มารยาทโทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
30 กันยายน 2557

          วันเวลาผ่านไปก็มีสิ่งใหม่ ๆ รอบตัวในชีวิตเกิดขึ้น ของเดิมมีกฎกติกามารยาทของสังคมอย่างลงตัวพอควร แต่ของใหม่นั้นยังคว้างเคว้งอยู่จนก่อให้เกิดความรำคาญใจแก่ผู้คนได้มาก วันนี้ลองมาเปรียบเทียบกันว่าสิ่งที่ท่านผู้อ่านรำคาญตรงกับผู้เขียนไหม

          เรื่องที่หนึ่ง คือ โทรศัพท์มือถือ สิ่งนี้ทำลายความสงบแห่งจิตใจของมนุษย์อย่างแท้จริง เมื่อก่อนนี้เมื่อพ้นที่บ้านหรือที่ทำงาน ไม่มีใครสามารถติดต่อได้ รู้สึกอิสระ จะเดินดูหนังสือ เดินช็อปปิ้ง เดินดูชีวิตของผู้คนตามถนนหนทาง เดินเล่นในสวนสาธารณะ หรือเดินเล่นในป่าเขา มีความสุขเพราะไม่มีเสียงโทรศัพท์เข้ามาตามให้รับรู้เรื่องราวหรือต้องเลิกกิจกรรมที่กระทำอยู่

          อย่างไรก็ดีโทรศัพท์มือถือให้ความสะดวกอย่างมาก ทำให้ชีวิตในอีกแง่มุมหนึ่งมีคุณภาพสูงขึ้น ความเจ็บป่วยกะทันหันได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที ช่วยให้ต้นทุนของสิ่งต่าง ๆ ลดลง (ยกเว้นค่าโทรศัพท์) แต่สิ่งที่ได้มาก็ต้องแลกกับสิ่งที่เป็นลบหลายอย่าง เข้าทำนอง ‘ได้ (หลาย) อย่าง เสีย (หลาย) อย่าง’ หรือ ‘โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี’

          สิ่งน่ารำคาญที่เกิดขึ้นก็คือผู้ใช้โทรศัพท์มือถือขาดมารยาทการใช้อย่างร้ายแรง เริ่มตั้งแต่ (ก) พูดเสียงดังอย่างไม่เกรงใจผู้คน ไม่ว่าบนท้องถนน ในรถเมล์ รถไฟฟ้าใต้ดิน บนดิน ร้านอาหาร ในลิฟต์ ฯลฯ บางครั้งพูดจาหยาบคายเป็นของแถมให้คนข้าง ๆ ได้ยิน อีกด้วย (ข) รับโทรศัพท์และสนทนากับผู้โทรเข้ามาขณะที่กำลังคุยอยู่กับคนอื่น หรือขณะกำลังพูดคุยพบปะทางธุรกิจ หรือขณะกำลังประชุมอยู่ (ผมเคยเห็นขณะที่กำลังประชุมอยู่ประธานในที่ประชุมหยุดการนำประชุมเพื่อรับโทรศัพท์มือถือที่โทรเข้ามาด้วย) ยิ่งร้ายไปกว่านั้นคือกระทำหลายครั้งหลายหน และกับโทรศัพท์มากกว่าหนึ่งเครื่องอย่างไม่เกรงใจใครก็เคยเห็น

          ผู้เขียนเห็นว่าการกระทำในข้อ (ข) น่ารำคาญและเสียมารยาทอย่างมากเพราะเสมือนกับไม่ให้เกียรติผู้กำลังสนทนาอยู่ด้วย ยิ่งเป็นกรณีที่ขอเข้าพบเขาด้วยแล้วยิ่งแย่ไปใหญ่ (ไม่เข้าใจว่าถ้าไม่พูดโทรศัพท์สักขณะหนึ่งจะชักดิ้นชักงอตายหรืออย่างไร) สำหรับข้อ (ก) ยังพอให้อภัยได้เพราะอาจ หูตึง หรือเผลอพูดดังตามนิสัยที่เคยพูดโทรศัพท์ที่บ้านมาตลอดชีวิต

