต่อสู้กับการบุกรุกของเยอรมันโดยทำการรบในอาฟริกาเหนือและในทะเลกับเยอรมัน

          เหตุการณ์ผันผวนเมื่อสัมพันธ์ภาพระหว่างเยอรมันกับสหภาพโซเวียตขาดสะบั้นลงเมื่อ เยอรมันบุกสหภาพโซเวียตในปี 1941 ซึ่งประสบกับการตอบโต้กลับอย่างหนักหน่วง และหลังจากสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับญี่ปุ่นหลังการถูกโจมตีแบบสายฟ้าแลบที่ Pearl Harbor ในปี 1941 ฝ่ายพันธมิตรก็เข้มแข็งขึ้นทันทีเพราะประกอบด้วย 3 ประเทศใหญ่คือสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพโซเวียต โดยตระหนักดีว่าการจะรบชนะเยอรมันได้เด็ดขาดก็โดยการบุกเข้าโจมตีเมืองหลวงของเยอรมันคือเบอร์ลินให้ราบคาบ

          เยอรมันนั้นอยู่ติดทะเลเหนือ (มีอังกฤษ เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฯลฯ อยู่ชายฝั่ง) อยู่ติดทะเลบอลติก (สวีเดน โปแลนด์ ฯลฯ อยู่ชายฝั่ง) และอยู่ติดกับฝรั่งเศสทางตะวันออก ซึ่งฝรั่งเศสนั้นตั้งอยู่ริมมหาสมุทรแอตแลนติกโดยมีพื้นที่ฝั่งทะเลที่กว้างขวาง ไม่เป็นหน้าผาชันเหมาะแก่การยกพลขึ้นบกเพื่อผ่านไปเยอรมัน

          ขณะที่สหรัฐอเมริการบกับญี่ปุ่นในเอเชีย ฝ่ายพันธมิตรก็วางแผนกันในกลางปี 1943 ที่จะยกพลขึ้นบกโดยพิจารณาเป้าหมายซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของฝรั่งเศส ซึ่งไม่ห่างจากฝั่งอังกฤษ เพียงข้ามช่องแคบอังกฤษก็ขึ้นฝั่งฝรั่งเศสและสามารถบุกลุยเข้าถล่มกรุงเบอร์ลินซึ่งเป็นฐานของฮิตเลอร์ได้

          ปัญหาสำคัญคือทำอย่างไรไม่ให้เยอรมันรู้ว่าจะยกพลขึ้นบกที่จุดใด เพราะฮิตเลอร์ก็คาดเดาได้ว่าจะมีการยกพลขึ้นบกบริเวณแนวชายฝั่งบริเวณนั้น ฝ่ายพันธมิตรจึงวางแผน “ลับ ลวง พราง” ให้เยอรมันเข้าใจสถานการณ์ที่ผิดพลาดก่อนถึงวันยกพลขึ้นบกจริง ซึ่งตั้งใจว่าจะเป็นประมาณกลางปีของ ค.ศ. 1944 หลังจากสะสมสรรพกำลังและกระทำการ ‘ลับ ลวง พราง’ ได้สำเร็จ

          Normandy แคว้นหนึ่งของฝรั่งเศสเป็นเป้าหมายเพราะมีหาดที่เหมาะสมตั้งอยู่ ดังนั้นประวัติศาสตร์จึงเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นในวันที่ 6 มิถุนายน 1944 ว่า Normandy Invasion มีชื่อทางทหารว่า Operation Overlord คำว่า D-Day ในทางทหารหมายถึงวันลงมือปฏิบัติการ คนทั่วไปมักเรียกเหตุการณ์ยกพลขึ้นบกครั้งนั้นว่า D-Day ซึ่งถือกันว่าเป็น D-Day ที่ผู้คนรู้จักมากที่สุดและเป็นก้าว สำคัญของการชนะสงครามในยุโรป และสงครามโลกครั้งที่สองในที่สุด

          เป้าหมายของการยกพลขึ้นบกคือ 5 หาดของ Normandy ซึ่งกินระยะทางยาว 80 กิโลเมตร ฝ่ายพันธมิตรใช้กำลังรวม 1.3 ล้านคน ระหว่าง 6 มิถุนายน–24 กรกฎาคม 1944 ในขณะที่ฝ่ายป้องกันคือเยอรมันใช้ทหารเพียง 380,000 คน ในช่วงเวลาเดียวกัน

