คู่ชีวิต Einstein ที่ไม่มีคนรู้จัก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
8 มีนาคม 2559

          โลกรู้จัก Albert Einstein ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก แต่แทบไม่รู้จักภรรยาของเขาเลย ทั้ง ๆ ที่ผลงานทฤษฎีฟิสิกส์ของเขานั้นภรรยามีส่วนร่วมด้วยอย่างสำคัญ ชีวิตคู่ของทั้งสองเริ่มต้นด้วยความหวานชื่นและจบลงด้วยความข่มขื่นอย่างไม่น่าเชื่อ

          Mlileva เป็นลูกสาวหน้าตาดีของครอบครัวชาว Serbia ที่พ่อแม่เป็นห่วงว่าจะหาชายแต่งงานด้วยไม่ได้เนื่องจากเธอมีปัญหาเกี่ยวกับข้อสะโพกทำให้ขาสองข้างยาวไม่เท่ากันจน เดินกะเผลก และเธอมีสมองเป็นเยี่ยม

          Milos พ่อของเธอมองการณ์ไกล พยายามสนับสนุนให้เธอเรียนชั้นมัธยมปลายฃึ่งมีแต่ในโรงเรียนชายโดยต้องไปขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ

          เธอเรียนเก่งมากได้คะแนนฟิสิกส์สูงสุดในโรงเรียนเท่าที่เคยมีการสอบกันมา เธอฝันจะเรียนมหาวิทยาลัยและเป็นนักฟิสิกส์ แต่ในปี 1894 ที่เธอเรียนจบนั้น อาณาจักร Austro-Hungarian (เป็นประเทศ Serbia ในปัจจุบัน) ห้ามผู้หญิงเรียนมหาวิทยาลัยแต่พ่อเธอก็เอาชนะด้วยการส่งเธอไปเรียนที่ Switzerland ที่ Zurich Polytechnic ซึ่งเปรียบเสมือน MIT ของยุโรปในสมัยนั้น

          Mileva เป็นผู้หญิงคนที่ห้าที่เข้าเรียนที่สถาบันแห่งนี้ และ ณ ที่นี้ในวัย 22 ปี เธอก็ได้พบหนุ่มเยอรมันยิวอายุ 17 ปีมีนามว่า Albert Einstein ความรักของทั้งสองมิใช่รักแรกพบ หากเป็นความรักที่เกิดจากการมีรสนิยมทางวิชาการเหมือนกันคือความบ้าคลั่งวิชาฟิสิกส์

          Mileva รู้สึกประทับใจหนุ่มคนนี้ที่ไม่รู้สึกหวาดหวั่นความเก่งของเธอที่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้จากการสอบเพียงครั้งเดียวในขณะที่เขาต้องสอบถึงสองครั้ง

          หลังจากรู้จักกันได้ 1 ปี ทั้งสองก็ตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น เขาเรียกเธอในจดหมายอย่างรักใคร่ว่า Doxerl (little doll) ส่วนเธอเรียกเขาว่า Johonzel (Johnnie) ทั้งสองคลั่งไคล้ดนตรีและคณิตศาสตร์เหมือนกัน ว่ากันว่าภาษารักของทั้งสองปนเปด้วยภาษาคณิตศาสตร์และดนตรีคลาสสิก

          เมื่อ Einstein ให้แม่ดูรูปแฟนของเขา แม่ก็ร้องไห้ฟูมฟายเพราะหมายตาเด็กหญิงที่บ้านเกิดไว้แล้ว และที่ยิ่งตกใจมากขึ้นก็เพราะเธอเป็นคน Serbia ซึ่งคนเยอรมันค่อนข้างเหยียดหยาม ยิ่งกว่านั้นเธอแก่กว่าเขา เดินกะเผลก และเหนืออื่นใดไม่ใช่ยิว

          Einstein ไม่ฟังแม่ เขามุ่งมั่นในความรักที่มีต่อเธอเช่นเดียวกับความพยายามที่จะอธิบายปรากฏการณ์ของโลกด้วยฟิสิกส์อย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เมื่อเรียนจบเขาก็ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสิทธิบัตรในเมือง Bern และหลังจากนั้นไม่นาน Mileva ก็เกิดท้องขึ้นมา สิ่งที่เธอเสียใจมากก็คือเมื่อเธอบอกเขา ๆ ตกใจและแสดงทีท่าไม่พร้อมที่จะเป็นพ่อ เธอจึงเดินทางกลับบ้านพร้อม Lieserl ลูกสาวคลอดใหม่ อย่างไรก็ดีหลังจากเขาเขียนจดหมายถึงเธอแสดงความห่วงใยลูกสาวแล้ว Lieserl ก็หายไปจากโลกนี้ ไม่มีการพูดถึงเธออีกเลย ไม่ว่าในจดหมายหรือเอกสารเกี่ยวกับชีวิตของทั้งสอง มีคนเข้าใจว่าเธอคงเสียชีวิตหรือไม่ก็มอบให้คนอื่นไปเป็นลูกบุญธรรม

          ในปีต่อมาเมื่อพ่อของ Albert ใกล้ตายจึงยอมให้ทั้งสองแต่งงานกัน เธอรับเขาเป็นสามีทั้งน้ำตาเพราะการท้องทำให้เธอต้องเลิกเรียน และกลายเป็นขี้ปากในสถาบันที่แทบไม่มีนักศึกษาหญิงเลย