          (ค) ขณะที่พูดจากันอยู่เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นหลายครั้งมากกว่าที่เจ้าของเครื่องจะรับรู้ว่าต้องรับสาย และบ่อยครั้งเป็นเสียงเรียกที่ดังมากด้วย เคยเห็นเจ้าของเครื่องค่อย ๆ คลำหาโทรศัพท์เพื่อรับช้า ๆ อย่างไม่เกรงใจและไม่แคร์ใครทั้งสิ้นโดยเฉพาะในที่ประชุม (ถ้าจะถึงกับล่มจมหมดตัวหากไม่รับสายที่เข้ามาในทันทีก็ควรเปิดเครื่องชนิดให้มันสั่น และออกไปโทรศัพท์ข้างนอก)

          นิสัยไม่ปิดเครื่องขณะที่นั่งฟังการอภิปราย ขณะเข้าประชุม ขณะพูดคุยกับผู้อื่นอยู่ ฯลฯ โยงใยกับการเป็นคนไม่เกรงใจคนอื่นโดยยึดประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง คนเหล่านี้ถ้าจงใจเปิดเสียงทั้ง ๆ ที่รู้ว่าจะกระทบคนอื่นในด้านลบถือได้ว่าเป็นคนน่ารังเกียจ

          เรื่องที่สอง คือ สมาร์ทโฟน สิ่งนี้กำลังเปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเราอย่างน่าตกใจ สำหรับหลายคนมันเหมือนกับยาฝิ่นที่ต้องเสพอยู่ตลอดเวลา วันละหลายชั่วโมง มันทำให้มนุษย์มีความเป็น ‘สัตว์สังคม’ (‘Man is a social animal’ ตามที่ Aristotle นักปราชญ์ยุคกรีกผู้มีชีวิตหลังพระพุทธเจ้าเกือบ 200 ปี เป็นผู้กล่าวไว้) ซึ่งทำให้มนุษย์อยู่รอดกันมาได้ทุกวันนี้น้อยลง ความเป็น ‘สัตว์สังคม’ ทำให้เกิดการพูดจาประสาสะจนเกิดความเป็นมิตรและเกิดการพึ่งพาอาศัยกัน ไม่ต่างคนต่างอยู่จนตายไปด้วยกันทั้งคู่

          เราเห็นภาพพ่อแม่ลูกนั่งรับประทานอาหารด้วยกันที่โต๊ะในร้านอาหาร แต่ละคนนั่งก้มหน้าดูสมาร์ทโฟนโดยไม่ได้คุยกัน หรือแม้แต่หญิงชายที่ไปเป็นคู่ก็เถอะ หลายคู่มากที่ต่างไปนั่งดูสมาร์ทโฟนพร้อมกับบริโภคอาหารไปด้วย (ที่จริงจะประหยัดเวลาและเงินได้มากหากแต่ละคนก็อยู่ที่บ้านของตนเองและนั่งดูสมาร์ทโฟนไปพร้อมกับรับประทานอาหารของตนเองไปด้วย)

          ผู้เขียนเคยพบร้านอาหารเล็ก ๆ ในประเทศจอร์เจีย (ประเทศในยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นรัฐเก่าของสหภาพโซเวียต และเป็นบ้านเกิดของสตาลิน) เขาเขียนไว้บนกระดานดำที่อยู่หน้าร้านว่า “No wi-fi here. Talk to each other” ซึ่งผู้เขียนได้ถ่ายรูปมาเพราะถูกใจมาก

          เรื่องของความน่ารำคาญเพราะการขาดมารยาทมีดังนี้ (ก) นั่งก้มหน้าอ่านและ กดสมาร์ทโฟน โดยสันนิษฐานว่าอ่านข้อความจากโซเชียลมีเดีย และส่งข้อความในขณะที่กำลังฟังอาจารย์บรรยาย ขณะกำลังนั่งประชุมอยู่ ขณะกำลังพบปะพูดคุยกับคนอื่นอยู่ ฯลฯ หรือแม้แต่ขณะกำลังขับรถซึ่งอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นเป็นอันมาก

