สุนัขมาจากไหน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
1 มีนาคม 2559

          สุนัขเป็นสัตว์ที่มนุษย์รู้จักและรักใคร่มานับหมื่น ๆ ปี แต่แปลกมากที่ถึงปัจจุบันนี้เราก็ยังไม่รู้อย่างแน่นอนว่ามันมีจุดเริ่มต้นอย่างไรและมาอยู่กับเราตั้งแต่เมื่อใด ล่าสุดมีงานวิจัยขนาดใหญ่ที่เก็บข้อมูลจากโครงการกระดูกสุนัขอายุนับหมื่นปีจากทั่วโลกมาวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบอันจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ในหลายเรื่อง

          ก่อนที่มนุษย์รู้จักรีดนมวัว เลี้ยงแพะ เลี้ยงหมู หรือแม้แต่ก่อนมีเกษตรกรรม มีภาษาเขียน หรือแม้แต่ก่อนที่มนุษย์จะตั้งหลักแหล่งสร้างบ้านเรือนและเลี้ยงแมว สุนัขได้มาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์แล้ว

          อย่างไรก็ดีสิ่งที่กล่าวมานี้มีหลักฐานทางโบราณคดียืนยัน แต่สิ่งที่ยังไม่มีหลักฐานอย่างชัดแจ้งก็คือเมื่อใดและสถานที่ไหนแน่ ๆ ที่สุนัขและมนุษย์เริ่มมีความสัมพันธ์กัน งานวิจัยขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัย Oxford ที่ได้รับความร่วมมือจากทั่วโลกอาจให้คำตอบได้ในเวลาอันใกล้

          ที่ผ่านมานักประวัติศาสตร์จินตนาการว่าอาจมีนักล่าสัตว์ซึ่งเป็นนักเก็บของป่าด้วยเก็บเอาลูกสุนัข (wolf) มาเลี้ยงจนมันเชื่องมากขึ้นทุกที ๆ และกลายเป็นสุนัขที่เราเห็นในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีนักวิชาการปัจจุบันเห็นว่าเรื่องที่จินตนาการขึ้นนี้มันง่ายเกินไป และขัดแย้งกับความจริงที่ว่า ลูกสุนัขป่านั้นยากหนักหนาที่จะทำให้เชื่องแม้แต่ตอนเป็นลูกหมาดังที่ได้มีการทดลองกัน ที่น่าจะเป็นคือสุนัขโดยแท้จริงแล้ว อาจทำตัวมันเองให้มาเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์

          ความคิดในเรื่องนี้กลับกับที่จินตนาการแต่ต้น นักวิชาการส่วนหนึ่งมีความเห็นว่าอาจมีสุนัขป่าในสมัยโบราณบางตัวที่เชื่องกว่าตัวอื่น ๆ โดยธรรมชาติเข้ามาค้นหาอาหารในที่อยู่ของมนุษย์จนคุ้นกับคนมากขึ้น ๆ และมีลูกหมาเล็ก ๆ มาใกล้คน จนในที่สุดเอามาเลี้ยงเป็นหมาที่เชื่องดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

          ไม่ว่าจะเป็นว่ามนุษย์เอาหมาป่ามาเลี้ยง หรือหมาป่าเสนอตัวเองให้เลี้ยงต่างขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน ดังนั้นจึงเกิดโครงการวิจัยดังกล่าวขึ้นเพื่อเก็บฐานข้อมูล DNA ของสุนัขโบราณและนำมาวิเคราะห์ว่ามีลักษณะคล้ายกันหรือต่างกันจากหมาป่าเมื่อกี่ปีมาแล้ว ซึ่งจะทำให้ทราบถึงแหล่งที่มาและความเป็นมาเพราะสามารถนำมาเทียบเคียงกับความรู้เรื่องพัฒนาการของมนุษย์ซึ่งหลักฐานโบราณคดีนั้นมีความสมบูรณ์อยู่ในระดับหนึ่ง

