นักการทูตหญิงและจารชน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
9 ธันวาคม 2557

         เรื่องที่ฮือฮากันมากในวอชิงตันในปัจจุบันนอกจากความตกต่ำของความนิยมที่ประชาชนมีต่อประธานาธิบดีโอบามาแล้วก็คือเรื่องการทำผิดกฎหมายความมั่นคงเชิงจารกรรมของนักการทูตหญิงสหรัฐที่มีชื่อเสียงโดดเด่นที่สุดคนหนึ่ง

         การบุกเข้าตรวจสอบบ้านของเธอผู้มีชื่อว่า Robin L. Raphel ทำให้พบเอกสารลับของทางราชการหลายชิ้นที่ไม่ควรออกมาอยู่ข้างนอก เรื่องของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อหน่วยจับจารชนของ FBI ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องนี้เพียงลำดับรองจากเรื่องการก่อการร้ายดักฟังการสนทนาของข้าราชการของปากีสถานโดยมีความว่ารัฐบาลรู้ความลับของอเมริกาหลายเรื่องจากการให้ข้อมูลของนักการทูตสหรัฐระดับสูง

         FBI หน่วยนี้จึงสืบสวนสอบสวนลงลึกหาเป้าที่เชื่อว่าเป็นคนทำก็ได้ชื่อนี้ขึ้นมาซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าเป็น “แฟนคลับของปากีสถาน” มาตลอด และหลังจากเฝ้าติดตามดูอยู่ระยะหนึ่งจนแน่ใจก็บุกบ้านของเธอในปลายเดือนตุลาคม 2014 และพบเอกสารลับของทางการหลายชิ้นซึ่งผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงเข้าข่ายจารกรรมซึ่งมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต (ในความเป็นจริงก็คือโทษจำคุกตลอดชีวิต)

         ทำไมเธอจึงอุกอาจเช่นนี้ทั้งที่มีตำแหน่งใหญ่โต เป็นถึงหนึ่งในนักการทูตหญิงสหรัฐไม่กี่คนที่ไต่เต้าขึ้นมาจนได้การยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน จะเข้าใจเธอต้องดูประวัติของเธอ

         Robin Raphel ปัจจุบันอายุ 67 ปี เป็นคนรัฐวอชิงตันเช่นเดียวกับ Bill Gates เธอจบปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์และเศรษศาสตร์จาก University of Washington ที่มีชื่อเสียง ระหว่างที่เรียนเธอได้ไปศึกษาที่ University of London และเมื่อจบแล้วไปเรียนหนึ่งปีที่มหาวิทยาลัย Cambridge ในปี 1970 เธอเป็นครูในวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอิหร่านเป็นเวลา 2 ปี และกลับมาจบปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ที่ University of Maryland ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นเลิศอีกแห่งหนึ่ง

         เธอเริ่มงานราชการด้วยการเป็นนักวิเคราะห์ของ CIA และย้ายมาทำงานให้ USAID ในเมือง Islamabad ประเทศปากีสถานในฐานะนักวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์ และต่อมาย้ายมาเป็น นักการทูต เธอทำงานหลายตำแหน่งในสถานทูตหลายแห่ง เช่น อังกฤษ อาฟริกาใต้ และอินเดีย

         ในปี 1993 ประธานาธิบดีคลินตันแต่งตั้งให้เธอเป็น Assistant Secretary of State (ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาของอัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดีย ซึ่งมีทั้งเรื่องประชาธิปไตย การขยายตัวของการใช้ระเบิดปรมาณู พลังงาน การก่อตัวของกลุ่ม Taliban สิทธิผู้หญิง ความยากจน ฯลฯ

         เธออื้อฉาวเมื่อแสดงความเห็นในสาธารณะสนับสนุนปากีสถานในเรื่องข้อพิพาทแคว้นแคชเมียร์ซึ่งเป็นเรื่องรุ่มร้อนระหว่างอินเดียและปากีสถานมาเป็นเวลานาน Raphel เป็นที่ชื่นชอบของปากีสถานประเทศที่สามีคนแรกของเธอเป็นเอกอัครราชทูต ในช่วงสมัยคลินตันเธอได้รับผิดชอบงานสำคัญและทำได้อย่างดีในการสร้างความสัมพันธ์

         ระหว่างสหรัฐกับปากีสถาน และจุดนี้เองอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความพินาศของเธอ นั่นก็คือความรักใคร่ชอบพอปากีสถานเป็นพิเศษ ถึงแม้จะเคยทำงานในสถานทูตประจำอินเดียมาก่อนก็ตาม ในสมัยที่สองของประธานาธิบดีคลินตันเธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำ Tunisia

