วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
24 มิถุนายน 2557
ฟุตบอลโลก 2014 เริ่มแล้วที่บราซิลท่ามกลางความตื่นเต้นเร้าใจของกีฬาฟุตบอลที่คนกว่าครึ่งโลกจะเฝ้าดู มีหลายเรื่องของมหกรรมกีฬาครั้งนี้ที่อื้อฉาวจนน่านำมาบอกเล่ากัน
บราซิลจัดฟุตบอลโลกครั้งนี้เป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ 84 ปี ของการจัดฟุตบอลโลกหลังจากครั้งแรกในปี 1950 ณ สนามกีฬา Maracanã เดียวกันนี้ ในครั้งนั้นบราซิลแพ้อุรุกวัยในรอบชิงชนะเลิศไปอย่างน่าเสียดาย
เรื่องแรกก็คือ การประท้วงของคนบราซิลจำนวนหนึ่งผู้ไม่พอใจที่มีการจัดครั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าควรนำเงิน 450,000 ล้านบาทที่รัฐบาลบราซิลต้องจ่ายไปใช้ในทางอื่นที่เป็นประโยชน์กว่าสำหรับคนบราซิลยากจนจำนวนมากในประเทศที่มีประชากรประมาณ 200 ล้านคน และมีพื้นที่ 8 ล้านตารางกิโลเมตร (16 เท่าของประเทศไทย)
นอกจากนี้ยังมีพนักงานของสหภาพขนส่ง เช่น พนักงานรถใต้ดินที่นัดหยุดงานในเมืองใหญ่สุด คือ São Paulo เพื่อขึ้นค่าแรงและต้องการให้ลามไปเมืองอื่น ซึ่งทำให้เป็นอุปสรรคต่อการจัดฟุตบอลโลกครั้งนี้ในหลายเมือง
การเตรียมงานฟุตบอลโลกแต่ละครั้งใช้เวลาและเงินจำนวนมาก FIFA ซึ่งเป็นองค์การกำกับดูแลการจัดการแข่งขันฟุตบอลของโลก ได้ลงมติตัดสินให้รัสเซียเป็นเจ้าภาพในปี 2018 และ การ์ต้าในปี 2022 ไปแล้ว แต่ความวุ่นวายกำลังจะเกิดขึ้นจากแรงกดดันภายนอกให้ทบทวนการตัดสินใจที่การ์ต้าใหม่
เรื่องที่สองคือ เมฆดำปกคลุมการทำงานของ FIFA ในด้านการกำกับดูแลให้เกิดความโปร่งใสสุจริตในการตัดสินการแข่งขัน สื่อต่างประเทศเช่น หนังสือพิมพ์ The New York Time ลงรายงานลับของ FIFA ที่ระบุว่ามีการ “ซื้อ” ผู้ตัดสินเพื่อให้ผลการแข่งขันเป็นไปตามที่เจ้าพ่อวงการพนัน ใต้ดินที่อยู่ที่สิงคโปร์และมาเลเซียต้องการในหลายแมทช์ของการแข่งขัน
รายงานระบุว่ามีหลักฐานชัดเจนในแมทช์มิตรภาพระหว่างกัวเตมาลากับอาฟริกาใต้ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่แล้วที่อาฟริกาใต้ ผู้ตัดสินถูก “ซื้อ” ไปด้วยราคา 100,000 เหรียญสหรัฐ จนอาฟริกาใต้ชนะ 5-0 แบบขาดลอย การรู้ผลล่วงหน้าของประตูที่ชนะแตกต่างกัน ขนาดนี้ทำให้บรรดาเจ้าพ่อผู้จ้างได้เงินไปมากมาย
Europol ซึ่งเป็นองค์การข่าวกรองตำรวจของ EU ระบุว่าระหว่าง ค.ศ. 2008-2011มี 680 แมทช์ที่น่าสงสัยว่าจะมีการ “กำหนดผลล่วงหน้า” โดยเจ้าพ่อวงการพนันในการแข่งขันของลีกชั้นนำหลายแห่งของยุโรป ตลอดจนในการแข่งขันคัดเลือกทีมเข้าไปแข่งขันฟุตบอลโลก
ยิ่งไปกว่านั้นมีการพบว่าในปี 2011 มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมชาติ Bulgaria, Estonia, Latvia และ Turkey โดยเจ้าพ่อดังกล่าวเพื่อต้มตุ๋นนักพนันทั่วโลก การแข่งขันครั้งนั้นไม่มีคนดู ไม่มีการถ่ายทอดโทรทัศน์ แต่มีแต้มต่อพนันในแวดวงพนันระดับโลกโดยเจ้ามือรู้หมดว่าใครจะชนะเท่าใด
เชื่อกันว่าในการแข่งขันใดที่มีคนสนใจมาก มียอดการพนันสูง (คาดว่าฟุตบอลโลก ครั้งนี้เฉลี่ยมีการพนันทั่วโลกประมาณ 1,000 ล้านเหรียญต่อคู่) เจ้าพ่อก็จะเข้าไปแทรกแซงโดยหาก ไม่ “ซื้อ” ผู้ตัดสินก็ “ซื้อ” ผู้เล่นบางคนเพื่อให้ผลการแข่งขันเป็นไปตามที่ต้องการ การแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ก็เช่นกันมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดพฤติกรรมเช่นนี้ขึ้นในหลายคู่การแข่งขัน
