Adam คืนสู่ความงดงาม

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
25 พฤศจิกายน 2557

          ในเย็นวันหนึ่งของปี 2002 รูปแกะสลักหินอ่อนทรงคุณค่ามหาศาลมีอายุประมาณ 500 ปี ล้มคว่ำลงกับพื้น แตกออกเป็นท่อน ๆ คอหัก แขนหัก อย่างยับเยิน เรื่องนี้น่าเศร้าที่สุดเรื่องหนึ่งในวงการศิลปะของโลก อย่างไรก็ดีเวลาผ่านไป 12 ปี บัดนี้รูปปั้นนั้นได้กลับมาเป็นรูปร่างสมบูรณ์อย่างงดงามอีกครั้ง

          รูปปั้นนี้มีชื่อว่า Adam เป็นรูปแกะสลักหินอ่อนสูง 6 ฟุต 3 นิ้ว ที่งดงามที่สุดชิ้นหนึ่งของโลก Adam มนุษย์คนแรกของโลกมือหนึ่งถือลูกแอปเปิ้ล ข้าง ๆ เป็นเสาสูงถึงโคนขา มีเถาองุ่นและงูพัน มือข้างหนึ่งของ Adam จับคองูตัวนี้

          ท่านผู้อ่านอย่าสับสนกับรูปปั้น David อันเลื่องลือของ Michelangelo ที่เป็นหินอ่อนแกะสลักเหมือนกัน เป็นชายยืนเปลือยเหมือนกัน แต่ David เปลือยหมดจดเห็นอวัยวะเพศและมือหนึ่งถือผืนผ้า ส่วน Adam ยังมีใบไม้ปิด

          ทั้งสองรูปปั้นสร้างขึ้นห่างกันไม่กี่ปี Adam สร้างขึ้นประมาณ ค.ศ. 1490-1495 ส่วน David ประมาณ ค.ศ. 1501-1504 รูปปั้นทั้งสองมีความละม้ายคล้ายกัน จะว่าไปแล้วผลงานอันลือชื่อของ Michelangelo ซึ่งเกิดทีหลัง อาจได้รับแรงบันดาลใจจาก Adam ด้วยซ้ำ

          Michelangelo เป็นคนร่วมสมัยกับ Leonardo da Vinci คนแรกดังในเมือง Florence ส่วน Leonardo Da Vinci ดังในเมือง Rome ส่วนคนที่สร้าง Adam นี้ก็มีฝีมือเยี่ยมมากเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีชื่อเสียงโด่งดังในปัจจุบันเท่าสองคนแรก (ในโลกปัจจุบัน Da Vinci ดูจะโด่งดังกว่าจากรูปภาพ Mona Lisa ทั้ง ๆ ที่ Michelangelo มีฝีมือทั้งแกะสลักและภาพเขียนมากชิ้นกว่า)

          คนสร้าง Adam ก็คือศิลปินชื่อ Tullio Lombardo แห่งเมือง Venice (ในยุคนั้น Venice / Rome / Florence เป็นสาม “อาณาจักร” ที่แข่งขันกัน ยังไม่ได้ถูกรวมไว้ในประเทศเดียวกัน) เขาถูกจ้างให้แกะสลักรูปปั้น Adam สำหรับประดับในอนุสรณ์สถานซึ่งเป็นที่ฝังศพ The Doge Andrea Verdramin ซึ่งอยู่ในบริเวณโบสถ์ชื่อ Santa Maria Dei Servi ของเมือง Venice

          Adam เป็นรูปแกะสลักชายเปลือยกายชิ้นแรกนับตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มา ในยุคนั้นมีการบันทึกถึงเรื่องความงดงามของรูปแกะสลักต่าง ๆ ของอนุสรณ์สถานแห่งนี้ Adam ถูกวางไว้ตรงกลางใกล้ที่เก็บศพโดยมีรูปแกะสลักของ Eve ยืนอยู่คู่กัน (เป็นผลงานของ Francesco Segala)

          ในปี 1891 โบสถ์หลังนี้ถูกรื้อทิ้งไปเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายกดดันกลุ่มศาสนาต่าง ๆ ของนโปเลียน โบนาปาร์ต ในการนี้หลุมศพดังกล่าวซึ่งเรียกกันว่า Verdramin Tomb หลุดรอดจากการถูกทำลายโดยย้ายไปไว้ในโบสถ์ที่มีชื่อว่า Santi Giovanni el Paolo ส่วนรูปแกะสลัก Adam และ Eve ถูกย้ายไปไว้ที่ Palazzo Verdramin Calergi จนถึง ค.ศ. 1865

