เล่าเรื่องเลือด

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
23 ธันวาคม 2557

          มีหลายเรื่องเกี่ยวกับเลือดที่เราไม่รู้ เมื่อเร็ว ๆ นี้นิตยสาร Discover ได้เล่าเรื่องเลือดที่แปลกและน่าสนใจ วันนี้ขอนำบางส่วนมาเล่าต่อ

          เรื่องแรก ในปี 1901 Karl Landsteiner ได้พบว่าเลือดมนุษย์นั้นแบ่งออกได้เป็นหลายกรุ๊ป โดยสังเกตจากการแข็งตัวของเลือดเมื่อเอาเลือดแต่ละกรุ๊ปมาผสมกัน ต่อมาเขาแบ่งออกเป็นกรุ๊ป A, B, AB และ O และแต่ละกรุ๊ปแตกย่อยเป็น Rh+ และ Rh- ดังนั้นจึงแบ่งได้เป็น 8 กรุ๊ป

          อย่างไรก็ดีในทางการแพทย์มิได้มีการแบ่งเลือดในระบบ ABO เท่านั้น ในปัจจุบันมีระบบการแบ่งเลือดทั้งหมด 33 ระบบที่สมาคมถ่ายเลือดระหว่างประเทศ (International Society of Blood Transfusion) ยอมรับ ดังชื่อเช่น Lutheran, Duffy, Hh/Bombay, Rh ฯลฯ

          ในทางวิชาการแต่ละกรุ๊ปเลือดมีลักษณะของโมเลกุลที่ผิวของเม็ดเลือดแดงแตกต่างกัน ถ้าเลือดมีกรุ๊ปที่แตกต่างกันระหว่างผู้ให้และผู้รับเลือด ลักษณะโมเลกุลที่ไม่เหมือนกันจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันจนผู้รับตายได้ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของผู้รับจะโจมตีเลือดที่แปลกปลอม เข้ามา

          เรื่องสอง การมีกรุ๊ปเลือดเดียวกันก็มิได้หมายความว่าจะถ่ายเลือดให้กันได้เสมอไปเนื่องจากยังมีข้อแตกต่างกันอยู่บ้างแต่ก็มีน้อยมากโดยเกิดขึ้นเฉพาะในบางชาติพันธุ์ การถ่ายเลือดกรุ๊ปเดียวกันโดยทั่วไปจึงมีโอกาสเป็นอันตรายน้อยมาก

          เมื่อ 2 ปีก่อนได้มีระบบที่แบ่งเลือดออกเป็น 2 กรุ๊ปคือ Junior Positive ซึ่งคนส่วนใหญ่ทั้งหมดในโลกอยู่ในกรุ๊ปนี้ กับ Junior Negative ซึ่งมีเฉพาะคนญี่ปุ่นประมาณ 50,000 คน เท่านั้น สำหรับคนเหล่านี้ต้องระวังการรับเลือดอย่างยิ่งเพราะเลือดของกลุ่มตนมีลักษณะพิเศษ ถ้ากรุ๊ปเลือดและลักษณะปลีกย่อยไม่ตรงกันอย่างแท้จริงแล้วผู้รับอาจตายได้

          เรื่องที่สาม ก่อนหน้าที่จะมีการค้นพบว่ามนุษย์มีกรุ๊ปเลือดที่ไม่เหมือนกัน แพทย์ที่ทดลองการถ่ายเลือดระหว่างมนุษย์กับสัตว์ก็ประสบปัญหาหนักหนาสาหัส เรื่องเล่าที่ตื่นเต้นก็คือในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1667 แพทย์ชื่อ Jean-Baptiste Denis ทดลองเอาเลือดวัวถ่ายมาใส่ตัวคนเพื่อรักษาโรคทางจิต

          หลังจากการทดลองครั้งแรกผ่านไป คนไข้ก็พออยู่รอดได้ แต่พอทดลองครั้งที่สองที่ถ่ายเลือดมากกว่าครั้งแรก คนไข้ก็อาเจียร ปัสสาวะเป็นสีดำ และบ่นว่าปวดไต หมอผู้มีความพยายามสูงมากคนนี้ (เพราะไม่ใช่ตัวเองที่เป็นหนูทดลอง) ทดลองอีกเป็นครั้งที่สาม คราวนี้ได้เรื่องเพราะเป็นการทดลองครั้งสุดท้ายเนื่องจากคนไข้ตายสนิท

          หมอ Denis ถูกนำขึ้นศาลข้อหาฆาตกรรม แต่ก็หลุดรอดมาได้เมื่อมีหลักฐานพบว่าคนไข้มิได้ตายเพราะเลือดวัว หากตายจากการถูกวางยาพิษโดยใช้สารหนูเป็นตัวการ คนที่ลงมือก็คือกลุ่มเพื่อนหมอที่เห็นว่าการเอาเลือดสัตว์มาใช้เช่นนี้ผิดศีลธรรมและอันตรายมาก ดังนั้นจึงต้องให้แน่ใจว่าการทดลองของหมอ Denise ล้มเหลว