          ผลเบื้องต้นจากงานวิจัยชี้ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่สุนัขบ้านมิได้พัฒนามาจากสุนัขป่า หากพิจารณาสัตว์ 2 ประเภทในปัจจุบันก็จะเห็นข้อแตกต่างหลายประการ เช่น (1) สุนัขบ้านกินอาหารโดยไม่ระแวงต่อหน้ามนุษย์ซึ่งต่างจากสุนัขป่า (2) สุนัขบ้านจะมีหัวกระโหลกกว้างกว่าและส่วนปากถึงจมูกสั้นกว่า (3) สุนัขบ้านไม่อยู่เป็นฝูงเมื่อมันอยู่ด้วยกันเองซึ่งต่างจากสุนัขป่า (4) สุนัขป่ามีคู่เป็นระยะเวลายาว และตัวพ่อจะช่วยดูแลลูกของมันเป็นอย่างดีซึ่งต่างจากสุนัขบ้าน อย่างไรก็ดีมีนักวิชาการที่ไม่เชื่อว่ามีความแตกต่างระหว่างสุนัขบ้านและสุนัขป่าเพราะมีพฤติกรรมที่เหมือนกันหลายประการ ไม่ว่าอากัปกิริยา การเดินเหิร การหยอกล้อเล่นกันระหว่างลูกหมา พฤติกรรมที่รักฝูง เชื่อฟังและ จงรักภักดีหัวหน้าฝูง

          สิ่งที่ค่อนข้างมั่นใจก็คือสุนัขมาอยู่ในบ้านมนุษย์เมื่อประมาณ 15,000 ปีก่อน เนื่องจากมีการพบการฝังสุนัข และบางครั้งฝังติดกับคนเมื่อประมาณ 14,000 ปีก่อน แต่มีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งเมื่อพิจารณาหลักฐานจาก DNA และรูปร่างของกระดูกประกอบแล้วเชื่อว่าน่าจะเป็นเวลากว่า 30,000 ปี

          สำหรับแหล่งกำเนิดสุนัขนั้นเชื่อว่าอยู่ในเอเชียตะวันออก มองโกเลีย ไซบีเรีย ยุโรป และอาฟริกา (ไม่ใช่อเมริกาและออสเตรเลีย) โดยพิจารณาอายุของกระดูกสุนัขเทียบเคียงกับแหล่งพักพิงในสถานที่เหล่านี้

          สาเหตุที่นักวิจัยไม่เห็นตรงกันในทุกเรื่องก็เพราะการใช้ DNA ของสุนัขเพื่อพิสูจน์ประเด็นต่าง ๆ นั้นยุ่งยากมากเนื่องจากพันธุกรรมของสุนัขนั้นยุ่งเหยิงไปหมดอย่างผิดไปจากที่ควรเป็นไปตามธรรมชาติทั้งนี้ก็เพราะว่าในศตวรรษที่ 19 ซึ่งคนในยุโรปบ้าคลั่งการเลี้ยงสุนัข มีการผสมพันธุ์เพื่อสร้างพันธุ์ใหม่ขึ้นมามากมาย และสุนัขเป็นสัตว์ที่แปลกจากสัตว์อื่น ๆ ในแง่ที่ว่าเมื่อผสมข้ามพันธุ์ไม่กี่ชั่วอายุ ก็จะเกิดพันธุ์ใหม่ซึ่งคงลักษณะของพันธุ์ใหม่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่นสุนัขพันธุ์บ๊อกเซอร์เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง Bullenbeisser กับ Bulldogs

          ถ้าเปรียบงานวิจัยนี้กับการต้มซุบมะเขือเทศก็จะพอเห็นภาพพันธุกรรมของสุนัขว่าตีกันยุ่งไปหมดเหมือนซุปมะเขือเทศ กล่าวคือมะเขือเทศพันธุ์ใดใส่ลงไปในหม้อก็เป็นซุปมะเขือเทศไปหมด โดยยากที่จะบอกว่าอะไรเป็นส่วนประกอบของซุปนี้ ถ้าต้องการรู้ว่ามีวัตถุดิบใหญ่ ๆ อะไรมาผสมลงไปบ้างก็จะต้องเก็บฐานข้อมูลพันธุกรรมจากซากโครงกระดูกสุนัขโบราณจากทุกมุมโลกเพื่อจะนำเอาสิ่งที่อยู่ในซุปมาเปรียบเทียบก็จะทำให้รู้ลักษณะใหญ่ ๆ ของวัตถุดิบที่ใส่ลงไปในหม้อ

