สิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมของปี 2014

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
16 ธันวาคม 2557

 

          ประดิษฐกรรมที่ตรงกับความต้องการของมนุษย์เปลี่ยนแปลงโลกเสมอ ในรอบปี 2014 มีหลายสิ่งประดิษฐ์ที่ “เข้าตา” ผู้ใช้อย่างน่าสนใจ

          ชิ้นแรก แน่นอนที่สุดก็คือเทคโนโลยี 3D ซึ่งพัฒนาการมายาวนานแต่ปรากฏตัวอย่างชัดเจนด้วยการพิมพ์สามมิติของสิ่งของหลากหลายมากขึ้น โดยปกติเรามีการพิมพ์สองมิติซึ่งก็คือการพิมพ์ภาพธรรมดาที่จับต้องไม่ได้ แต่เมื่อมี 3D เครื่องพิมพ์ซึ่งก็คือหุ่นยนต์ลักษณะหนึ่งก็สามารถ “สร้าง” สิ่งของที่เป็นตัวตนขึ้นมาได้ด้วยการพิมพ์หลายชั้นด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น แผ่นและเส้นพลาสติกนานาประเภท ใยกระดาษ โพลิเมอร์ ฯลฯ

          สิ่งของนี้ก็มีตั้งแต่รองเท้า ปากกา ของเล่นเด็ก แท่งช็อกโกแลต ของใช้ในบ้าน ฯลฯ โดยเครื่องพิมพ์ทำงานตามซอฟต์แวร์ ประโยชน์หลักก็คือการพิมพ์ต้นแบบของสินค้า ซึ่งจะนำไปผลิตอย่างเป็นกอบเป็นกำต่อไป

          ชิ้นที่สอง คนที่ต้องกินยาหลายขนานต่อวันปริมาณไม่เท่ากันต่อเนื่องบ้างเว้นบ้าง กำหนดที่ต้องเลิกก็ไม่ตรงกัน เป็นปัญหาปวดหัวมากโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ดูแลตนเอง จำได้บ้าง ลืมบ้าง การรักษาก็ขาดประสิทธิภาพ หรืออาจเพิ่มปัญหาต่อสุขภาพยิ่งขึ้น

          มีคนหัวแหลมเห็นปัญหานี้จึงรับเป็นผู้จัดยาให้ตามใบสั่งโดยส่งกล่องยามาให้ทุก 2 อาทิตย์ ในกล่องนี้ก็จะบรรจุเม็ดยาในถุงเล็ก ๆ ที่ต่อกันยาวม้วนอยู่ในกล่อง โดยแต่ละถุงก็มีเวลา ตลอดจนวันที่ซึ่งต้องกินยา ระบุไว้ชัดเจน ทุกวันก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก ฉีกถุงยาข้างบนออกจากม้วน ดูวันที่และเวลา และก็กินได้เลย

          สำหรับครั้งต่อไปก็ดูเวลาและวันที่ซึ่งเขียนไว้บนถุงยาอันล่าสุดที่ยังไม่ได้กิน ฉีกออกมาและก็กินได้เลย โดยไม่ต้องคิดว่าถึงเวลานี้แล้วต้องกินอะไรหรือต้องเลิกกินแล้ว

          ไอเดียดี ๆ อย่างนี้ทำไมเราไม่คิดก่อนนะ ถ้าจะทำเองโดยเรียงใส่ถุงตามวันเวลาก็จะเกิดประสิทธิภาพในการรักษาและตำรวจไม่จับด้วย

          ชิ้นที่สาม การขี่จักรยานกำลังเป็นกระแสที่แรงในโลก โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้จักรยานในการเดินทางในชีวิตประจำวันของผู้คนในเมืองต่าง ๆ เมือง Copenhagen ของสวีเดนติดอันดับ 2 ในโลกรองจาก Amsterdam ของเนเธอร์แลนด์ในเรื่องนี้ ดังนั้นการประดิษฐ์ล้อจักรยานวิเศษประหยัดแรงงานของผู้ขี่ยามขึ้นเขาจึงได้รับเกียรติเรียกว่า Copenhagen Wheel

          ล้อจักรยานมาตรฐานนี้ตรงดุมล้อตรงกลางเป็นแผ่นกลมประกบปิดสนิทโดยภายในมีมอเตอร์ซึ่งขับเคลื่อนโดยไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟได้ ยามเมื่อขี่ขึ้นทางชัน sensors ก็จะส่งสัญญาณให้มอเตอร์ล้อหลังทำงานช่วยส่งพลังเพื่อให้ผู้ขี่สามารถเดินทางขึ้นทางที่ชันได้ หากต้องการ ผู้ขี่ก็สามารถใช้ application ผ่านโทรศัพท์มือถือสั่งให้มอเตอร์ไฟฟ้าทำงานได้เช่นกัน