         เธอประสบความสำเร็จในฐานะนักการทูตที่ทุ่มเทชีวิตให้แก่การทำงาน ต้องเสี่ยงชีวิตเดินทางไปเจรจาในดินแดนที่มีข้อขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา เธอมีส่วนช่วยให้ปากีสถานเป็นมิตรสำคัญของสหรัฐเพื่อ “กัน” สหภาพโซเวียตในสมัยสงครามเย็น จนกระทั่งได้เห็นการเป็นมิตรผิดใจกันในปัจจุบันของประเทศทั้งสอง สหรัฐปราบผู้ก่อการร้ายอย่างไม่เคารพอธิปไตยของปากีสถาน เช่น การบุกเข้าสังหารบินลาดินบนแผ่นดินปากีสถานโดยไม่บอกเจ้าบ้านแม้แต่น้อย หรือการใช้ drones (เครื่องบินเล็กที่ไม่มีคนขับ) เข้าพุ่งโจมตีจุดต่าง ๆ ในปากีสถานอย่างไม่เกรงอกเกรงใจอยู่เป็นประจำ

         Raphel เกษียณอายุในปี 2005 และรับจ้างทำงานล๊อบบี้ให้ปากีสถานก่อนที่จะกลับเข้ามารับงานในฐานะที่ปรึกษาของกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้งหนึ่งเมื่อเหตุการณ์ในปากีสถานรุนแรงขึ้น และการกระทำความผิดเข้าข่ายจารกรรมก็เกิดขึ้นในตอนนี้เอง

         ในขณะนี้ FBI ยังไม่ตั้งข้อหา และไม่เปิดเผยเรื่องนี้โดยตรง หากปล่อยข่าวออกมาผ่านแหล่งข่าวในเรื่องการบุกค้นบ้าน อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เพราะเธอได้จ้างทนายความที่มีชื่อเสียงในเรื่องนี้เป็นพิเศษเป็นตัวแทน

         ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องอาชญากรรมจารกรรมให้ความเห็นว่าการเอาแฟ้มความลับราชการกลับบ้านผิดกฎหมายแน่นอน แต่ที่ผ่านมาไม่มีการฟ้องดำเนินคดี ดังกรณี (ก) อัยการสูงสุด Alberto R. Gonzales เอาเอกสารเรื่องการแอบดักฟังทางโทรศัพท์ของราชการกลับบ้านในปี 2008 (ข) John M. Deutch ผู้อำนวยการ CIA ระหว่าง 1995-1996 เก็บข้อมูลลับของราชการไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัวที่บ้าน (ถูกลงโทษตัด security clearance หรือสถานะของความเชื่อถือไว้วางใจได้ในเรื่องความมั่นคง) และ (ค) Samuel Berger ผู้เป็น National Security Advisor เอาเอกสารลับออกมาจากสถานที่เก็บกลาง (ยอมรับว่าทำผิดคดีอาญาระดับเล็กน้อยและยอมจ่ายค่าปรับ 50,000 เหรียญ ในปี 2005)

         ด้วยความหละหลวมเช่นนี้ FBI จึงทำงานอย่างแข็งขัน และ “เชือด” เธอให้ดูเป็นตัวอย่าง ถึงแม้จะยังไม่มีการตั้งข้อหาแต่ชื่อเสียงเธอที่สะสมมาก็หมดลงในสายตาประชาชน เรื่องเช่นนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นการทรยศที่รับไม่ได้

         ไม่มีใครรู้ว่าเธอทำลงไปเพราะเงิน (เธอเคยรับจ้างเป็นล๊อบบี้ให้ประเทศนี้) หรือเพราะความรักชอบเป็นพิเศษ หรือเห็นใจสถานะของปากีสถานที่สหรัฐตัดสัมพันธไมตรีที่เคยมีเป็นอย่างดีเพราะระแวงว่าบางส่วนของภาครัฐให้การสนับสนุนผู้ก่อการร้ายโดยเฉพาะกลุ่ม Taliban ลับ ๆ อีกทั้งยังมี จารชนสังกัดปากีสถานจำนวนหนึ่งในสหรัฐที่พยายามล้วงความลับของทางการ

         ในขณะนี้เธอถูกตัด security clearance และเลิกสัญญาจ้างเป็นที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปอยู่ใน “วงใน” ได้อีก เรียกได้ว่าไม่อาจทำงานเกี่ยวกับการต่างประเทศของภาครัฐอีกต่อไปเพราะเธอไม่เป็นคนที่ไว้วางใจได้เสียแล้ว

         ถ้าเธอมิได้ทำจารกรรมเพื่อเงินหรือเพื่อสนองตอบอารมณ์ ชีวิตเธอก็น่าสงสารมากที่ความละเลยเพิกเฉยไม่เอาใจใส่กฎเกณฑ์ที่ห้ามเรื่องการเอาเอกสารลับกลับบ้านทำลายเธอ แต่ใครจะเชื่อเธอเล่าที่คนมีตำแหน่งขนาดนี้ มีวุฒิภาวะระดับนี้ จะทำอะไรที่เขลาขนาดนั้นได้

         ความเชื่อถือว่าเป็นคนที่ไว้วางใจได้โดยสาธารณชนเป็นคุณสมบัติที่สำคัญยิ่งของคนที่ทำงานรับใช้ชาติ