          โครงการวิจัยนี้ได้รับความร่วมมือย่างดียิ่งจากทุกมุมโลก (ยกเว้นจีน) จนสามารถเก็บสะสมฐานข้อมูลพันธุกรรมจาก 1,500 ตัวอย่าง ตลอดจนรูปภาพ ขนาดวัดกระโหลกและส่วนประกอบต่าง ๆ ของสุนัข สาเหตุที่ได้รับความร่วมมือก็เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดที่เก็บได้ ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการศึกษาวิเคราะห์เขียนเป็นบทความเท่าเทียมกัน

          เหตุใดการทราบว่าสุนัขมาอยู่ในบ้านมนุษย์ตั้งแต่เมื่อใดและที่ใดจึงมีความสำคัญ? การศึกษาครั้งนี้ก็คล้ายกับการศึกษาพันธุกรรมจากโครงกระดูกเก่าแก่ของมนุษย์ที่พบว่ากระจายอยู่ทั่วโลก กล่าวคือทำให้ทราบถึงจุดเริ่มของวิวัฒนาการ แบบแผนการอพยพ การอพยพการอยู่อาศัย ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ซึ่งก็คือประวัติศาสตร์ของการครองโลกของมนุษย์นั่นเอง

          การทราบคำตอบเกี่ยวกับสุนัขในลักษณะคล้ายกันอาจนำไปสู่ความเข้าใจจิตใจของมนุษย์ในการมีความสัมพันธ์กับสัตว์ที่มีคุณอนันต์ต่อการอยู่รอดของมนุษย์โดยผ่านการเห่าเตือนภัยและกัดต่อสู้เพื่อคุ้มครองก็เป็นได้

          นอกจากนี้กระบวนการพิสูจน์จนได้คำตอบแน่ชัดว่าสุนัขต่างจากสุนัขป่าจากหลักฐานพันธุกรรมซึ่งเก็บจากซากกระดูกเก่าแก่จะเป็นประโยชน์ต่อการพิสูจน์ความแตกต่างระหว่างเผ่าพันธุ์ของสัตว์บางชนิดที่มีลักษณะใกล้กัน และอาจใช้เป็นบรรทัดฐานในการแยกเผ่าพันธุ์ทางชีววิทยาสำหรับงานวิจัยในอนาคตได้

          มีประมาณการว่าในปัจจุบันมีสุนัขอยู่ทั่วโลกประมาณ 500-1,000 ล้านตัว (ประชากรโลกคือ 7 พันล้านคน) ประมาณ 1 ใน 4 เท่านั้นที่เป็นสัตว์เลี้ยง ส่วนใหญ่เป็นสุนัขจรจัดวิ่งอยู่ทั่วไปในหมู่บ้าน ขุดคุ้ยอาหารจากแหล่งขยะหรือจากที่มีคนให้บ้าง ทุกปีจะมีคนตายในเอเชียและอาฟริกาจากโรคพิษสุนัขบ้าประมาณ 44,000 คน จนอาจถือได้ว่าเป็นสัตว์ที่สร้างความเดือดร้อน

          การคิดในลักษณะนี้เกิดจากการไม่ได้คำนึงถึงว่าหากสุนัขอีก 3 ใน 4 ที่จรจัดอยู่ในขณะนี้ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีก็จะไม่เกิดปัญหาขึ้น คนที่ก่อปัญหาคือมนุษย์ที่ละเลยปล่อยให้มันมีจำนวนมากขึ้นอย่างไม่รับผิดชอบ สุนัขเพื่อนตายของมนุษย์สมควรได้รับการดูแลที่ดีกว่านี้

          สุภาษิตฝรั่งเศสบอกว่า “สิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์ก็คือสุนัขของเขา”