ประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
11 พฤศจิกายน 2557

          เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อินโดนีเซียได้ประธานาธิบดีคนใหม่ของสาธารณรัฐที่มีอายุ 69 ปี เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่มีประชากร 250 ล้านคนซึ่งเป็นอันดับ 4 ของโลก และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของอาเซียนจึงเป็นเรื่องน่าสนใจของชาวโลก

          อินโดนีเซียประกอบด้วย 18,000 เกาะ มีภาษาท้องถิ่นหลากหลายนับร้อย ๆ ภาษา ประธานาธิบดีคนแรกคือ Sukarno ประสบความสำเร็จในการสร้างความเป็นชาติโดยใช้เครื่องมือสำคัญอันหนึ่งคือการใช้ภาษาร่วมกัน ซึ่งเรียกชื่อว่า Bahasa (ภาษา) Indonesia อันมีพัฒนาการจากภาษามาเลย์ซึ่งมีคนจำนวนมากในบริเวณนั้นใช้กันอยู่ก่อนแล้ว ปัจจุบันคนอินโดนีเซียใช้กันในชีวิตประจำวันและในภาษาราชการจนกลายเป็นภาษาประจำชาติ

          เมื่อ Sukarno หมดอำนาจลงใน ค.ศ. 1967 ประธานาธิบดี Suharto ก็ครองอำนาจแทน และอยู่มายาวนานถึง 31 ปี ต่อด้วยประธานาธิบดี Habibie (1998-1999) จากนั้นก็มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกและได้ประธานาธิบดี Wahid (1999-2001) โดยมีนาง Megawati ธิดาอดีตประธานาธิบดี Sukarno เป็นรองประธานาธิบดี เมื่อ Wahid ถูกรัฐสภาถอดถอนจากการเป็นประธานาธิบดี นาง Megawati ก็เป็นประธานาธิบดีแทน

          ในการเลือกตั้งใน ค.ศ. 2004 เธอก็พ่ายแพ้นายพล Susilo Bambang Yudhoyono (เรียกกันสั้น ๆ ว่า SBY) ผู้ครองอำนาจอยู่ 2 สมัยรวม 10 ปี และเมื่อไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีได้อีกสมัยจึงมีการเลือกตั้งในปีนี้ และได้ประธานาธิบดีคนที่ 7 คือนาย Joko Widodo ซึ่งมักเรียกกันสั้น ๆ ว่า Jokowi และเพิ่งสาบานตนไปเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา

          ที่เขียนมานี้มันดูแสนง่ายในการได้เป็นประธานาธิบดีของนาย Jokowi แต่ในความเป็นจริงแล้วยากมากและก็ไม่แน่นอนด้วยว่าจะได้อยู่ครบเทอม 5 ปี เพราะตัวอย่างก็มีมาแล้วในกรณีของประธานาธิบดี Wahid

          เมื่อเดือนเมษายนก่อนหน้านี้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรค PDI-P ซึ่งเป็นพรรคที่ Jokowi สังกัดโดยมีนาง Megawati เป็นหัวหน้าพรรคได้ที่นั่งเพียง 1 ใน 5 และอีกเกือบครึ่งหนึ่งเป็นบล๊อกใหญ่อันประกอบด้วยพรรค Golkar (พรรคทหารเก่าสมัย Suharto) พรรค Gerindra (ของนายพล Prabowo Subianto อดีตลูกเขย Suharto) พรรค Demokrat (ของ SBY) และพรรค PAN (ของนาย Hatta Rajasa)

          ต่อมาเมื่อถึงเดือนกรกฎาคมก็มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง พรรค PDI-P ส่ง Jokowi ส่วนพวกบล็อกใหญ่ก็ส่งนายพล Prabowo Subianto ลงแข่ง ทั้งสองสู้กันเป็นสามารถจนในที่สุด Jokowi ก็ชนะไปร้อยละ 53.2 ต่อ 46.9 ของจำนวนผู้ลงคะแนนซึ่งเรียกได้ว่าเฉียดฉิว

          ในช่วงเวลาหลังเลือกตั้งตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงตุลาคม ถึงแม้คะแนนที่ไม่เป็นทางการของฝ่ายกลุ่มใหญ่จะแพ้แล้ว แต่ก็ดิ้นรนฟ้องศาลว่ามีการทุจริต ต่อสู้ทุกลักษณะเพื่อไม่ให้แพ้ มีการประท้วงกันวุ่นวายอยู่นาน จนในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็ตัดสินให้ Jokowi เป็นผู้ชนะ

          Jokowi เติบโตจากสลัม ต่อสู้เรียนหนังสือจนจบวิศวะและเป็นนักธุรกิจค้าขายเฟอร์นิเจอร์ เมื่อเขาได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีของเมือง Solo ซึ่งเป็นบ้านเกิด เขาก็ทุ่มเทแสดงฝีมือเต็มที่อย่างปราศจากคอรัปชั่นซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติของการเมืองประเทศนี้ เขาจึงได้รับความนิยมอย่างมากจากประชาชน