          นอกจากนี้ sensors ก็จะรายงานสถานการณ์จราจร สภาพถนน (ฝนตกถนนลื่น มีหลุมบ่อ กำลังซ่อมแซม) ให้ผู้ขี่ได้ทราบเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นตลอดเวลา เพื่อช่วยให้การ ขี่จักรยานสะดวกขึ้น

          มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวนไม่น้อยที่กังวลว่าเมื่อเก็บโทรศัพท์ไว้ในกระเป๋าโดยมีความจำเป็นต้องปิดเสียง หากมีโทรศัพท์หรืออีเมล์ หรือข้อความจาก Line ซึ่งมาจากบุคคลสำคัญจะทราบได้อย่างไร ข้อความเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์มหาศาลหรืออาจเป็นโทษมหันต์หากไม่ตอบรับทันทีก็เป็นได้ ความจำเป็นต้องรู้เช่นนี้ทำให้เกิดประดิษฐกรรมชิ้นที่สี่ขึ้นมา

          ผู้ประดิษฐ์จึงตอบสนองโดยแหวนหรือกำไรหรือเครื่องประดิษฐ์อื่นที่สามารถมองเห็นได้มีไฟกระพริบทันทีที่มีข้อความจากบุคคลสำคัญเหล่านั้นเข้ามา ต่อไปนี้รับรองได้ว่าไม่อาจอ้างกับ เจ้านายได้อีกต่อไปว่าไม่ได้ตอบทันทีเพราะบังเอิญเก็บโทรศัพท์ไว้ในกระเป๋า

          ในทวีปอาฟริการ้อยละ 30 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ มีความเสี่ยงที่จะตาบอดเพราะขาดวิตามิน A ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอวัยวะสำคัญนี้

          James Dale นักชีววิทยาด้านพันธุกรรมชาวออสเตรเลีย สังเกตเห็นความจริงนี้จากการเยือนอูกานดาในปี 2000 จึงเกิดไอเดียที่จะสร้าง Superbanana ขึ้นให้เด็กเหล่านี้บริโภคเพื่อป้องกัน ตาบอดจากการขาดวิตามิน A

          เด็กเหล่านี้โดยปกติก็มีกล้วยเป็นอาหารหลักในการดำรงชีพ (ไม่ได้ตั้งใจจะเบียดเบียนลิง แต่มันไม่มีอย่างอื่นที่จะกินดีกว่านี้สำหรับเด็กเหล่านี้) Dale จึงคิดว่าหากเขาทำให้กล้วยธรรมดากลายเป็น Superbanana ที่อุดมด้วยวิตามิน A เป็นพิเศษก็สามารถเอาชนะปัญหาด้

          Dale สร้างกล้วย GMO ซึ่งอุดมด้วยวิตามิน A สำเร็จ และจะเผยแพร่ในเร็ว ๆ นี้โดยวิธีแจกต้นกล้วยฟรีแก่ชาวบ้านโดยมีเงื่อนไขว่าหากให้ 10 ต้นฟรี ก็ต้องเอา 20 หน่อกล้วยไปแจกต่อยามเมื่อกล้วยที่ได้รับโตแล้ว และต้องให้ 10 ต้นฟรีต่อไปแก่คนอื่นภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน เขาเชื่อว่าในเวลาไม่นานจะมี Superbanana กระจายไปทั่วได้

          สิ่งประดิษฐ์ชิ้นสุดท้าย คือ การสร้างเครื่องเล่นสร้างสรรค์ซึ่งเชื่อมต่อการดูจอของ tablet กับการฝึกฝนมือและสมองในโลกจริง ไอเดียก็มีง่าย ๆ คือ ประดิษฐ์ tablet ที่มีกล้องจับภาพสิ่งที่เกิดขึ้นหน้าเครื่องเป็นเบื้องต้น

          เมื่อซื้อ tablet จะได้ภาพชิ้นส่วนต่อเป็นรูปต่าง ๆ มาด้วย สมมุติเมื่อภาพเปิดซึ่งประกอบด้วยชิ้นส่วนขึ้นบนจอ เด็กที่เล่นก็ต้องต่อชิ้นส่วนเป็นภาพเดียวกัน และเครื่องก็จะประเมินให้คะแนนเป็นกำลังใจแก่เด็ก

          ประดิษฐกรรมชิ้นนี้ช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้ของเด็กเล็ก และส่งเสริมจินตนาการ ตลอดจนคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี

          ประดิษฐกรรมเหล่านี้มิได้มีไอเดียอะไรที่ซับซ้อน ทุกชิ้นเกิดจากความต้องการหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นความจำเป็นของมนุษย์ ตรงกับคำพูดในภาษาอังกฤษที่ว่า Necessity is the mother of invention ผมอยากจะแถมว่าผู้เป็นพ่อก็คือนักประดิษฐ์ผู้มีจินตนาการเหล่านี้