บันทึกคนขี้รำคาญ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
3 พฤษภาคม 2559

          ผู้เขียนยอมรับว่าเป็นคนขี้รำคาญ หลายเรื่องในสังคมไทยเราเป็นเรื่องน่ารำคาญ ดังนั้นเพื่อเป็นการปลดปล่อยความรู้สึกและเพื่อให้ท่านผู้อ่านมีส่วนร่วมด้วยทางอารมณ์ ลองดูกันนะครับว่าเรารำคาญในเรื่องเดียวกันหรือไม่

          เรื่องแรกคือการใส่หมวกกันน็อคในบ้านเรา การใส่หมวกป้องกันเช่นนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะมีผลกระทบต่อคนอื่น ๆ ในสังคมด้วย ถ้าผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ใส่หมวกกันน็อคและประสบอุบัติเหตุและเสียชีวิตไปเลยโดยไม่นอนเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทราแย่งเตียงคนป่วยในโรงพยาบาลก็ไม่ว่าอะไรกัน แต่ถ้าเกิดกระโหลกร้าวจนมีอาการต่อเนื่องที่ต้องรักษาพยาบาลโดยใช้ทรัพยากรของสังคมที่แย่งชิงมาจากสมาชิกคนอื่น ๆ อย่างนี้ก็เป็นปัญหาเพราะสภาวการณ์เช่นนี้สามารถหลีกเลี่ยงได้หากใส่หมวกกันน็อค

          กรณีของการใช้เข็มขัดนิรภัยและใส่หมวกกันน็อคก็อยู่บนเหตุผลเดียวกันกล่าวคืออุบัติเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อคนอื่นมาจากการไม่ใช้สองสิ่งนี้

          ในฮานอย โฮจิมินห์ซิตี้ หรือแม้แต่จาร์กาต้า และเมืองใหญ่อื่น ๆ ในอินโดนีเซียถึงแม้จะมีมอเตอร์ไซค์รวมล้าน ๆ คันแต่ทุกคนใส่หมวกกันน็อค (ขอย้ำว่าทุกคน) และเป็นหมวกจริง ไม่ใช่หมวกปลอม ผู้เขียนดูเมืองเหล่านี้ของประเทศที่มีวัฒนธรรมไม่ต่างจากเราแล้วรู้สึกสะท้อนใจ และรู้สึกรำคาญว่าเหตุใดเขาจึงสามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ในขณะที่บ้านเรากฎหมายเป็นเศษกระดาษ มั่นใจว่าหาก ทุกคนทำตามกฎหมายแล้วจะประหยัดทรัพยากรของสังคมเราได้นับเป็นหมื่นล้านบาท และประหยัดน้ำตาไปได้มากมาย ถ้านับมูลค่าชีวิตและค่าเสียโอกาสของคนในครอบครัว ตลอดจนมูลค่าความเสียใจ (ถ้าคำนวณได้) เข้าไปด้วยแล้ว เราอาจประหยัดไปได้นับแสนล้านบาทต่อปีทีเดียว

          เรื่องที่สองคือการล่องหนของตำรวจจรารกรุงเทพมหานคร ผู้เขียนสังเกตุว่าใน 4-5 ปีที่ผ่านมา เราเห็นตำรวจมาโบกรถดูแลการจราจรที่ติดขัดบางตามาก ๆ บางจุดก็โบกรถประเดี๋ยวประด๋าวสัก 1 ชั่วโมงแล้วก็กลายเป็นนินจาไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

          จะอ้างว่ามีกล้อง CCTV ที่ตรวจจับการทำผิดกฎจราจรแล้วดังนั้นการจราจรต่อไปจะติดขัดน้อยลงเพราะเป็นการทดแทนการใช้แรงงานดั้งเดิมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ใช่ที่ การติดขัดจราจรแก้ไม่ได้แน่นอนด้วยกล้องเพราะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายผ่านกล้องอย่างมีประสิทธิภาพพอเนื่องจากการดูแลกล้อง การดำเนินงานออกใบสั่ง การเรียกเก็บเงิน ฯลฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย

          ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่มายืนดูการจราจรเพื่อบังคับทางอ้อมให้ลูกน้องทำงานอย่างแข็งขันนั้นบัดนี้กลายเป็นตำนานเล่าขานกันไปเสียแล้ว ตำรวจที่เห็นหนาตาและทำงานอย่างแข็งขันก็ตอนตั้งด่านตรวจจับ ไม่แน่ใจว่าเหตุที่ขาดตำรวจมาโบกรถนั้นเป็นเพราะแต่ละสถานีตำรวจปัจจุบันมีแต่ร้อยตำรวจตรีที่เลื่อนมาจากนายดาบ (ผลงานของอาเหลิมเขา) ซึ่งมีการเลื่อนในครั้งนั้นนับหมื่นคน จะให้คนระดับนายตำรวจสัญญาบัตรไปโบกรถหรือ มันไม่สมฐานะครับ งานอย่างนี้ต้องให้อาสาสมัครจราจรเขาทำกันในตอนเช้าและเย็นเวลาเร่งด่วน ไอ้ครั้นจะพึ่ง ‘จ่าเฉย’ มันก็จะเสียหน้า ปีหนึ่ง ๆ เราจึงเสียเงินจากการเผาผลาญน้ำมันเพราะจราจรติดขัดในระดับที่เกินสมควรนับแสนล้านบาท

          ถ้าใส่ใจเรื่องการจราจรติดขัดมากขึ้นกว่านี้อีกหน่อย และป้อมยามตามสี่แยกที่ปิดเปิดไฟจราจรนั้นสว่างและโปร่งใสกว่านี้ ไม่มืดเป็นไนท์คลับเช่นปัจจุบันจนไม่รู้ว่ามีตำรวจควบคุมไฟจราจรอยู่หรือไม่ หรือปล่อยให้ไฟมันปิดเปิดกันตามอัตโนมัติ เราคงมีคุณภาพชีวิตกันดีกว่านี้แน่