          เรื่องที่สี่ มิใช่มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่มีเลือดหลายกรุ๊ป แมว ม้า วัว และสุนัขก็มีหลายกรุ๊ปเลือดเช่นเดียวกัน สุนัขมีมากกว่า 13 กรุ๊ปเลือด (เฉพาะ 4 กรุ๊ปเลือดคือ DEA, DEA4 และ DEA6 รวมกันจะพบในสุนัขประมาณร้อยละ 98)

          สำหรับแมวมี 3 กรุ๊ปเลือด แมวทั่วไปที่ไม่มีเพดดีกรี (แมวที่มีใบยืนยันการเป็น สายพันธุ์และพ่อแม่เป็นใคร) กว่าร้อยละ 87 อยู่ในกรุ๊ปเลือด A สำหรับม้ามี 8 กรุ๊ปเลือด และวัวมี 7 กรุ๊ปเลือด

          เรื่องที่ห้า สัตว์ประเภทแมลงที่กินเลือดรวมกันมีถึงประมาณ 14,000 ชนิด ที่เรารู้จักกันดีก็คือเรือดที่ชอบอยู่ในที่นอน นับแต่โบราณกาลแล้วที่เรือดเป็นศัตรูและสัตว์เลี้ยงบนเตียงของมนุษย์ สำหรับตัวอ่อนนั้นเมื่อกินเลือดคนแล้ว ตัวจะใสบวมเป่งเห็นเลือดแดงจนเป็นที่น่าขยะแขยง

          สำหรับสัตว์เลี้ยงเก่าแก่บนตัวมนุษย์ก็คือเหา และโลน ซึ่งอาศัยอยู่ในผมและขนบนร่างกายมนุษย์ มันมิใช่เพียงทำให้คันรำคาญเท่านั้น หากเป็นพาหนะนำเชื้อโรคอีกด้วย

          เลือดเป็นสิ่งที่มนุษย์มีความรู้สึกผูกพันเป็นพิเศษเพราะรู้มาตลอดว่าอยู่ในร่างกายของเรา สีแดงของทุกเผ่าพันธุ์จึงมีความหมายไปในทางเดียวกันคือชีวิต เนื่องจากรู้ว่าตายได้หากเลือดไหลออกจากร่างกายไม่หยุด

          2,500 ปีก่อนคริสตกาลถึง ค.ศ. 1000 คือช่วงเวลาของความพยายามไขความลับ ของเลือด มนุษย์ยังไม่เข้าใจการทำงานของร่างกายมนุษย์ รู้แต่เพียงว่าเลือดมีความสำคัญต่อการ มีชีวิต สิ่งที่แปลกก็คือหลายวัฒนธรรมเห็นตรงกันว่าการเอาเลือดออกจากร่างกายคือการรักษาความเจ็บไข้ที่ได้ผล

          ในช่วง ค.ศ. 1000-1699 มนุษย์เข้าใจการทำงานของร่างกายตนเองดีขึ้น เรียกได้ว่าเป็นห้วงเวลาแห่งโลกใหม่ของวิทยาศาสตร์ มนุษย์ทดลองถ่ายเลือดระหว่างสัตว์กับสัตว์ และสัตว์กับคน ตอนสิ้นสุดของช่วงเวลานี้นักวิทยาศาสตร์เรียนรู้เรื่องเลือดดีขึ้นและสามารถนับ เม็ดเลือดแดงได้

          ค.ศ. 1700-1919 คือช่วงเวลาแห่งการค้นพบและบุกเบิกที่แท้จริงของมนุษยชาติ การถ่ายเลือดจากร่างมนุษย์ประสบความสำเร็จโดยจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการพบว่าเลือดมนุษย์แบ่งได้เป็นหลายกรุ๊ปของ Karl Landsteiner (4 ปีก่อนหน้าที่ Albert Einstein ตีพิมพ์บทความ Theory of Special Relativity) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 คือ ค.ศ. 1914-1918 การถ่ายเลือดให้คนบาดเจ็บได้กลายเป็นการรักษาปกติที่ประสบผลสำเร็จ

          ในช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. 1920-1949 นักวิทยาศาสตร์และแพทย์สร้างความก้าวหน้าให้วงการแพทย์อย่างรวดเร็ว ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองฝ่ายพันธมิตรมีการสะสมเลือดสำรองเพื่อช่วยเหลือทหารที่บาดเจ็บ การปฏิวัติการเก็บรักษาเลือดและการกระจายสัพพลายของเลือดไปยังสถานที่ต่าง ๆ เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้

          ค.ศ. 1950-2002 เป็นช่วงเวลาแห่งการท้าทายครั้งใหม่ ถึงแม้การใช้ถุงพลาสติกบรรจุเลือดซึ่งเป็นการค้นพบใหม่จะช่วยลดการปนเปเชื้อจากภายนอก แต่ในเวลาต่อมาก็พบว่ามีเชื้อที่ติดมากับเลือดบริจาค เช่น ไวรัส HIV เชื้อตับอักเสบ อันเนื่องมาจากวิธีการตรวจสอบ ดังนั้นจึงเกิดแรงผลักดันให้เกิดวิธีการตรวจแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น จนในปัจจุบันการถ่ายเลือดปลอดภัยที่สุดเท่าที่เคยมีมา

          ลิ้นมนุษย์คมกว่ามีดเพราะสามารถฆ่าคนได้โดยเลือดไม่ต้องไหล