          การใช้สมาร์ทโฟนขณะนั่งเรียนหนังสือทำให้ประสิทธิภาพของการเรียนรู้ลดลงอย่างมาก เพราะใจมิได้อยู่กับบทเรียนหากออกไปลอยล่องอยู่นอกห้อง ส่วนการใช้ตลอดเวลาในขณะที่ประชุม หรือเมื่อคนอื่นกำลังพูดเป็นการเสียมารยาทอย่างยิ่งเพราะไม่ให้เกียรติที่ประชุมและประธานในที่ประชุม ไม่มีใครในโลกนี้ที่สามารถร่วมประชุม

          พิจารณาเรื่องต่าง ๆ อย่างจริงจังรอบคอบได้พร้อมกับการใช้สมาร์ทโฟนเพื่อการรับรู้เรื่องราวนอกห้อง ถ้าใจไม่อยู่ในห้องแล้วสมองจะทำงานเพื่องานที่อยู่ข้างหน้าในห้องประชุมได้อย่างไร

          การเปิดสมาร์ทโฟนดูบ้างเป็นครั้งคราวเพื่อเช็คธุระสำคัญแล้ววางให้ห่างมือเป็นสิ่งที่พอยอมกันได้ แต่การก้มลงดูเสมอหรือตลอดเวลาในขณะที่คนอื่น ๆ พูดในที่ประชุมถือว่าเป็นการเสียมารยาทและไม่มีส่วนร่วมในการประชุมอย่างเหมาะสม

          การก้มลงดูสมาร์ทโฟนในขณะนั่งเรียนในห้อง หรือในขณะประชุมก็คือการไม่ให้ความสนใจแก่คนที่กำลังพูดและการประชุมที่กำลังเกิดขึ้น มันก็คล้ายกับพูดคุยแบบกระซิบกับคนอื่นต่อหน้าคนที่เรากำลังพูดอยู่ด้วยนั่นเอง

          ในการประชุมบอร์ดของบริษัทใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้เข้าประชุมจะต้องไม่พูดโทรศัพท์มือถือหรือก้มดูสมาร์ทโฟนทั้งสิ้นเนื่องจากถือว่าหยาบคายและผิดมารยาทสังคม ในหลายแห่งเขาไม่ให้นำสมาร์ทโฟนเข้าไปด้วยเพราะอาจมีการแอบอัดเสียงการหารือ และอาจรั่วไปถึงบริษัทคู่แข่งหรือสาธารณชน จนทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้

          เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้สังคมของเราปรับตัวและสร้างกฎกติกามารยาทขึ้นมาไม่ทันจนทำให้เกิดความน่ารำคาญ ซึ่งโดยแท้จริงแล้วผู้สร้างความรำคาญเป็นผู้เสียหายโดยไม่รู้ตัวเนื่องจากในใจของคนที่ประสบเขาจะประเมินค่าคนเสียมารยาทเหล่านี้ต่ำเหมือนกับเวลาที่เราเห็นคนทำสิ่งที่ไม่ถูกมารยาท

          ในช่วงระหว่างที่ผู้คนยังไม่เข้าใจเรื่องมารยาทของการใช้โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน ถ้าท่านผู้อ่านรำคาญมาก ๆ ก็ขอเสนอให้ซื้อโทรศัพท์มือถือที่เป็นยาง (ถ้าถอดออกได้เป็นชิ้น ๆ จะดีมาก) มาสัก 2-3 เครื่องเพื่อเอาไว้ปาข้างฝา หรือปาลงบนพื้นหลังจากที่ได้พบเห็นสิ่งไม่สบอารมณ์เอามาก ๆ เพื่อความสะใจครับ