          สิ่งที่เกิดขึ้นใน ค.ศ. นี้ก็คือเจ้าของสถานที่ประมูลขายรูปแกะสลักหินอ่อนส่วนใหญ่ไปหมด นักสะสมศิลปะคนหนึ่งซื้อ Adam ไป และหลังจากตายในปี 1932 ก็ผ่านไปอีกสองมือ จนในที่สุดMetropolitan Museum of Art ซื้อไปในที่สุดในปี 1936 และอยู่ที่นี่มาจนเกิดอุบัติเหตุล้มคว่ำลงไปในปี 2002 ดังกล่าวแล้ว (Eve ยังคงอยู่ที่ Palazzo Verdramin Calergi ตราบถึงทุกวันนี้)

          สาเหตุแห่งการคว่ำลงมาของ Adam ก็คือวางไว้ไม่ดีบนแผ่นไม้ซึ่งต้องรองรับน้ำหนักถึงประมาณ 350 กิโลกรัม พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ซึ่งมีชื่อเสียงมากถูกวิจารณ์ในเรื่องความสามารถในการดูแลรักษาศิลปะวัตถุชิ้นที่งดงามนี้ ซึ่งมีผิวหินอ่อนขัดมันราบเรียบ รอยแกะสลักหน้าและผม กล้ามเนื้อต่าง ๆ ชัดคมงดงาม

          Metropolitan Museum of Art ตั้งอยู่ในเมืองนิวยอร์ก เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา และเป็น 1 ใน 10 ที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีงานศิลปะอยู่ถึง 2 ล้านชิ้น ในแต่ละปีมีผู้เข้าชมประมาณ 6 ล้านคน พิพิธภัณฑ์ศิลปะที่มีชื่อเสียงแห่งนี้ภาคภูมิใจใน Adam มาก (แต่ทำไมดูแลแย่จัง?) ทุ่มทุนมหาศาลเพื่อเอาชิ้นส่วนต่าง ๆ มา

          ประกอบกันให้เหมือนเดิมโดยตลอดเวลา 12 ปี ของการทำงานไม่ค่อยเปิดเผยการทำงานต่อสาธารณชน (จนเคยมีข่าวลือว่า Adam แตกจนไม่สามารถประกอบใหม่ได้แล้ว) ล่าสุดประกาศเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าพร้อมแล้วที่จะเปิดให้สาธารณชนเข้าชม โดยมั่นใจว่าเฉพาะผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ เท่านั้นจึงจะบอกได้ว่ารูปแกะสลักนี้เคยแตกหักยับมาก่อน

          การเอาชิ้นส่วนมาประกอบกันแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเสียงวิจารณ์ นักศิลปะบางกลุ่มมีความเห็นว่าควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ควรไปประกอบขึ้นมาใหม่ดังเช่นกรณีของรูปแกะสลัก Aphrodite of Milos หรือที่รู้จักกันในชื่อ Venus De Milo (รูปแกะสลักหญิงงามไม่มีแขนเพราะหักไปนานแล้ว)

          เหตุที่ใช้เวลาถึง 12 ปีก็เพราะต้องการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สุดมาใช้ในงานประกอบ มีการสร้างภาพเสมือนของ Adam ก่อนที่จะแตกหักโดยใช้เทคโนโลยี 3D (ปั้น Adam ขึ้นจริงโดยใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ได้รูปปั้นเหมือนของจริงทุกประการเพื่อประกอบชิ้นส่วนที่แตกกลับมาให้เหมือนที่สุด) การใช้วัสดุใหม่เป็นหมุดตอกชิ้นส่วนเพื่อให้แข็งแรงที่สุดและมองไม่เห็น ตลอดจนใช้เทคโนโลยีขัดผิวหินอ่อนให้เป็นเนื้อเดียวกัน ฯลฯ

          พิพิธภัณฑ์นี้ไม่ยอมให้ใครเห็นภาพถ่ายของ Adam ตอนที่แตกเป็น 28 ชิ้นใหญ่กับ เศษละอองหินเล็ก ๆ เป็นอันขาด เพราะเกรงว่าภาพนี้จะติดตาจนไม่สามารถนำความรู้สึกที่ผูกพันกับรูปแกะสลักกลับมาได้เมื่อการประกอบสมบูรณ์แล้ว

          เรื่องเล่านี้คือตัวอย่างหนึ่งแห่งการหวงแหน ‘ความมีวัฒนธรรม’ ของมนุษยชาติ มิใช่เป็นเพียงการเอาเศษหินแตกมาประกอบกันเป็นรูปแกะสลักเก่าอันงดงามของศิลปินชาวเวนิสแต่อย่างใด