ระวัง “กับดักทางจิตวิทยา”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
9 กันยายน 2557

          มนุษย์ไม่ว่าจะร่ำเรียนมามากน้อยเพียงใด อยู่ในวัยใด หรืออยู่ในฐานะสังคมใดก็ มีโอกาสที่จะถูกลวงหรือมีความคิดอย่างบิดเบี้ยวได้โดยไม่ต่างกันนัก ลองมาดูหลายลักษณะของการลวงเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อกัน

          “บ้านหลังสุดท้าย” “จะหมดเขตลดราคาใน 7 วัน” “นาฬิการุ่น Limited Edition” “แสตมป์ชำรุดมีดวงเดียวในโลก” ข้อความเหล่านี้เราได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ทั้งหมดล้วนกระตุ้นความรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งหายาก และสิ่งหายากมักเป็นสิ่งวิเศษเสมอ

          “rara sunt cara” หรือ “rare is valuable” (ยิ่งหายากยิ่งมีมูลค่ามาก) ชาวโรมันบอกชาวโลกมากว่า 2,000 ปีแล้ว อะไรก็ตามที่มนุษย์รู้สึกว่ากำลังจะหมดไปหรือเป็นสิ่งหายาก มูลค่าในใจที่มนุษย์ให้มันจะพุ่งปรี๊ดทีเดียว

          ตอนเราเด็ก ๆ คงจำการแย่งของที่เพื่อนชอบ หรือชิ้นที่ดูจะพิเศษกว่าชิ้นอื่น ๆ กันได้ ที่แย่งก็เพราะว่าใจเราคิดว่ามันวิเศษกว่าชิ้นอื่น ๆ และมีจำนวนจำกัด

          อะไรก็ตามที่ถูกห้าม หรือถูกกีดกัน จะยิ่งรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งน่าจะทำหรือน่าลอง เหตุหนึ่งที่เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะชอบสูบบุหรี่หรือกินเหล้าให้เราเห็นกันเป็นประจำก็มาจากการมองเห็นเช่นนี้แหละ

          ปรากฏการณ์นี้ที่เรียกว่า “scarcity error” หรือผิดพลาดเพราะเข้าใจว่ามันขาดแคลนนี้ทำให้มนุษย์ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีพฤติกรรมที่ผิดไปจากปกติ ทั้งนี้เนื่องจากเกิดความคิดที่ผิดปกติขึ้น

          เมื่อมีคนสังเกตเห็น scarcity error ในวิจารณญาณของมนุษย์ จึงมีคนหัวแหลมนำมาใช้ในการควบคุมพฤติกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการตลาด เช่นผู้บริโภคมักรีบตัดสินใจซื้อ เพราะถูกทำให้เห็นว่ามันกำลังจะหมดไป

          แค่นี้ยังไม่พอ มนุษย์ยังถูกลวงใจโดยตนเองอีกด้วยโดยผ่านปรากฏการณ์ที่นักจิตวิทยาเรียกว่า ‘perception is selective’ กล่าวคือการรับรู้รับทราบของเรานั้นเกิดจากการเลือกของเราเอง ตัวอย่างเช่นมนุษย์ทั่วไปเชื่ออย่างที่ตนเองอยากเชื่อ ไม่ได้เชื่อเพราะหลักฐานข้อเท็จจริง ปรากฏการณ์นี้แหละจึงทำให้เราถูกหลอกกันมานักต่อนักแล้ว

          อะไรที่เรารักเราชอบมันดีไปหมด ไม่มีอะไรที่บกพร่องเลย ดังเช่นการพิจารณาตนเอง คนที่ขาดปัญญาจะเห็นว่าตัวเองนั้นสมบูรณ์ที่สุด ไม่มีข้อบกพร่อง ลูกหลานตนเองนั้นเล่าก็น่ารักน่าชังเสียเหลือเกิน ดีอย่างไม่มีอะไรทัดเทียม ไม่เชื่อไปถามแม่ของนักโทษประหารดูก็ได้ ถึงแม้จะถูกประหารไปแล้วก็เชื่อว่าลูกไม่ได้แย่เกินไป ยังมีความน่ารักอยู่ หรืออาจไปไกลถึงว่าลูกถูก กลั่นแกล้ง

