ต้องไม่หยุดแค่ “อ่านออกเขียนได้”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
16 กันยายน 2557

          การอ่านออกเขียนได้ (literacy) ซึ่งเราเคยเข้าใจกันว่าหมายถึงการอ่านหนังสือออกและเขียนหนังสือได้นั้นกำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยกินความหมายกว้างขวางขึ้นเพื่อการอยู่รอดและอยู่ดีในสังคม

          การอ่านออกเขียนได้บางครั้งก็มีคนเรียกว่า “การรู้เรื่อง” เพราะการอ่านและการเขียนนั้นโดยแท้จริงแล้ว การอ่านก็คือการถอดโค้ดที่คนได้สร้างไว้เพื่อสื่อข้อความออกมาเป็นข้อความที่เขาตั้งใจสื่อ ส่วนการเขียนคือการสร้างโค้ดเพื่อให้ออกมาเป็นข้อความที่เราต้องการสื่อ ทั้งหมดนี้เป็นไปตามกติกาที่ได้ตั้งกันไว้หรือไวยากรณ์ของภาษานั้น ๆ

          ลักษณะตัวอักษรแบบอียิปต์ซึ่งเป็นรูปนก รูปคน รูปสัตว์ การกระทำ ฯลฯ เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด ต่อมามนุษย์ใช้อักษรแทนความหมายเช่นอักษรภาษาจีน และต่อมาใช้การผสมอักษรเป็นคำดังเช่นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ฯลฯ

          แต่เดิมคนถอดและใส่โค้ดของแต่ละภาษาได้ก็คือคนอ่านหนังสือออกและเขียนหนังสือได้ ต่อมาการอ่านออกเขียนได้ก็กินความไปถึงการสะกดคำ การฟังและการพูดได้ด้วย

          การอ่านนั้นก็มีหลายระดับตั้งแต่ออกเสียงได้ จับใจความได้ วิเคราะห์ใจความได้ สรุปได้ และรวมไปถึงการอ่านระหว่างบรรทัด อย่างไรก็ดีการอ่านออกมิได้หมายความว่าจะเขียนได้เสมอไป เนื่องจากทักษะทั้งสองอย่างแตกต่างกันถึงแม้ว่าจะโยงใยกันอย่างใกล้ชิดก็ตาม

          การที่คนสวีเดนมีคุณภาพชีวิตสูง ผู้คนมีการศึกษา บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากว่านับตั้งแต่ ค.ศ. 1686 ที่ผู้คนแถบนั้นนับถือคริสตศาสนานิกาย Lutheran ซึ่งบังคับให้ทุกคนในครัวเรือนต้องอ่านหนังสือออก พระจะเดินทางไปตรวจตามบ้านอยู่เสมอ หากใครอ่านไม่ออกก็ไม่ทำพิธีทางศาสนาให้ เช่น แต่งงาน ทำพิธีศพ ฯลฯ และถูกประจานต่อหน้าคนในชุมชนโดยต้องออกมานั่งในที่พิเศษในโบสถ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้คนในแถบสวีเดน ฟินแลนด์ เอสโตเนีย แลทเวียร์ ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นดินแดนของสวีเดนจึงมีอัตราคนอ่านหนังสือออกสูงมากและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

          อย่างไรก็ดีแม้ในปลายศตวรรษที่ 19 หญิงสวีเดนจำนวนมากอ่านได้แต่เขียนไม่ได้เลย แม้แต่คนอังกฤษเองใน ค.ศ. 1841 มีอยู่ถึง 1 ใน 3 ของประชาชนที่เขียนหนังสือไม่ได้ และร้อยละ 44 ของผู้หญิงเขียนชื่อตนเองไม่ได้ในใบทะเบียนสมรสจนต้องใช้เครื่องหมายประจำตัวแทน (ภาษาไทยเรียกว่าแกงได)

