วิ่งมาราธอนจุดประกายชีวิต

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
18 พฤศจิกายน 2557

          ถ้ามีคนบอกว่า ส.ว. หญิงอายุเกิน 65 ปีคนหนึ่งสามารถวิ่งมาราธอนต่อเนื่องกัน หลายครั้งเป็นเวลาหลายปีอย่างประสบความสำเร็จ หลายท่านคงรู้สึกแปลกใจ แต่ถ้าเจาะลงไป ชัด ๆ เลยว่าไม่ใช่อายุเพียงเกิน 65 ปีเท่านั้นหากมีอายุ 86 ปีเมื่อปีที่แล้วก็คงจะอึ้งไปเหมือนกัน นักวิ่ง ผู้นี้แหละคือผู้จุดประกายชีวิตให้ผู้สูงอายุในโลก

          Joy Johnson คือชื่อของเธอ ถึงแม้ชีวิตจะล่วงเข้าทศวรรษที่ 9 แล้วแต่เธอก็ยังมีสุขภาพแข็งแรง นาน ๆ จึงจะไปหาแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ ซึ่งครั้งใดที่ไปตรวจเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ต่างตกใจที่เธอวิ่งบนสายพานทดสอบอย่างประทับใจแพทย์ผู้ตรวจ

          เมื่อปีที่แล้วในการวิ่ง New York City Marathon ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี เธอเป็นนักวิ่งครบระยะทางที่มีอายุมากที่สุด คือ 86 ปี เธอวิ่งครบระยะทาง 26.219 ไมล์ (42.195 กิโลเมตร) ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 25 โดยวิ่งได้ในเวลา 7 ชั่วโมง 57 นาที 41 วินาที ถึงแม้จะนานหน่อยแต่เธอก็เดินและวิ่งได้ครบระยะทาง ซึ่งคนระดับลูกหลานของเธอที่ไม่สามารถวิ่งได้ครบนั้นมีมากมาย

          Johnson เป็นแนวหน้าของปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในการวิ่งมาราธอนหลายแห่ง ทั่วโลกที่คนสูงอายุมีจำนวนมากขึ้นทุกปี ในการแข่งขัน New York City Marathon ประจำปีนี้คือ 2014 มีจำนวน 34 คนที่อายุเกิน 80 ปี ปีก่อนนี้ 22 คน และสิบปีที่แล้วมีเพียง 4 คน

          การแข่งขันวิ่งมาราธอนเป็นเรื่องใหญ่โตสำหรับนักวิ่งแบบเร็ว แบบจ๊อกกิ้ง และแบบวิ่งไปเดินไปมาก ๆ การวิ่งได้ครบถือว่าประสบความสำเร็จแล้วสำหรับคนส่วนใหญ่เพราะเป็นเรื่องที่ยาก มีคนบาดเจ็บล้มตายระหว่างทางกันตลอด

          มาราธอนคือการวิ่งระยะทางไกล โดยมีระยะทางอย่างเป็นทางการ 42.195 กิโลเมตร โดยปกติวิ่งกันบนถนน การวิ่งมาราธอนคือการวิ่งเลียนแบบเรื่องเล่าเก่าแก่ของทหารยุคกรีกเมื่อ 494 ก่อนคริสตกาล ชื่อ Pheidippides ซึ่งเป็นพนักงานส่งข้อความระหว่างศึก Battle of Marathon กับ กรุงเอเธนส์ โดยต้องการจะวิ่งไปบอกว่าบัดนี้พวก Persians ได้แพ้แล้ว เมื่อมาถึงก็ตะโกนว่า “We have won” แล้วก็ล้มลงตายทันทีเนื่องจากวิ่งมาไม่หยุด การวิ่งแบบนี้จึงเรียกกันว่า Marathon ในปัจจุบัน

          มาราธอนเป็นหนึ่งในกีฬาดั้งเดิมนับตั้งแต่กีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ใน ค.ศ. 1896 ถึงแม้ว่าในตอนนั้นระยะทางจะยังไม่มีมาตรฐานแน่นอนจนถึง ค.ศ. 1921 ในการแข่งขันครั้งนั้นผู้ชนะใช้เวลาประมาณเกือบ 3 ชั่วโมง กีฬาโอลิมปิกในปี 1984 มีการวิ่งมาราธอนหญิงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ผู้ชนะคือ Joan Benoit จากสหรัฐอเมริกาด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 24 นาที 52 วินาที สถิติวิ่งมาราธอนหญิงที่เร็วที่สุดในโลกคือ 2 ชั่วโมง 23 นาที 7 วินาที ในปี 2012 โดย Tiki Gelana จากเอธิโอเปีย

          ชัยชนะในการวิ่งมาราธอนของนักวิ่งอเมริกา Frank Shorter ในโอลิมปิก 1972 จุดประกายให้เกิดความบ้าคลั่งตลอดหลายทศวรรษต่อมา ในปี 2009 มีประมาณการว่ามีผู้วิ่งมาราธอนจนครบเส้นทางไม่ต่ำกว่า 467,000 คน ในสหรัฐอเมริกา เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวน 143,000 คน ในปี 1980

          การจัดรายการวิ่งมาราธอนมีในเมืองใหญ่ของโลกทั้งนั้น เช่น New York City, Boston, Chicago, Berlin, London, Tokyo, Paris ฯลฯ (แม้แต่กรุงเทพมหานครของเราก็จัดอยู่เนือง ๆ)รวมแล้วทั่วโลกมีการจัดรายการวิ่งมาราธอนเกือบไม่เว้นแต่ละอาทิตย์

