ออสเตรเลียลุยปลูกฝิ่น

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
26 สิงหาคม 2557

          โลกมีอะไรหลายอย่างที่น่าแปลกใจยิ่งขึ้นทุกวัน ทัวร์ “อุ้มบุญ” ไปอินเดียและรัสเซียกำลังได้รับความนิยมโดย ‘การอุ้มบุญ’ ทำให้เด็กที่เกิดมาไม่มีพันธุกรรมที่เกี่ยวพันแต่อย่างใดกับแม่ผู้ให้กำเนิด การเสพและปลูกกัญชาในรัฐโคโลราโดและรัฐวอชิงตันในสหรัฐอเมริกาไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป และล่าสุดออสเตรเลียกำลังลุยปลูกฝิ่นเพื่อสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

          รัฐทัสมาเนีย (Tasmania) เป็นเกาะเล็ก ๆ อยู่ทางตอนใต้ของทวีปออสเตรเลีย มีจำนวนประชากรคงตัวอยู่ที่ครึ่งล้านโดยมักไม่ย้ายไปไหนและมีคนอพยพไปอยู่น้อย และด้วยองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยและการตัดขาดจากโลกภายนอก การปลูกฝิ่นในทัสมาเนียที่ทำกันมากว่า 50 ปีแล้วจึงอยู่รอดมาได้เป็นอย่างดี

          ปัจจุบันทัสมาเนียผลิตประมาณครึ่งหนึ่งของฝิ่นทั้งโลกที่ถูกกฎหมาย เป็นหนึ่งใน 4 ประเทศในโลกที่ปลูกฝิ่นได้ถูกกฎหมายโดยได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมของสหประชาชาติ อีก 3 ประเทศที่ได้รับอนุญาตคือ สเปน ฝรั่งเศส และอินเดีย

          ฝิ่นเป็นยางแห้งที่ขูดออกมาจากผิวกะเปาะฝิ่นสด ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากดอกฝิ่นร่วงหมดแล้วจนเหลือแต่กะเปาะ วิธีการดั้งเดิมก็คือใช้มีดกรีดกะเปาะฝิ่นสดให้เป็นแผลสัก 3-4 บั้ง และทิ้งให้ยางฝิ่นสีขาวที่ไหลออกมาแข็งตัวข้ามคืน จากนั้นก็ขูดเอายางฝิ่นแห้งออกมาเป็นฝิ่นดิบ หนึ่งกะเปาะสามารถใช้ประโยชน์ได้ 3-4 ครั้งโดยเว้นการกรีดครั้งละ 2-3 วัน

          ยางแห้งของต้นฝิ่น (Papaver somniferum) มีสารพัดโทษและประโยชน์ เพราะมันมีสาร 3 ตัวสำคัญที่ออกฤทธิ์ในทางทำให้รู้สึกสุขเคลิบเคลิ้มอย่างปราศจากความเจ็บปวด ซึ่งได้แก่ morphine / codeine และ thebaine สำหรับ morphine นั้นถ้านำไปผ่านกระบวนการเคมีก็จะได้ heroin ซึ่งมีฤทธิ์ร้ายแรงในด้านเสพติด

          แต่เดิมเข้าใจกันว่าฝิ่นปลูกได้แต่เฉพาะบนที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากและไม่อยู่ในบริเวณที่หนาวเกินไป อย่างไรก็ดีการปลูกและเสพฝิ่นนั้นมีมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์นับเป็นพัน ๆ ปีก่อนคริสตกาลในทั่วทุกบริเวณทั้งหนาวและร้อนตั้งแต่ยุโรป ตะวันออกกลาง จนถึงเอเชีย

          การปลูกฝิ่นในออสเตรเลียเริ่มในปี ค.ศ. 1950 ในทัสมาเนีย เมื่อบริษัทผลิตยาระดับยักษ์ของโลกต้องการแหล่งสัพพลายวัตถุดิบที่เชื่อถือได้เพื่อนำไปผลิตยาแก้ปวด ซึ่งนับวันก็เป็นที่ต้องการของชาวโลกมากยิ่งขึ้นทุกที

          สาเหตุที่เลือกทัสมาเนียก็เพราะเชื่อว่าสามารถวิจัยค้นคว้าเพื่อผลิตฝิ่นพันธุ์ที่สามารถปลูกได้ในระดับที่ไม่จำเป็นต้องสูงกว่าระดับน้ำทะเลมาก ทนหนาวได้ดีและไม่ชื้นเฉะ ซึ่งต้นฝิ่นไม่ชอบเอามาก ๆ นอกจากมีสภาวอากาศที่เชื่อว่าเหมาะสมแล้ว ยังสามารถหลบหลีกจากสายตาชาวโลกซึ่งรังเกียจฝิ่นโดยไม่ตระหนักว่าสามารถนำมาเป็นยาแก้ปวดได้เป็นอย่างดี ประการสำคัญก็คือมีน้อยคนที่รู้ว่าทัสมาเนียนั้นอยู่ที่ใดในโลกอีกด้วย