สื่อรายงานว่าในปี 2010 มีการจ้างทีมชาติอัลซาวาดอร์ทั้งทีม ‘ล้มฟุตบอล’ ในแมทช์ที่แข่งขันกับทีมชาติสหรัฐอเมริกาและกับทีม D.C.United ที่สหรัฐอเมริกา ในที่สุดนักกีฬาก็ถูกไล่ออกและห้ามลงแข่งขันตลอดชีพ
อย่างไรก็ดีมิใยที่จะมีรายงานว่ามีการทุจริตผิดปกติเกิดขึ้นในการแข่งขันจำนวนหลายแมทช์ มีชื่อผู้กระทำผิดชัดเจน แต่ FIFA ภายใต้การนำของนาย Sepp Blatter ก็ไม่เคยลงโทษใครเลย
ยิ่งไปกว่านั้นหนังสือพิมพ์ Sunday Times ของอังกฤษรายงานก่อนการเริ่มแข่งขัน 12 มิถุนายน 2557 ไม่กี่วันว่าการตัดสินให้การ์ต้าเป็นเจ้าภาพในปี 2022 มีการทุจริตเกิดขึ้น มีหลักฐานว่ามีการใช้เงินกว่า 5 ล้านเหรียญติดสินบนกรรมการบริหารของ FIFA เพื่อให้เลือกการ์ต้าเหนือคู่แข่งคือเกาหลี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ทั้ง ๆ ที่การ์ต้ามีอากาศร้อนจนต้องเลื่อนวันแข่งขันจากปกติในเดือนมิถุนายนเป็นธันวาคมเพื่อหลีกหนีความร้อน มีข่าวว่า FIFA อาจต้องทบทวนยกเลิกการให้การ์ต้าเป็นเจ้าภาพหลังจากมีข่าวไม่เป็นมงคลออกมามากมาย
เรื่องที่สามคือความเป็นเต่าล้านปีของ FIFA ในการตัดสิน ใครที่ดูฟุตบอลจะรู้สึกรำคาญที่ไม่เคยรู้ว่าเมื่อใดจะหมดเวลา พอใกล้หมดเวลาก็จะเห็นคนชูป้ายไฟฟ้าว่าต่ออีกกี่นาที ทั้งหมดนี้ต่างจากบาสเก็ตบอล รักบี้ และอเมริกันฟุตบอล ที่คนดูรู้แน่นอนว่าเหลือเวลาอีกเท่าใด ในกีฬานี้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้ตัดสินเพียงคนเดียว
ทำไมถึงไม่แสดงเวลาให้คนทั่วสนามเห็นกันชัด ๆ ถ้ามีคนเจ็บก็กดให้นาฬิกาหยุดเดิน พอเริ่มแข่งก็ให้นาฬิกาเดินใหม่ หากเป็นเช่นนี้ก็ไม่ต้องมาปวดหัวเพิ่มเวลาบาดเจ็บจนน่ารำคาญเพราะไม่รู้ว่ามีเวลาเหลือจริงเท่าใด นอกจากนี้ก็แทบไม่มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เลย เทนนิสเขาก็เลิกทะเลาะกันเรื่องลูกออกหรือไม่ออกไปแล้วเพราะมีเทปโทรทัศน์ให้ดูยามสงสัย รักบี้ก็มีคนดูเทปโทรทัศน์จากกล้องในแง่มุมต่าง ๆ อยู่ข้างบนยามเมื่อผู้ตัดสินไม่แน่ใจ และก็ให้คำแนะนำลงมาให้ผู้ตัดสิน
ในกีฬาฟุตบอลผู้ตัดสินต้องตัดสินใจว่าลูกเข้าประตูหรือไม่ มีลูกโทษเกิดขึ้นหรือไม่ มีการล้ำหน้าหรือไม่ ฯลฯ ภายในเวลา 2-3 วินาที และถือว่าการตัดสินเป็นเด็ดขาด พฤติกรรม เต่าล้านปีเช่นนี้จึงเหมาะสมที่จะ “ซื้อ” กรรมการเป็นที่สุด ล่าสุดมีข่าวว่าจะใช้เทคโนโลยีที่ตัดสินว่าลูกเข้าประตูหรือไม่ และใช้สเปรย์สีขาวพ่นบนสนามหญ้าเพื่อให้อีกทีมถอยไปไม่ต่ำกว่า 10 หลาเมื่อมีฟรีคิก สีนี้จะละลายหายในเวลาไม่กี่นาที แต่ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ตัดสินในแต่ละแมทช์ว่าจะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้หรือไม่
หากใครสงสัยการตัดสินประหลาด ๆ ของกรรมการ หรือผู้เล่นในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้เราก็พอจะเข้าใจได้ แต่ถ้ายังมีใครที่เล่นพนันฟุตบอลโลกด้วยเงินมาก ๆ ภายใต้บริบทที่กล่าวมา เราก็คงจะเข้าใจได้ยากเหมือนกัน
ความโลภกับความเขลามักเดินทางไปด้วยกันเสมอ