          คำฝรั่งที่ว่า “ความรักทำให้ตาบอด” หรือ “smoke gets in your eyes” สะท้อนปรากฏการณ์นี้ หากรักชอบใครแล้วตามันมืดมัวมองเห็นแต่สิ่งดี หลวงพ่อที่ใคร ๆ ว่าเลวไม่ดี หากโดดเข้ารักนับถือแล้วตาจะบอดมืดมิดมองไม่เห็นอย่างที่คนอื่นเห็นเพราะไม่ใช้เหตุผลแต่ใช้อารมณ์ หลักฐานอะไรที่ชี้ว่าหลวงพ่อไม่ดีก็โยนทิ้งหมด รับแต่หลักฐานที่ยืนยันว่าหลวงพ่อดี

          อุทาหรณ์ในเรื่องนี้ก็คือหากจะรัก จะนับถือใครแล้ว ไม่ควรโดดเข้าไปโดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน ควรพิจารณาดูหลักฐานทั้งสองด้านก่อนที่จะเอนเอียงตัดสินไปทางด้านใด มิฉะนั้นจะรับแต่หลักฐานด้านเดียวที่สนับสนุนความเชื่อหรือความรู้สึกที่มีอยู่

          มนุษย์นั้นถูกหลอกได้ไม่ยาก และคนที่สามารถหลอกได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ก็คือตัวเองนั่นแหละ เพราะปรากฏการณ์ ‘perception is selective’ ไม่เข้าใครออกใคร เฉพาะคนมีปัญญาเท่านั้นที่สามารถหลุดรอดจากกับดักเช่นนี้ได้

          ถ้าท่านเห็นว่ามนุษย์มีอุปสรรคในการคิดจนทำให้ตัดสินใจผิดพลาดอยู่ไม่น้อยแล้ว ลองพิจารณาสิ่งต่อไปนี้ดูว่ามนุษย์นั้นเผชิญกับภยันตรายอีกมากเพียงใด

          ทุกวันเราได้ยินคำพยากรณ์มากมายในแทบทุกด้านโดยหมอดู นักวิชาการ นักการเมือง ข้าราชการ ฯลฯ ทั้งในด้านดีและด้านร้าย คนทั่วไปก็จำเป็นต้องรับเอา คำพยากรณ์เหล่านี้ไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการประกอบธุรกิจ ลงทุน หรือดำเนินชีวิต

          เหตุที่เรามีคำพยากรณ์มากมายก็เพราะคนพยากรณ์ให้คำทำนายโดยไม่เสียอะไร มีแต่จะได้ เคล็ดลับในเรื่องนี้ก็คือให้คำพยากรณ์บ่อย ๆ ห่าง ๆ สักหน่อย โดยคำพยากรณ์ขัดแย้งกันก็ยิ่งดี หากทำนายผิดผู้คนก็ไม่ถือโทษโกรธแค้น และมักจำไม่ได้ว่าพยากรณ์ไว้ว่าอย่างไร แต่ถ้าหากเกิดถูกขึ้นมาคนพยากรณ์ก็มีแต่ได้เพราะจะกลายเป็นผู้วิเศษทันที บ่อยครั้งเราเห็นนักพยากรณ์คุยโม้โอ้อวดสิ่งที่ตนทำนายถูก โดยไม่เคยเอ่ยถึงคำพยากรณ์ที่ผิดมาเกือบทุกครั้งเลย

          มีฝรั่งอยู่คนหนึ่งชื่อ Philip Tetlock ได้ประเมิน 28,361 คำพยากรณ์ในช่วงเวลา 10 ปีของผู้ตั้งตนเองเป็นกูรู 284 คน และพบว่ากูรูเหล่านี้ทำนายได้แม่นยำกว่าการเดาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง

          ข้อเท็จจริงเช่นนี้จะทำให้คนที่ชอบโอนอ่อนผ่อนตามคำพยากรณ์โดยเอามันมาประกอบการตัดสินใจครั้งสำคัญต้องเผชิญกับอันตรายที่น่ากลัวด้วยความเข้าใจผิดว่าคำพยากรณ์นั้นแม่นยำอย่างปราศจากข้อสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมาจาก ‘หลวงพ่อ’ ที่นับถือยิ่ง

          อย่าเย่อหยิ่งและมั่นใจว่าไม่มีอะไรที่สามารถลวงตาหรือลวงใจท่านได้ เพราะตราบที่เป็นมนุษย์ก็ยากที่จะหลุดพ้นจากกับดักทางจิตวิทยาไปได้ จะถูกลวงมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นผู้มีปัญญามากหรือน้อยเท่านั้นเอง