          เรื่องที่สามคือเรื่องการใช้สรรพนามสมัยพ่อขุนเรียกขานกันของวัยรุ่นหรือแม้แต่คนรุ่นใหม่ เรื่องนี้บางคนอาจเห็นเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แต่สำหรับคนขี้รำคาญเช่นผู้เขียน มันเป็นเรื่องที่ควรบ่น

          การใช้สรรพนามสมัยพ่อขุนในหมู่เพื่อนสนิทในสถานที่อันเหมาะสมไม่ใช่เรื่องใหญ่โต มันเป็น “วาทกรรม” ของมนุษย์อย่างหนึ่งในการแสดงออกซึ่งความสนิทสนม แต่ถ้าหากเป็นการใช้ในที่สาธารณะอันไม่บังควรแล้ว มันจะทำให้คนใช้มีค่าต่ำลงในสายตาคนอื่น ๆ

          คนจำนวนมากลืมไปว่าโซเชียลมีเดียคือพื้นที่สาธารณะซึ่งหากไม่จำกัดวงไว้เป็นอย่างดีแล้ว คนอื่น ๆ ก็จะเห็นการใช้สรรพนามเช่นนั้น ซึ่งไม่ว่าจะพยายามดูอย่างเห็นใจเพียงใดก็ไม่อาจหลีกหนีความรู้สึกที่เป็นลบต่อผู้ใช้ได้

          ผู้เขียนเคยเห็นนักศึกษาสาวหน้าตาดี 3-4 คน จากมหาวิทยาลัยใหญ่มีชื่อเสียงของรัฐแห่งหนึ่งใช้ภาษาพ่อขุนกันอย่างสนุกสนานบนรถไฟฟ้าในระดับที่ดังอย่างไม่สะทกสะท้านสายตาของผู้ร่วมโดยสาร เยาวชนเหล่านี้ไม่ได้ตระหนักว่ากำลังทำลายคุณค่าของตนเองและของมหาวิทยาลัยที่ตนเองเรียนอยู่ในสายตาคนจำนวนหนึ่ง

          ผู้เขียนเห็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นคู่รักกันใช้สรรพนามพ่อขุนอยู่บ่อย ๆ ทั้งในโซเชียลมีเดียและที่ได้ยินกับหูจนสงสัยว่าสรรพนามเช่นนี้มันช่วยทำให้เกิดบรรยากาศโรแมนติกขึ้นได้มากเพียงใด (ถ้าอินกับหนังสือของ “ไม้ เมืองเดิม” กันเป็นพิเศษก็อาจเป็นไปได้ แต่มั่นใจว่าไม่รู้จัก หรือแม้แต่ “ผู้ชนะสิบทิศ” ก็ไม่น่าจะเคยได้ยินชื่อ)

          เรื่องที่สี่คือการเข้ามาเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ของคนต่างชาติในธุรกิจบางประเภทในเมืองท่องเที่ยวของบ้านเรา มันเป็นเรื่องน่ารำคาญก็เพราะเวลาเราไปเที่ยวต่างประเทศที่ใดเราก็ตัวลีบเพราะเป็นบ้านเมืองของเขา ไม่กล้าไปกร่างให้เป็นปัญหา ยิ่งคนต่างชาติไปซ่าเป็นเจ้าพ่อในเมืองท่องเที่ยวของประเทศเขานั้นแทบไม่เคยได้ยิน จะมีก็แต่สยามประเทศของเราเท่านั้นที่ยอมให้คนต่างชาติมาทำใหญ่โตในบ้านเราได้

          ไม่เข้าใจว่าปล่อยไว้ได้อย่างไร ควันไฟจากแบงค์พันมันเข้าตาหรืออย่างไรเจ้าหน้าที่รัฐของเราจึงมองไม่เห็น ศิโรราบราวกับเผชิญหน้าคนถือปืนกล อำนาจในมือเรามีอยู่เต็มที่ที่จะจัดการ เราจะปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ทำความเสียหายให้แก่บ้านเมืองของเราไปถึงไหนกัน

          ปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ก็คือมีคนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจโดยถือหุ้นส่วนน้อยและคนไทยถือหุ้นส่วนใหญ่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงคนไทยเหล่านี้เป็นเพียง ‘ผี’ ที่ให้ใช้ชื่อโดยไม่ได้ร่วมประกอบธุรกิจจริงจัง ยิ่งนับวันยิ่งมีมากขึ้นโดยเฉพาะในธุรกิจท่องเที่ยว

          นักท่องเที่ยวมาประเทศไทยแต่เงินทองทั้งหมดรั่วไหลกลับไปบ้านเขาเพราะโดยแท้จริงคนชาติเดียวกันเป็นคนทำธุรกิจ คนไทยแทบไม่ได้อะไรเลย ที่น่ารำคาญก็คือเจ้าหน้าที่ของเราทำอะไรกันอยู่ ทำไมไม่จับ ‘ผี’ คนไทยเหล่านี้มาใส่คุกสักจำนวนหนึ่งให้เห็นเป็นตัวอย่าง ‘การเชือดไก่ให้ลิงดู’ แบบนี้แหละจะหยุดกระแสได้อย่างชะงัด

          ถ้าการบ่นเช่นนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้บ้างก็ถือว่าเป็นการสร้างความรำคาญที่พอเป็นประโยชน์อยู่บ้าง แต่ถ้าอ่านแล้วยิ่งรู้สึกรำคาญชีวิตมากขึ้นก็ต้องขออภัยท่านผู้อ่านด้วยครับ