          กำลังพลที่ใช้เพื่อบุกขึ้นบกของฝ่ายพันธมิตรคือทหาร 156,000 คน บาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 12,000 คน และตาย 4,414 คน ฝ่ายเยอรมันใช้ทหาร 50,000 คน บาดเจ็บประมาณ 4,000-9,000 คน (ไม่ทราบจำนวนตาย) สาเหตุที่ฝ่ายเยอรมันใช้ทหารน้อยก็เนื่องจากถูกหลอกอย่างสนิทใจว่าจะมีการยกพลขึ้นบกที่จุดอื่น

          ฝ่ายพันธมิตรหลอกได้สำเร็จด้วยการตั้งโครงการหลอกลวงขึ้นมาโดยเฉพาะเรียกว่า Operation Bodyguard สาเหตุที่ทำได้สำเร็จก็เนื่องจากความก้าวหน้าในด้านข่าวกรองและจารกรรมของฝ่ายพันธมิตร สามารถถอดสัญญาณลับของการสื่อสารระหว่างหน่วยทหารของเยอรมันโดยกองทัพนาซีไม่รู้ นอกจากนี้งานจารกรรมใต้ดินของฝ่ายพันธมิตรซึ่งประกอบด้วยพลเมืองของชาติ ต่าง ๆ ที่ถูกยึดครองก็ทำงานได้ผล

          ฝ่ายพันธมิตรสามารถประเมินได้ว่าข่าวลวงที่ปล่อยไปว่าจะยกพลขึ้นบกในบริเวณทาง ใต้ของฝรั่งเศส นอร์เวย์ หรือ Pas de Calais นั้นมีประสิทธิภาพเพียงใด ประเด็นสำคัญก็คือการลวงให้เข้าใจผิดว่าการยกพลขึ้นบกทางตอนตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรปจะกระทำหลังจากวันจริงอีกหลายวัน

          เมื่อ D-Day มาถึง ทหารเยอรมันที่ต่อต้านจึงมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็นมาก การโยกย้ายทหารมาจากจุดอื่นที่กระจายกันอยู่ทั่วชายฝั่งฝรั่งเศสเพื่อรับมือก็กระทำได้ช้าไม่ทันกับการบุกทะลวงของฝ่ายพันธมิตรซึ่งก่อนหน้ายกพลขึ้นบกก็มีทหารหน่วยพลร่มสอดแนมจำนวนมากเข้าไปเตรียมการไว้แล้ว นอกจากนี้ขณะยกพลขึ้นบกก็มีการโจมตีทางอากาศอย่างหนักนำร่องเพื่อช่วยไม่ให้ฝ่ายป้องกันตั้งตัวได้ทัน อีกทั้งยังมีกำลังเสริมตามมาอีกมากมาย

          ผู้ร่วมเหตุการณ์ D-Day ครั้งนั้นมีความกล้าหาญเป็นอันมากเพราะชายหาดเต็มไปด้วยกับระเบิด ขวากหนาม แท่งซีเมนต์กีดขวาง คลื่นลมแรง ยากต่อการขึ้นบกของเรือครึ่งบก ครึ่งน้ำ ชัยชนะของฝ่ายพันธมิตรในการขึ้นบกครั้งนั้นทำให้สามารถรุกคืบยึดดินแดนฝรั่งเศสกลับคืนมาและบุกเข้าไปในดินแดนเยอรมันจนเผด็จศึกสำเร็จได้ ทั้งหมดใช้เวลาหลังจาก D-Day ประมาณ 11 เดือน

          ขอคารวะความกล้าหาญของผู้สู้รบในเหตุการณ์ครั้งนั้นซึ่งทำให้เกิดสันติภาพและมีผลกระทบต่อสงครามในเอเชียในเวลาอีกประมาณ 4 เดือนต่อมาคือในวันที่ 2 กันยายน 1945 เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม และสันติสุขก็กลับคืนมาสู่โลกและดินแดนไทยอีกครั้ง