ความคิดเชิงสร้างสรรค์และความสะดวก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
2 กันยายน 2557

          รอบตัวเราเต็มไปด้วยสิ่งประดิษฐ์สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งเกิดจากความคิด เชิงสร้างสรรค์ ลองดูว่ามีอะไรบ้างและมีที่มาที่ไปอย่างไร และความคิดเชิงสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้อย่างไร

          สิ่งแรกที่เราใช้กันทุกวันแต่อาจมิได้สังเกตนั่นก็คือส้วมแบบชักโครก นับเป็นพัน ๆ ปีมาแล้วที่เรามีส้วมหลุม ทั้งชนิดที่เอาสิ่งปฏิกูลทิ้งโดยตักออกจากถังรวม และชนิดที่ทิ้งไปเลยโดยถ่ายลงไปในหลุม

          การตักอุจจาระและกากไปทิ้งเป็นเรื่องวุ่นวาย และยุ่งยากมากอีกทั้งผิดหลักสุขอนามัยอีกด้วยหากไม่ทำอย่างถูกขั้นตอน กลิ่นจากถังและหลุมถ่ายเป็นปัญหาใหญ่จนไม่อาจมีห้องส้วมอยู่ในบ้านได้ ต้องแยกออกไปไว้นอกบ้านต่างหาก มนุษย์ทำเช่นนี้กันมาเป็นเวลานานมากจนกระทั่งมีคนที่มีความคิดเชิงสร้างสรรค์ช่วยทำให้เกิดความสะดวกสบายอย่างไม่เคยมีมาก่อน

          ส้วมแบบชักโครก (flush toilet) ซึ่งใช้น้ำไหลแรงชำระอุจจาระผ่านลงถังเก็บเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกจากแนวคิดของ Sir John Harington (ค.ศ. 1561-1612) ในอังกฤษโดยเขียนบรรยายและแสดงผังการใช้น้ำไหลเพื่อชำระประกอบ เขาสร้างและติดตั้งเครื่องหนึ่งให้ Queen Elizabeth I ซึ่งเป็นแม่ทูลหัว

          ถึง Queen Elizabeth I จะทรงไม่ใช้เพราะมีเสียงดังเอิกเกริกและมีกลิ่นขึ้นมาแต่ก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยระบบสุขอนามัยมาก ถึงแม้ในอังกฤษจะไม่ได้รับความนิยมนักแต่ก็มีการใช้กันในฝรั่งเศส

          เมื่อเกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นในประมาณช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ตามมาส่งผลให้ Alexander Cummings ประดิษฐ์ส้วมชักโครกชนิดที่เป็นต้นแบบจนถึงปัจจุบันโดยสามารถกำจัดเรื่องกลิ่นที่ขึ้นมาจากถังเก็บได้สำเร็จ ความคิดสร้างสรรค์ของเขาก็คือการประดิษฐ์ท่อทิ้งอุจจาระจากโถส้วมให้มีลักษณะเป็นคอห่าน (เป็นรูปตัวเอส) โดยมีน้ำสะอาดขังนิ่งอยู่ใน ท่อคอห่าน และน้ำส่วนนี้แหละที่ทำหน้าที่เป็นฉนวนกั้นกลิ่นขึ้นมาจากถึงเก็บข้างล่างเป็นอย่างดี

          ความคิดสร้างสรรค์ง่าย ๆ เช่นนี้ทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์สูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อเพราะห้องส้วมสามารถอยู่ในบ้านและติดกับห้องนอนได้ ทุกเช้าที่เข้าห้องน้ำเพื่อทำธุรกิจส่วนตัว กรุณานึกถึงนักประดิษฐ์ที่เปลี่ยนโลกแห่งสุขอนามัยและความสะดวกสบายคนนี้บ้าง

          ตัวอย่างที่สองคือแม่กุญแจชนิดคล้องบานพับเพื่อป้องกันมิให้สามารถเปิดประตู ลิ้นชัก กล่อง หรือตู้ได้ เราอาจเห็นมันทุกวันจนมิได้คิดว่ามันเป็นสิ่งอัศจรรย์อย่างหนึ่งของมนุษย์ซึ่งมีมาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว ถ้าปราศจากความคิดสร้างสรรค์เรื่องแม่กุญแจแล้ว มนุษย์จะมีปัญหาเรื่องความมั่นคงอย่างมากทีเดียว

          แม่กุญแจ (padlock) เริ่มมีใช้ตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสต์กาล หรือใกล้พุทธกาล ในจีนก็มีหลักฐานของการใช้ในปลายสมัยราชวงศ์ฮั่น (ค.ศ. 25-220) ทั้งหมดทำจากโลหะโดยมีกุญแจเป็นตัวบังคับการล็อคหรือปลดล็อค คำถามก็คือมนุษย์คิดได้อย่างไรในการประดิษฐ์สิ่งซึ่งมีความซับซ้อนในกลไกการล็อค ยิ่งไปกว่านั้นแม่กุญแจแต่ละตัวมีลูกกุญแจไขล็อคเฉพาะของตัวเองอีกด้วย