          การอ่านออกเขียนได้ในโลกตะวันตกในความหมายดั้งเดิมเพิ่มสูงขึ้นมากหลังสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อการศึกษาไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะในชนชั้นสูงเท่านั้น หากกระจายไปยังประชาชนทุกกลุ่ม พูดเป็นภาษาวิชาการว่าจาก Exclusive Education กลายเป็น Inclusive Education

          ในบ้านเรายุคสมัยหลังปีแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 1 คือ พ.ศ. 2504 การอ่านออกเขียนได้ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คนไทยมีการศึกษาภาคบังคับ 6 ปี และเพิ่มเป็น 9 ปี (จบมัธยมศึกษาปีที่สาม) ใน พ.ศ. 2545 โดยการศึกษาขั้นพื้นฐานคือ 12 ปี (จบมัธยมศึกษา ตอนปลาย)

          แนวคิดปัจจุบันในระดับโลกกำลังมีทิศทางไปที่ Functional Literacy หรือการอ่านออกเขียนได้ชนิดที่ใช้งานได้ กล่าวคืออ่านหนังสือพิมพ์ได้ เขียนได้โดยสะกดคำถูก ตีความข้อมูลเพื่อเอามาวิเคราะห์ได้ สามารถคิดเป็น แก้ไขปัญหาได้ สามารถสื่อสาร สามารถคิดเลขได้ มีคุณธรรมประจำใจ จนสามารถนำมาใช้ตัดสินใจในการดำเนินชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นพลเมือง สมาชิกในครัวเรือน คนทำงานในองค์กรธุรกิจและราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          บางประเทศ Functional Literacy ครอบคลุมไปไกลถึงความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ใช้คอมพิวเตอร์ ใช้สมาร์ทโฟน ใช้เครื่องมือในการค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต อีกด้วย

          อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะป็นการอ่านออกเขียนได้ในความหมายดั้งเดิม หรือในความหมายที่ใช้งานได้ เราต้องยอมรับว่าทักษะและความสามารถเหล่านี้ไม่คงที่ มันแปรผันเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาหากมิได้ฝึกฝนอยู่เสมอ เช่น ครั้งหนึ่งอาจเคยอ่านหนังสือออก เขียนหนังสือได้ แต่เมื่อห่างไปไม่ได้อ่านและเขียนสักระยะก็จะลืมและกลายเป็นคนอ่านหนังสือไม่ออกไปได้

          ประเด็นนี้ชวนให้นึกไปถึงวิธีการที่จะทำให้ประชาชนไทยมีทักษะและความสามารถอยู่ในระดับใช้งานได้อย่างยั่งยืน เพราะประวัติศาสตร์ในหลายประเทศได้ชี้ให้เห็นว่าประเทศที่ประชาชนมีการศึกษาและรักการเรียนรู้ผ่านการอ่านออกเขียนได้เป็นสังคมที่มีความกินอยู่ดี

          งานนี้ไม่ควรเป็นของกระทรวงศึกษาธิการแต่เพียงผู้เดียว หากเป็นความรับผิดชอบของประชาชนไทยทุกคนโดยเฉพาะพ่อแม่ และทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าธุรกิจหรือองค์กรไม่แสวงหากำไร งานนี้ต้องกระทำต่อเนื่องผ่านการจัดการให้มีหนังสือและสิ่งพิมพ์ราคาถูกและเข้าถึงประชาชน ทุกหมู่เหล่าซึ่งมีความกระหายใคร่เรียนรู้ตลอดจนการสร้างระบบสนับสนุนต่าง ๆ ความสำเร็จในเรื่องนี้จะทำให้สังคมเรามีพ่อบ้านแม่เรือน พลเมือง พ่อค้านักธุรกิจ พนักงานรัฐฯ ที่มีประสิทธิภาพของสังคม
          การพยายามรักษา Functional Literacy ของสมาชิกในสังคมให้อยู่ยั่งยืนเป็นงานสำคัญที่ไม่ควรถูกละเลยเพราะเป็นปัจจัยประกอบที่สำคัญยิ่งของความกินดีอยู่ดีของสังคมเรา