Digital Economy

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
7 ตุลาคม 2557

          คำว่า Digital Economy เป็นที่กล่าวถึงกันมากในสังคมไทยปัจจุบัน บางท่านอาจสงสัยว่ามันคืออะไรกันแน่ ลองมาดูความหมายและตัวอย่างกัน

          Digital Economy หมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ (information Technology หรือไอที) เป็นปัจจัยประกอบ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในบ้านเราคือการซื้อขายสินค้ากันทางอินเตอร์เน็ต สติ๊กเกอร์ของ line ที่ซื้อมาเล่นกัน การจองตั๋วเครื่องบินหรือโรงแรม หรือตั๋วดูคอนเสิร์ต หรือภาพยนตร์ หรือละครเวที การสั่งซื้อหนังสือทางอินเตอร์เน็ต การซื้อ e-book ที่ซื้อโดยการดาวน์โหลดได้ทันที ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า E-commerce ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของ Digital Economy

          บางครั้งเราอาจรู้สึกสับสนเรื่องเทคโนโลยีโทรคมนาคม เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และไอทีว่ามันเป็นสิ่งเดียวกันหรือแตกต่างกันอย่างไร คำตอบง่าย ๆ ก็คือเทคโนโลยีโทรคมนาคมและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แต่งงานกันและออกลูกมาเป็นไอที กล่าวคือไอทีเป็นการผสมปนเประหว่างสองเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่นเวลาเราถอนเงินจาก ATM นั้นเป็นการใช้ไอที คำอธิบายก็คือข้อมูลขอเบิกเงินที่เราป้อนเข้าไปจะมีคอมพิวเตอร์ประมวล และส่งเป็นข้อมูลไปทางสายโทรศัพท์ (เครือข่ายโทรคมนาคม) เพื่อวิ่งไปยังศูนย์ของธนาคาร เมื่อคอมพิวเตอร์ที่โน่นตรวจสอบแล้วว่าโค้ดถูกต้องและมีเงินฝากอยู่จริงก็จะให้คำตอบผ่านมาทางเครือข่ายโทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ที่ปลายทางก็จะสั่งให้เงินไหลออกมา

          การมีระบบไอทีเช่นนี้เป็นผลดีต่อคุณภาพชีวิตของเราในหลายด้าน ถ้าพิจารณาด้านเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวก็จะก่อให้เกิดผลดีดังต่อไปนี้ (1) ความสะดวกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการลดต่ำลง เช่น สามารถขายของได้โดยไม่ต้องมีร้านขายของ ไม่ต้องเสียเงินลงทุนซื้อสินค้ามาเก็บไว้ในสต๊อกเมื่อใช้ E-Commerce ผู้ซื้อก็ไม่ต้องเสียเวลาและค่าโสหุ้ยในการเดินทางไปซื้อ ไปจองตั๋ว

          (2) ช่วยให้เกิดการต่อยอดในการผลิตสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น บริการฝากถอนเงินทางอินเตอร์เน็ต การใช้โทรศัพท์ชนิดมือถือสั่งอาหารในร้านเพื่อบริการที่รวดเร็วแม่นยำและสามารถเช็ครายรับตลอดจนรู้ปริมาณสต๊อกวัตถุดิบ สร้าง application ให้ประชากรเข้าไปเช็คได้ว่าตรง GPS ที่ตนเองอยู่นั้นในปีนี้ควรปลูกพืชใดเมื่อคำนึงถึงปริมาณน้ำฝนที่จะมีประกอบกับภูมิอากาศทั่วไป ฯลฯ

          (3) สนับสนุนการเรียนรู้ของประชาชนในทุกวัยจากข้อมูล บทเรียน ที่เข้าถึงอย่างกว้างขวางขึ้นกว่าเก่า เช่น บริการด้านข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต การเรียนภาษาต่างประเทศ การพัฒนาตนเองในทุกเรื่อง ฯลฯ

          (4) สร้างการจ้างงานในลักษณะใหม่ ๆ เช่น นักการตลาดและนักวางแผนกลยุทธ์ การตลาดทาง social media (โฆษณาสินค้าทาง line / Facebook ฯลฯ)

          การเป็น Digital Economy ทำให้เกิดงานใหม่ ๆ ที่ข้ามพรมแดน เช่น ศูนย์บริการรับโทรศัพท์เพื่อให้ข้อมูลและรับใช้ผู้บริโภคที่อยู่ในประเทศแม่โดยจ้างคนอินเดียและคนฟิลิปปินส์นับแสนคนที่อยู่บ้านตนเอง

          คนเหล่านี้ให้บริการ 24 ชั่วโมงด้วยต้นทุนที่ถูก เมื่อผู้บริโภคต้องการความช่วยเหลือและบริการข้อมูลและผ่านโทรศัพท์ สัญญาณก็จะส่งไปต่างประเทศ และพนักงานต่างประเทศก็ให้บริการราวกับอยู่ในประเทศเดียวกัน

          การเป็น Digital Economy หรือการมีการผลิตที่ใช้ไอทีเป็นปัจจัยประกอบสำคัญของสังคมไทย จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตและให้บริการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ

          ผู้บัญญัติศัพท์ Digital Economy คือนาย Don Tapscott ผู้เขียนหนังสือยอดฮิตชื่อ “The Digital Economy: Promise and Peril In The Age of Networked Intelligence” ในปี 1995 Digital Economy มีชื่ออื่นอีกเช่น The Internet Economy / The New Economy หรือ Web Economy

          ในปัจจุบันบ้านเราก็มีความเป็น Digital Economy อยู่แล้วในระดับหนึ่งเพียงแต่ยังขาดนโยบายภาครัฐและการบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่จะกำกับให้เสริมไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีแผนเป็นขั้น เป็นตอน Tapscott กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนว่าอินเตอร์เน็ตจะเปลี่ยนวิถีชีวิตด้านเศรษฐกิจของผู้คนอย่างโลกไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งการจะเป็น Digital Economy นั้นมีปัจจัยสำคัญคือโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและไอที กฎกติกากฎหมาย การบริการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนความสามารถในการปรับทัศนคติของประชาชนและของภาครัฐ

          Digital TV ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งของการเป็น Digital Economy นอกจากความสะดวกสำหรับผู้ชมในการย้อนกลับไปดูละครตอนหัวค่ำที่ไม่ได้ดูเมื่อวันก่อนแล้วยังทำให้เกิดการจ้างงานในด้านนิเทศศาสตร์ขึ้นอีกมากมาย พร้อมกับกระแสการกระจายตัวของข่าวสารและความรู้สู่สาธารณชน ไม่ว่าในด้านโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือความรู้ในการประกอบอาชีพก็ตาม

          เมื่อผู้เขียนค้นประวัติของ Don Tapscott ซึ่งปัจจุบันเป็นกูรูให้คำปรึกษาด้านธุรกิจแก่บริษัทใหญ่ และเขียนหนังสือแนวธุรกิจยุคใหม่ถึง 15 เล่มแล้วก็รู้สึกตื่นเต้นเพราะเขาเกิดวันเดียว เดือนเดียว และปีเดียวกับผู้เขียน (คนอื่นที่เกิดวันเดียวกันแต่ต่างปี คือ มาริลีน มอนโร และแพ็ต บูน)

          Digital Economy ไม่มีอะไรน่ากลัวเพราะโลกก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ อีกหน่อยผู้คนก็จะไม่รู้สึกกลัวคอมพิวเตอร์อีกต่อไป คงคล้ายกับความรู้สึกที่มีต่อตู้เย็น