          เมื่อคำนึงถึงแม่กุญแจที่แข็งแรงและมีกลไกซ่อนเงื่อนซึ่งยากต่อการปลดล็อคที่เอาไปใช้ คู่กับตู้เซฟซึ่งมีกลไกปิดเปิดด้วยการหมุนลูกบิดตู้เซฟไปมาหลายรอบแล้ว ยิ่งน่าชื่นชมมนุษย์ผู้คิดค้นซึ่งมีความคิดสร้างสรรค์อย่างยิ่ง

          ตัวอย่างที่สามคือหม้อหุ้งข้าวไฟฟ้า (rice cooker หรือ rice steamer ในสหรัฐอเมริกาภาษาพูดทั่วไปเรียกว่า rice maker) ซึ่งเป็นความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริงของคนญี่ปุ่น

          ใน ค.ศ. 1937 กองทัพญี่ปุ่นมีการหุงข้าวในหม้อไม้สี่เหลี่ยมโดยเอาไฟฟ้าจาก 2 ขั้วแหย่ลงไปในน้ำที่มีข้าวจนน้ำเดือดและข้าวสุก วิธีการหุงข้าวแบบนี้ได้รับการพัฒนาต่อมาเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านโดย Mitsubishi Electric ใน ค.ศ. 1945

          เจ้าแรกผู้ผลิตนี้ใช้หม้ออลูมิเนียมใส่ข้าวและมีลวดขดไฟฟ้าให้ความร้อนอยู่ด้านล่าง แต่ยังไม่มีระบบตัดไฟโดยอัตโนมัติเมื่อข้าวสุก คนหุงยังต้องจับตาเฝ้ามองจนข้าวสุกจึงจะปิดสวิตช์ไฟฟ้า

          หม้อหุงข้าวไฟฟ้าที่เป็นต้นแบบของปัจจุบันประดิษฐ์โดยนาย Yoshitada Minami ผู้ทำงานให้กับ Toshiba Electric Corporation ในเดือนธันวาคมของปี 1956 Toshiba ก็วางตลาด หม้อหุงข้าวไฟฟ้าที่ปิดไฟโดยอัตโนมัติเมื่อข้าวสุกดังเช่นที่เราใช้กันในปัจจุบัน ในโลกของผู้บริโภคข้าวซึ่งมีจำนวนประชากรเกินกว่าครึ่งโลก (กว่า 3,500 ล้านคน) ในแต่ละวันหม้อหุงข้าวนับพันล้านหม้อรับใช้อย่างซื่อสัตย์

          หม้อหุงข้าวลักษณะนี้เข้ามาในบ้านเราประมาณ พ.ศ. 2500 ต้น ๆ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา น้ำข้าวซึ่งเป็นยอดอาหารก็หายไปจากชีวิตของคนไทยเช่นเดียวกับไม้ขัดหม้อ หรือ ‘ไม้ดัดนิสัยเด็ก’

          คำถามที่น่าสนใจก็คือความคิดสร้างสรรค์ที่บันดาลให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ 3 อย่างข้างต้นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? ในความเห็นของผู้เขียนนั้น มันเกิดขึ้นได้จาก 4 ปัจจัยด้วยกันกล่าวคือ (1) การมองเห็นประโยชน์อันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์นั้น ๆ เช่น เมื่อมีความต้องการใช้ส้วมที่สะดวก กุญแจที่ช่วยป้องกันทรัพย์สิน และหม้อหุงข้าวที่ให้ความสะดวกและประหยัดเวลา (2) ความอยากรู้อยากเห็นจนทำให้เกิดจินตนาการหรือความคิดต่อยอด เช่น น้ำนิ่งขังในคอห่านเป็นตัวฉนวนกันกลิ่นได้หรือไม่ จะสร้างกลไกที่ซับซ้อนของกุญแจอย่างไร และหุงข้าวอย่างไรให้สะดวกที่สุด (3) การคิดอย่างผิดไปจากวิธีคิดแบบดั้งเดิม เช่น ส้วมชักโครกเกิดขึ้นเพราะการคิดใช้น้ำสะอาดเป็นตัวพัดชำระอุจจาระ หม้อหุ้งข้าวไฟฟ้าเกิดเพราะใช้วิธีหุงโดยใช้ไฟฟ้า และ (4) การมีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ตนเองสนใจจนสามารถทำให้ความคิดสร้างสรรค์นั้นเกิดเป็นจริงขึ้นมาได้ ถ้าเพียงแต่คิดและไม่มีความสามารถทางช่างเลย 3 ตัวอย่างข้างต้นก็เกิดขึ้นไม่ได้

          ถ้าโลกขาดความคิดสร้างสรรค์ของคนกลุ่มหนึ่งในประวัติศาสตร์ คุณภาพชีวิตของพวกเราในปัจจุบันคงไม่สูงดังที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ และถ้าเป็นความคิดที่มิได้นำไปปฏิบัติจริงแล้ว ทั้งหมดก็คงเป็นเพียงความเพ้อฝันบวกความเพ้อเจ้อเท่านั้น