          ชีวิตของ Mileva ดีขึ้นมาก เธอมีความสุขเพราะในปี 1904 ลูกชายคนโตคือ Hans Albert ก็เกิดซึ่งช่วยลดความเศร้าในการสูญเสียลูกสาวคนโต ในช่วงเวลานี้ทั้งสองช่วยกันทำงานค้นคว้า ถกเถียง ร่วมกันเขียนบทความวิชาการจนดึกดื่นพร้อมกับที่เธอต้องเลี้ยงลูกด้วย

          ในปี 1905 ก็กลายเป็นปีอัศจรรย์ของ Einstein (Annus Mirabilis หรือ Year of Miracles) เพราะ 5 บทความของเขาได้รับการตีพิมพ์และชื่นชมโดยนักฟิสิกส์ว่าเป็นการเปิดยุคใหม่ของวิทยาศาสตร์

          Einstein ได้เขียนในหนังสือต่อมาว่าเขาและภรรยาได้ร่วมกันสร้างผลงานเหล่านี้ อย่างไรก็ดีเธอมิได้ใส่ชื่อในผลงานด้วย มีเพียงชื่อของ Albert Einstein เพียงคนเดียว ซึ่งต่างจาก Pierre และ Madame Curie ซึ่งเป็นสามี-ภรรยาที่ได้รางวัลโนเบลคู่กัน

          Albert ได้เปลี่ยนสภาพจากพนักงานจดสิทธิบัตรเป็นศาสตราจารย์ และในปี 1910 ลูกชายคนที่สอง คือ Eduard ซึ่งต่อมาสร้างความปวดร้าวให้ทั้งสองเป็นอย่างมากก็เกิดในเมือง Zurich

          ในปี 1914 ซึ่งเป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มต้น Albert ก็รับตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ University of Berlin ซึ่งเธอไม่ยินดีอย่างยิ่งเพราะคนเยอรมันดูถูกชนชาติเธอ และประการสำคัญเธอมีสัญชาติญาณว่าสามีของเธอมีใจให้ลูกพี่ลูกน้องซึ่งเป็นหญิงหม้ายชื่อ Elsa Löwenthal ยิวตาสีฟ้าและ ผมบลอนด์

          Albert หลงรักเธอสุดใจพร้อมกับแปรเปลี่ยนมาชิงชัง Mileva จนถึงกับเขียนกฎเกณฑ์กำหนดการอยู่ร่วมกันอย่างไม่มีเยื่อใยของความรัก ทั้งสองทนอยู่กันเพื่อให้ลูกชายทั้งสองมีพ่อและแม่ “อย่างสมบูรณ์”

          Mileva เสียใจจนสติแตกต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เมื่อรักษาจนหายแล้วเธอก็ตัดสินใจรักษาศักดิศรีของตัวเอง ไม่ต้องการอยู่กับคนที่ไม่รักเธอแล้ว ทั้งสองจึงหย่ากันใน วันวาเลนไทน์ของปี 1919 และในปีนั้นเองเขาก็แต่งงานกับ Elsa

          Mileva มั่นใจว่างานวิชาการที่ได้ทำด้วยกันจะต้องได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นในอนาคต ดังนั้นเงื่อนไขการหย่าข้อหนึ่งก็คือการแบ่งปันรายได้ที่ได้รับจากงานวิชาการที่ได้ทำร่วมกัน และสัญชาติญาณของเธอก็ถูกอีกเพราะอีก 3 ปีต่อมา Albert ก็ได้รับรางวัลโนเบล

          Nazi ให้ความสนใจในตัวเขา ต้องการตัวเขาไปรับใช้การสร้างอาวุธ ดังนั้นในปี 1933 เขากับ Elsa และลูกติด 2 คน ก็อพยพไปสหรัฐอเมริกาโดยไปเป็นอาจารย์ที่ Princeton

          อีก 7 ปีต่อมาลูกชายคนโตของเขาคือ Hans Albert ก็อพยพไปสหรัฐอเมริกา มาเป็นอาจารย์ที่ Berkeley ทั้งสองติดต่อกันน้อยมากถึงแม้ว่า Elsa จะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม ส่วน Mileva นั้นหายไปจากสังคม จมอยู่กับความเศร้าและความยากจน ชีวิตของเธอที่Zurich ทุ่มเทให้กับการเลี้ยงดู Eduard ลูกชายคนเล็กซึ่งมีมันสมองเป็นเลิศ แต่ป่วยเป็นโรคจิตเภทมีอาการคุ้มคลั่งเป็นพัก ๆ เธอเสียชีวิตในปี 1948 และ Eduard ต้องรักษาตัวตลอดไปจนเสียชีวิตในโรงพยาบาลในที่สุด

          Albert Einstein เขียนในหนังสือว่าเขาไม่ได้พบ Eduard เป็นเวลากว่า 30 ปี และคงจะเป็นการดีกว่าถ้าเขาจะไม่เกิดมาเสียเลย ไม่แปลกใจเลยที่ความคิดเช่นนี้สอดคล้องกับความเชื่อของลูกคนโตของเขาว่าพ่อได้ทอดทิ้งเขาและแม่

          ถึงแม้นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะผู้นี้จะทิ้งผลงานไว้เป็นบทความวิชาการกว่า 300 ชิ้น และข้อเขียนไม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อีกกว่า 150 ชิ้น มีบทบาทเปลี่ยนแปลงโลกอย่างมากมาย แต่ก็มิได้มีความสุขจากการมีครอบครัวที่อบอุ่นเลย ทั้งหมดเขาเป็นคนทำให้มันเกิดขึ้นเองทั้งสิ้น