          เขาพลิกผันเมือง Solo ด้วยความจริงใจและความซื่อสัตย์ เขาสร้างให้ Solo มีตลาดของเก่า มีตลาดเครื่องไฟฟ้า มีแหล่งช้อปปิ้งสำหรับสินค้าแบรนด์เนม มีเส้นทางเดินยาว 7 กิโลเมตรคู่กับถนนใหญ่ ปรับปรุงสวนสาธารณะขนาดใหญ่สองแห่ง เข้มงวดการตัดต้นไม้ขนาดใหญ่รอบเมือง และรีแบรนด์ Solo ให้เป็นศูนย์กลางของวัฒธรรมเกาะชวา เป็นศูนย์กลางจัดการประชุมสำคัญระดับโลกหลายครั้ง อีกทั้งมีโครงการประกันสุขภาพสำหรับชาว Solo อีกด้วย ฯลฯ

          ผลงานจาก 7 ปี ของการเป็นนายกเทศมนตรีเมือง Solo ผลักดันให้เขาได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการเขต Jakarta ซึ่งมีหน้าที่ดูแลทั้งเมืองหลวงใหญ่ของประเทศและบริเวณรอบนอก Jokowi อยู่ในตำแหน่งนี้ 2 ปี และเมื่อประชาชนเรียกร้องให้เขาลงแข่งขันเป็นประธานาธิบดีเขาก็ลาออกมาสมัคร

          ตรงนี้แหละที่เป็นปัญหาเพราะนายพล Probowo Subianto ผู้เป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่าของ Suharto จองตำแหน่งประธานาธิบดีไว้แล้วถึงแม้ชื่อเสียงจะไม่ดีเท่านาย Jokowi (มีชื่อเสียง มัวหมองในเรื่องการล้ำสิทธิมนุษยชน โดยถูกกล่าวหาว่าฆ่าคนจำนวนมากตอนที่ติมอร์ตะวันออก พยายามแยกตัวเป็นเอกราชเมื่อกว่า 10 ปีก่อน) แต่ก็มีเงินทองมากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้

          เมื่อหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี กลุ่มใหญ่นี้บอกว่าจะต่อต้าน Jokowi ในทุกเรื่องจึง มุ่งมั่นประสานมือกันแน่นโดยมี Subianto เป็นหัวหน้าใหญ่ ส่วนหนึ่งว่ากันว่ามาจากความแค้นส่วนตัวที่เคยช่วยเหลือผลักดันให้ Jokowi ชนะเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการเขต Jarkata โดยแลกกับคำสัญญาว่าจะอยู่ในตำแหน่งจนครบ ไม่ลาออกมาสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี

          ปัจจุบันประธานาธิบดี Jokowi อายุ 53 ปี เป็นผู้ไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ กับกลุ่มอำนาจเก่าที่สืบทอดครอบครองอำนาจมายาวนานนับสิบ ๆ ปี โดยเรียกได้อย่างเต็มปากว่าเป็นคนของประชาชน สิ่งที่เขาจะพบก็คือการต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเก่าซึ่งนำโดยอดีตนายพล Subianto อายุ 63 ปี ผู้มีเงินทองและพรรคพวกมากมาย และครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร

          ก่อนหน้าพิธีสาบานตน กลุ่มอำนาจเก่าก็ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ในสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้การนำของ Subianto ด้วยการออกกฎหมายยกเลิกการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยตรง โดยเปลี่ยนมาให้ผู้ปกครองท้องถิ่นเป็นผู้คัดเลือกแทน ซึ่งคนเหล่านี้ล้วนเป็นคนของกลุ่ม Subianto เกือบทั้งสิ้น

          แค่ยกแรกประธานาธิบดีคนใหม่ก็เหนื่อยแล้วในการใช้อำนาจประชาชนผลักดันให้มีการทบทวนกฎหมายฉบับนี้ ศึกที่สองก็คือการเลือกรัฐมนตรี 34 คน ซึ่งได้ประกาศแล้วว่าจะเลือกนักการเมืองเพียง 16 คน อีก 18 คน จะเลือกคนดีมีฝีมือและมือสะอาดมาเป็นทีมงาน ประธานาธิบดีคนใหม่ต้องเผชิญกับอำนาจจากนักการเมืองของพรรคที่ต้องการตำแหน่งรัฐมนตรี

          ศึกที่สามก็คือการตัดสินใจลดเงินอุดหนุนพลังงานที่ภาครัฐเคยให้ประชาชนอย่างมากมายาวนานจนกินงบประมาณเกือบถึงร้อยละ 20 แล้ว ประธานาธิบดี Suharto พังไปก็เพราะการลดเงินอุดหนุนไปมากจนราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นในตอนวิกฤต ‘ต้มยำกุ้ง’

          Jokowi มีครอบครัวที่อยู่กันอย่างพอเพียง ไม่เคยมีใครเห็นภรรยาเขาใส่เสื้อผ้าหรือถือกระเป๋าแบรนด์เนมเช่นเดียวกับตัวเขา การเปลี่ยนการดำเนินชีวิตของผู้นำคนใหม่ที่ต่างไปจากเดิมอย่างหน้ามือเป็นหลังมือเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง

          คำถามที่รอคำตอบก็คือเมื่อผู้นำและรัฐมนตรีมือสะอาด ข้าราชการชั้นสูงจะถูกบังคับให้เดินตามเหมือนอย่างที่ไทยบอกว่า “ถ้าหัวไม่ส่าย หางก็ไม่กระติก” หรือภาษาอังกฤษว่า As above, so below. หรือไม่