Zaha สถาปนิกหญิงคนดังของโลก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
26 เมษายน 2559

          ความเป็นผู้หญิง ความเป็นคนต่างชาติ และการถูกมองว่าเป็นคน “แปลกแยก” ล้วนเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จในวิชาชีพ แต่มีผู้หญิงคนหนึ่งฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นมาได้อย่างไม่หวาดหวั่น เธอคือ Zaha Hadid สถาปนิกหญิงอาหรับชื่อก้องโลก ผู้เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2559 ด้วยวัย 65 ปี

          Zaha ชื่อที่เธอใช้เรียกตัวเองรับรางวัลสถาปนิกระดับโลกนับไม่ถ้วน สุดยอดของรางวัลคือ Pritzker Architecture Prize ซึ่งเธอได้รับในปี 2004 และ รับรางวัล Stirling Prize สองปีฃ้อนคือ ในปี 2010 และ 2011 อีกรางวัลเกียรติยศที่สำคัญยิ่งก็คือในปี 2012 เธอได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อังกฤษระดับสูงขั้น DBE หรือ Dame Commander of the Most Excellent Order of the British Empire

          DBE ซึ่งเป็นระดับสูงสุดอันดับสองถัดจาก GBE หรือ Dame Grand Cross of the Most Excellent Order of the British Empire ซึ่งสองระดับสูงสุดนี้ผู้ได้รับจะมีคำนำหน้าว่า Sir สำหรับชาย และ Dame สำหรับหญิง

          สำหรับ Pritzker Architecture Prize นับถือกันว่าเป็น Noble Prize ของสถาปนิกกันทีเดียว รางวัลที่ให้ประจำปีกันนี้มอบให้แก่สถาปนิกทั่วโลกที่ผลงานมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการเชิดชูมนุษย์ชาติและสิ่งแวดล้อม เริ่มมอบกันตั้งแต่ปี 1979 โดย Hyatt Foundation ส่วน Stirling Prize นั้นเป็นสุดยอดรางวัลของ Royal Institute of British Architects (RIBA) ฃึ่งมอบให้แก่ผู้มีผลงานเป็นเลิศด้านสถาปนิกประจำปีโดยเริ่มมอบตั้งแต่ปี 1996เป็นต้นมา

          ผลงานโดดเด่นของเธอมีมากมาย ที่คนรู้จักกันมากก็คือ London Aquatic Center ในลอนดอนซึ่งสร้างขึ้นสำหรับกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 2012 /Guangzhou Opera House (2010) / MAXXI (National Museum of the 21st Century Arts ที่กรุงโรม (ชนะ Stirling Prize ในปี 2010) ฯลฯ ถ้ารวมอาคารที่เธอชนะการออกแบบจากทั่วโลกและมีการสร้างแล้วนับได้กว่า 100 อาคาร

          Zaha เป็นเหยื่อสนุกปากของผู้สื่อข่าวด้านสถาปัตยกรรมของสื่อใหญ่ในโลกอยู่หลายปีเนื่องจากเธอได้รับรางวัล Pritzker ก่อนเวลาอันสมควรในสายตาของคนเหล่านี้ ถึงเธอจะมีความสามารถสูงแต่พวกเขาเห็นว่าเธอยังไม่ถึงขั้นนั้น ดังนั้นเป็นเวลายาวนานที่เธอต้องพิสูจน์ และก็ได้ทำสำเร็จอย่างงดงามก่อนที่จะเสียชีวิต

          เธอเป็นลูกสาวของนักการเมืองฐานะดีชาวอิรัก ได้รับการศึกษาอย่างดีจากโรงเรียนคริสตังในอิรัก จากโรงเรียนประจำในอังกฤษ และในสวิสเซอร์แลนด์ ก่อนที่จะกลับมาเรียนด้านคณิตศาสตร์ จาก American University of Beirut และศึกษาต่อที่ The Architectural Association School of Architecture ในลอนดอนในปี 1972 ความสามารถของเธอฉายแสงที่นี่ จากสาวขี้อายไม่กล้าแสดงออกกลายเป็นผู้มีบุคลิกภาพเข้มแข็ง จนถึงแข็งกร้าว เมื่อเรียนจบก็ทำงานกับอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในเนเธอร์แลนด์ จนได้เป็นเจ้าของร่วมบริษัทใน ค.ศ. 1977 ในปี 1980 เธอตั้งบริษัทออกแบบของเธอเองในลอนดอน

          บริษัทของเธอชนะการประกวดออกแบบหลายโครงการ จนวงการได้เห็นรูปแบบสถาปัตยกรรมของเธอที่เน้นความคมของเรขาคณิต และความแหวกแนวสมัยใหม่ออกไปทางความอลังการ

          ในกลางทศวรรษ 1980 เธอสอนที่ Harvard Graduate School of Design และในทศวรรษ 1990 ก็สอนที่ University of Illinois ที่ Chicago’s School of Architecture และต่อมาที่มหาวิทยาลัย Columbia และ Yale และตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาเธอก็เป็นอาจารย์สอนที่เวียนนา