          ทำไมคนจึงนิยมวิ่งมาราธอน? การวิ่งให้ครบระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตรเป็นสิ่ง ท้าทายความสามารถของมนุษย์ทั้งหญิงและชาย การจัดงานวิ่งที่ใหญ่โตคึกคักสนุกสนานของแต่ละเมืองโดยมีคนร่วมวิ่งเป็นหมื่น ๆ คนทำให้เกิดบรรยากาศ ประการสำคัญก็คือการจะวิ่งให้ได้ครบและมีสถิติที่ดี ต้องการการฝึกฝนที่ยาวนาน มีกลยุทธ์ในการวิ่งที่ดี ซึ่งกระบวนการนี้ก็คือการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพนั่นเอง โดยมีเป้าหมายใหญ่ที่เป็นรูปธรรมคือวิ่งให้ครบระยะทาง คนที่ชนะการวิ่งมาราธอนในรายการใหญ่จะมีชื่อเสียง เป็นที่กล่าวขวัญถึงในวงสังคมต่างประเทศกันมาก

          Joy Johnson วิ่งมาราธอนของ New York City ครบ 25 ครั้งต่อเนื่องกันจนถึงปีที่แล้วจน เธอเป็นบุคคลสำคัญที่คนกล่าวถึงทั่วโลก อย่างไรก็ดีในปี 2014 นี้ไม่มีครั้งที่ 26 สำหรับเธอ…..เพราะหลังจากวิ่งปีที่แล้วเพียง 1 วัน เธอก็เสียชีวิต

          ในการวิ่งเมื่อปีที่แล้วที่หลักไมล์ที่ 16 เธอก็หกล้ม แต่ก็อดทนวิ่งจนถึงหลักชัย เธอให้สัมภาษณ์ด้วยผ้าปิดแผลที่หน้าและศีรษะโดยบอกว่ามันก็แค่ขีดข่วนเล็กน้อยเป็นเรื่องธรรมดา เธอไม่ได้ไปหาแพทย์หรือตรวจที่โรงพยาบาล เช้าวันรุ่งขึ้นเธอให้สัมภาษณ์ออกรายการโทรทัศน์พร้อมโชว์เหรียญรอบคอดังที่เคยทำมาทุกครั้ง หลังจากนั้นเธอก็บอกว่าเหนื่อยและขอนอนพักและเธอก็ จากไป การตรวจภายหลังพบว่าเธอเสียชีวิตเพราะแรงกระแทกที่ศีรษะตอนล้มจนเกิดเลือดคั่งในสมอง

          เธอเป็นครูพลศึกษาที่ไม่ได้เป็นนักวิ่งจริงจังกระทั่งอายุ 58 ปี เธอฝึกฝนวิ่งทุกเช้าวันละ 2 ชั่วโมงบนทางวิ่งและบนชายหาดใกล้โรงเรียนที่เธอสอนที่เมือง San Jose ในรัฐคาลิฟอเนีย เธอบอกลูก ๆ ว่าหากเธอวิ่งและล้มหมดสติใกล้ตายก็ปล่อยให้เป็นไปธรรมชาติ และทุกอย่างก็เป็นไปตามที่เธอต้องการ เธอบอกเสมอว่าเธอต้องการวิ่งจนตาย

          การวิ่งของ Joy Johnson ปลุกให้ผู้สูงอายุจำนวนมากในโลกมีพลังใจ ตระหนักว่าอายุเป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น ตราบใดที่มีจิตใจเข้มแข็งไม่ถูกจำกัดไว้ด้วยตัวเลขแล้วก็สามารถทำอะไรได้อีกมากมายแม้แต่วิ่งมาราธอน

          มีเรื่องเล่าหลายเรื่องว่าหญิงสูงอายุจำนวนมากที่ไม่ยอมเดินไปไหนอยู่แต่บ้านเพราะคิดว่า ตนเองแก่มากแล้วร่างกายไม่อำนวยให้เดินไปไหนมาไหนได้ เมื่อได้เห็นคนในวัยเดียวกันไม่เพียงแต่เดินหากวิ่งมาราธอนเอาด้วยซ้ำก็เกิดกำลังใจลุกขึ้นเดินต่อสู้ชีวิต

          ยังมีผู้สูงอายุอเมริกันอีก 2 คนที่วิ่งมาราธอน เพียงแต่มิได้วิ่งอย่างต่อเนื่องเหมือน Joy Johnson เท่านั้น คนแรกชื่อ Jon Mendes อายุ 94 ปี ซึ่งเป็นผู้ที่มีอายุมากที่สุดในมาราธอนของปี 2014 ของ New York City อย่างไรก็ดีทั้งสองปีเธอสามารถวิ่งเดินได้ไม่กี่ไมล์ก็ต้องออกจากการแข่งขัน

          อีกคนหนึ่งคือ Margaret Hagerty อายุ 91 ปี วิ่งมาราธอนที่ New York City ในปี 2014 เป็นครั้งแรกและเป็นครั้งสุดท้าย ในอดีตเคยวิ่งมาราธอนครบระยะทางมาแล้ว 80 ครั้ง

          อะไรที่ผู้สูงอายุทั้ง 3 คนมีร่วมกันที่ทำให้สามารถวิ่งครบระยะทางมาราธอน? คำตอบก็คือสปิริตของความมุ่งมั่นโดยไม่ใส่ใจตัวเลขอายุ…………แต่ลูกหลานบางคนอาจเรียกว่าความดื้อก็เป็นได้