          การเป็นเกาะเล็กมีผู้คนอาศัยอยู่น้อย ในบางเมืองในชนบทครอบครัวส่วนใหญ่รู้จักกันข้าม 3-4 ชั่วคน ทำให้การควบคุมการปลูกตลอดจนการตรวจสอบการนำไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          งานวิจัยพันธุ์อย่างยาวนานตลอดจนการพัฒนากรรมวิธีการผลิตที่ไม่ต้องอาศัยแรงงานอย่างมากในการกรีดกะเปาะและขูดยางฝิ่นหากแต่ใช้เครื่องจักรแยกกะเปาะออกจากเมล็ดข้างในแทน ทำให้โครงการประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ละปีในปัจจุบันฝิ่นสามารถทำเงินให้เกษตรกรได้มากถึงเอเคอร์ (2 ไร่ครึ่ง) ละ 4,000 เหรียญสหรัฐ (128,000 บาท) รวมเป็นเงินแก่เษตรกรถึง 80 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,500 ล้านบาท) ต่อปี จนเป็นแหล่งรายได้สำคัญของภาคเกษตรนอกเหนือไปจากการผลิตนมและเลี้ยงวัว

          ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งก็คือ morphine และ heroin เท่านั้นที่เป็นผลผลิตที่มีค่ายิ่งของฝิ่น แต่แท้จริงแล้ว thebaine และสารเคมีอื่น ๆ ในฝิ่นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดีในการขจัดความเจ็บปวด ในปัจจุบันมียาประเภทนี้ที่มีฐานมาจาก thebaine มากขึ้นทุกที

          การมุ่งสกัด thebaine จากฝิ่นทำให้นักวิจัยต้องพัฒนาฝิ่นพันธุ์ที่มีสาร thebaine มากเป็นพิเศษ ซึ่งทำให้สามารถหลีกหนีผลกระทบจากการที่รัฐบาลอเมริกันมีนโยบายซื้อวัตถุดิบฝิ่นจากพันธุ์ปกติรวมร้อยละ 80 จากอินเดีย และตุรกีต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปี

          การปลูกฝิ่นในทัสมาเนียรุ่งเรืองและเกษตรกรรวยเงียบ ๆ มายาวนานจนกระทั่งเกิดปรากฏการณ์ผิดธรรมชาติขึ้นในพักหลังจนทำให้แหล่งผลิตนี้มีความน่าเชื่อถือน้อยลง กล่าวคือฝนเป็นศัตรูสำคัญของฝิ่น ดินที่แฉะจากฝนตกหรือน้ำขังทำให้รากเน่าได้ง่ายดาย บริษัทยาเห็นความเสี่ยงเช่นนี้จึงเริ่มหันไปปลูกในบริเวณอื่นเพิ่มเติม และทดลองในพื้นที่ตอนเหนือของทวีปคือ Northern Territory ด้วย

          บริเวณที่ขยายออกไปปลูกก็คือพื้นที่ของรัฐวิคตอเรีย ซึ่งอยู่บนแผ่นดินใหญ่ของทวีปออสเตรเลียโดยอยู่เหนือทัสมาเนีย การสนับสนุนของรัฐบาลรัฐวิคตอเรียอย่างหนักในการปลูกฝิ่น ทำให้ทัสมาเนียสูญเสียประโยชน์ไปมากแต่ก็ไม่อาจทำอะไรได้มากนัก

          อุทาหรณ์ในเรื่องนี้ก็คือวิธีการคิด หากไม่คิดว่าสามารถปลูกฝิ่นได้ในอากาศแบบ ทัสมาเนีย การปลูกฝิ่นในออสเตรเลียก็คงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน การคิดว่ามีความเป็นไปได้และใช้การแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือประกอบทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

          ถ้านักวิจัยไทยไม่คิดว่าสามารถปลูกองุ่นแถบปากช่องและสระบุรีได้ อุตสาหกรรม ไวน์ไทยก็คงไม่เกิดขึ้น ถ้าโครงการหลวงคิดว่าการปลูกผลไม้เมืองหนาว การเลี้ยงปลาเทราท์ ตลอดจนการเพาะเห็ดและปลูกผักสารพัดประเภทจากต่างประเทศเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทุกอย่างก็คงจบ เราคงไม่มีอาชีพใหม่เกิดขึ้นมากมายดังเช่นที่เป็นอยู่ใน

          ปัจจุบันอย่างแน่นอน และถ้าคนชิลีไม่คิดว่าการเลี้ยงปลาแซมมอนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เมื่อ 30 ปีก่อน ป่านนี้ชิลีคงไม่เป็นแหล่งผลิตปลาแซมมอนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในทุกวันนี้

          การคิดนอกแนวไปจากที่เคยเป็นอยู่และลงมือปฏิบัติจริงเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดขึ้นของนวตกรรมเสมอ