          Zaha ทำหลายอย่างไปพร้อมกันนับตั้งแต่ออกแบบตกแต่งภายในอาคารใหญ่โตทั้งใหม่และเก่าแก่ (รวมถึง Mind Zone ใน Millennium Dome ในลอนดอน) ออกแบบเสื้อผ้าและรองเท้าบูทของ แบรนด์เนม ตลอดจนอาคารศิลปะในยุโรปหลายแห่ง บริษัทของเธอมีลูกจ้างถึง 400 คน

          ถึงแม้เมื่อเธอได้รับรางวัล Pritzker ในปี 2004 นั้นจะถูกวิจารณ์ว่ายังไม่เหมาะสม แต่หลายคนในวงการนี้เห็นว่าสิ่งที่ผู้วิจารณ์มีความรู้สึกแฝงอยู่ก็คืออคติของการเป็นผู้หญิงต่างชาติและเป็นอาหรับด้วย (เธอไม่ค่อยมีความสุขนักกับการเป็นพลเมืองอังกฤษ และการอยู่อาศัยในลอนดอน ตอนปลายชีวิตเธอชอบไมอามี่ สหรัฐอเมริกามากกว่าจนเสียชีวิตที่นี่จากหัวใจล้มเหลว)

          เธอพยายามหนักที่จะพิสูจน์การสมควรเป็นผู้ชนะรางวัลนี้และเธอก็ประสบช่วงเวลาทอง ในต้นทศวรรษของปี 2000 Zaha ชนะการประกวดแบบระหว่างประเทศจำนวนมากมาย หลายโครงการถึงจะชนะแต่ก็ไม่ได้สร้างเพราะราคาที่แพงเกินไปจนต้องยกเลิกและประกวดใหม่ดังกรณีของ National Olympic Stadium ของโตเกียวในการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปี 2020

          Zaha เปลี่ยนสไตล์จากเรขาคณิตมาเป็น “Queen of the Curve” กล่าวคืออาคารของเธอมีความโค้ง เลี้ยวลด กลมกลืนอย่างงดงามแปลกตาในยุคสมัยใหม่ เธอถนัดออกแบบอาคารลักษณะที่เรียกว่า Iconic Building คืออาคารอลังการที่งดงามใหญ่โต เป็นตัวชูความยิ่งใหญ่ ตัวอย่างของ Iconic Building ได้แก่ White House / ทัชมาฮาล / The Louvre / The Burj Al Arab (อาคารสูงเป็นรูปใบเรือที่ดูไบ) / Sydney Opera House / Empire State Building / Eiffel Tower / Big Ben / พระที่นั่งอนันตสมาคม อาคาร Petronas ของมาเลเซีย ฯลฯ

          จากสถาปนิกที่ในช่วงหนึ่งของชีวิตได้ชื่อว่าเป็นผู้ออกแบบอาคารที่ไม่ได้รับการสร้าง กลายมาเป็นสถาปนิกที่เชื่อมั่นในตัวเอง เป็นผู้เลือกลูกค้า เป็นผู้บอกลูกค้าว่าหน้าตาอาคารควรเป็นอย่างไรและดื้อดึงไม่ถอย เป็นผู้มีวาทศิลป์ในการนำเสนอ และเป็นผู้มีบุคลิกภาพในด้านความจริงใจ ปากร้าย จิตใจดี ภาคภูมิใจในความเป็นอาหรับ ฯลฯ นั้นมิใช่เรื่องง่าย ทั้งหมดต้องใช้เวลาและการทำงานหนักอย่างยาวนาน

          เธอเป็นสถาปนิกผู้ใช้จินตนาการเป็นหลัก ความเป็นไปได้ทางวิศวกรรมเป็นรองและความอลังการตลอดจนงบประมาณที่มหาศาลเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในทุกโครงการที่เธอตอบรับงานในตอนบั้นปลายของชีวิต ถ้าไม่แน่จริงอย่าได้เสนอตัวมาจ้างเธอออกแบบเป็นอันขาด

          อย่างไรก็ดีกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เธอต้องต่อสู้กับการแข่งขันออกแบบระหว่างประเทศที่เจ้าของโครงการจัดขึ้นอย่างช่ำชอง อาคารจำนวนมากเหล่านี้ได้มาด้วยฝีมือและการต่อสู้ในโลกของวิชาชีพที่ผู้ชายครอบงำ และมีอคติต่อความเป็นตัวตนของเธอ

          ถึงแม้ Zaha จะไม่มีผู้สืบทอดความเป็นอัจฉริยะของเธอ แต่อาคารอันงดงามแปลกตาที่เธอทิ้งไว้ให้โลกคือทายาทตัวจริงของสถาปนิกหญิงสำคัญของโลกคนนี้