คะทสิโกะ ภรรยานายพลโตโจ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
10 พฤษภาคม 2559 

          คนไทยวัย 50 ปีขึ้นไปรู้จักนายพลโตโจ กันแทบทุกคน แต่คงจะมีไม่มากคนนักที่รู้จัก นางคะทสึโกะ ภรรยาของเขาผู้มีชีวิตที่น่าสงสาร แต่ทรงไว้ด้วยเกียรติอย่างน่าภาคภูมิใจ

          โตโจเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง โดยดำรงตำแหน่งระหว่างตุลาคม 1941 ถึงกรกฎาคม 1944 ซึ่งเรียกได้ว่าเกือบตลอดสงคราม ยกเว้นช่วงก่อนที่จะแพ้สงครามเท่านั้น (ญี่ปุ่นแพ้สงครามในเดือนสิงหาคม 1945) ดังนั้น เมื่อแพ้สงครามจึงเป็นเป้าหมายแรกของการเป็นอาชญากรสงคราม

          คะทสึโกะ มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดกุชิมะ บิดาเป็นคนมีชื่อเสียงในท้องถิ่น เธอเดินทางไปโตเกียวเพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยสตรีญี่ปุ่น (นิฮอนโจชิไดอากุ) โดยศึกษาปริญญาตรีภาษาญี่ปุ่น ผู้ที่รับรองเธอให้เข้าเรียน คือ ฮิเดโนริ โตโจ ญาติห่าง ๆ ซึ่งเป็นนายทหารของกองทัพญี่ปุ่นซึ่งต่อมามียศพลโท

          เธอมีร่างเล็ก น่ารักสดใสและมีความเป็นผู้ใหญ่ในเวลาเดียวกัน ในยุคนั้นถ้าจะแนะนำให้เป็นสะใภ้บ้านไหน ก็คงไม่มีใครปฎิเสธ แต่ญาติผู้ใหญ่คนนี้ไม่ต้องเสียเวลาเพราะลูกชายที่เป็นร้อยโทหนุ่มมีนามว่า ฮิเดกิ โตโจ เกิดต้องใจเธอและได้ร่วมหอลงโรงกัน

          เมื่อได้มาเป็นสะใภ้ของบ้าน เธอทำงานหนักช่วยครอบครัวเพราะสามีมีน้องถึง 13 คน และแม่สามีก็จุกจิกเข้มงวดกับสะใภ้มาก เธอต้องลาออกจากมหาวิทยาลัยและทุ่มเทกายและใจให้สามีและบ้าน ทั้ง ๆ ที่หากเรียนต่ออีกเพียงปีเดียวก็จะได้ปริญญาแล้ว

          ร้อยโทหนุ่มสามีของเธอนั้นเป็นคนที่จริงจังกับชีวิตมาก เช่นเดียวกับเธอ แต่เขานั้นไปสุดโต่งกว่า เพราะเป็นคนที่หากได้ตัดสินใจจะทำอะไรแล้ว เขาก็จะพยายามอย่างเต็มที่ ไม่ยอมกิน ไม่ยอมนอนง่าย ๆ จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย

          ตอนที่แต่งงานกันนั้น เขากำลังเตรียมตัวจะสอบเข้าวิทยาลัยทหารบก พ่อสนับสนุนเขาอย่างมากเพราะเห็นว่าเป็นใบเบิกทางที่สำคัญดังกรณีของตัวเขา อย่างไรก็ดีฮิเดกิสอบมาแล้ว 2 ครั้งก็ไม่ได้เพราะไม่มีเวลาดูหนังสือ ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายจึงทุ่มเทเต็มที่โดยมีภรรยาดูแลสนับสนุน มีการวางแผน เวลาดูหนังสืออย่างมีขั้นตอน และในที่สุดเขาก็สอบได้

          ตอนแต่งงานกันใหม่ ๆ นั้น โตโจมีเงินเดือนเพียง 33 เยนกับอีก 33 เซนเท่านั้น (โปรดสังเกตว่าเงินเฟ้อหลังสงครามทำให้ 33 เยนแทบซื้ออะไรไม่ได้เลยในปัจจุบัน) กองทัพหักไป 2 เยน เพื่อเป็นเงินสะสมและอีก 15 เยนมอบให้แม่ไว้ซื้อข้าวสำหรับครอบครัว ดังนั้น จึงต้องอยู่อย่างกระเบียดกระเสียรกับเงินที่เหลือ

          โตโจเป็นคนชนิดที่คนสมัยใหม่เรียกว่าเผด็จการ ภรรยาและลูกอีก 7 คนอยู่ในโอวาท เขาเข้มงวดและเจ้าระเบียบมาก เป็นคนมือสะอาด ไม่หาเศษหาเลย แยกเรื่องส่วนตัวกับงานอย่างเด็ดขาด ไม่เคยช่วยเหลือญาติมิตรแบบส่วนตัวเลยถึงแม้ในตอนหลังเขาจะเป็นทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีทหารบก และประธานเสนาธิการ (เทียบเท่าผู้บัญชาทหารสูงสุดที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศ) ก็ตาม

          คะทสึโกะมีชีวิตที่อุทิศให้สามีและลูกแบบหญิงญี่ปุ่นสมัยโบราณ โตโจนั้นถึงแม้เวลาอยู่บ้านจะช่วยเลี้ยงดูลูกอย่างรักใคร่และอ่อนโยนแต่ก็มีเวลาอยู่บ้านไม่มากนัก หน้าที่จึงตกอยู่กับเธอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่โตโจรับผิดชอบสามตำแหน่งสำคัญในตัวคนเดียว เธอต้องช่วยรับแขก ประสานงานติดต่อในยามที่เขาไม่อยู่จนแทบไม่มีเวลาส่วนตัว

          ในระหว่างสงครามเธอไม่เคยใส่ชุดกิโมโนหรือใส่เสื้อใหม่ เพราะต้องประหยัดให้คนญี่ปุ่นดูเป็นตัวอย่าง เวลาโตโจไม่อยู่เธอมีหน้าที่ส่งทหารออกศึกและรับป้ายดวงวิญญาณของทหารที่เสียชีวิตในต่างแดนบ่อยครั้งจนถูกสื่อโจมตีว่าทำตัวเหมือน ‘ โกเหม่ยหลิง ’ (เลียนแบบชื่อของ ‘ ซ่งเหม่ยหลิง ’ ภรรยาของ เจียงไคเช็ค ผู้มีบทบาทเจ้ากี้เจ้าการกับอเมริกา เนื่องจากเธอเรียนจบจากสหรัฐอเมริกา และพูดภาษาอังกฤษได้ดี)

          เธอและเขามีลูกด้วยกัน 7 คน ชาย 3 คน และหญิง 4 คน ลูกแต่ละคนมีชีวิตที่แตกต่างกันราวกับนิยาย ฮิเดทากะลูกชายคนโตไม่ได้เรียนระดับมหาวิทยาลัย เป็นคนที่ไม่ถูกกับพ่อเลย ขณะที่พ่อถูกขังอยู่ในคุกในฐานะอาชญากรสงครามเขาไม่เคยไปเยี่ยม แถมบ่นว่า ‘ เวรกรรมแต่ปางไหน กรรมจึงมาตกถึงลูกหลาน ไม่น่าเกิดเป็นลูกโตโจเลย’ ลูกคนนี้เสียชีวิตหลังสงครามเลิกไม่กี่ปี

          มิทสึเอะ ลูกสาวคนโต จิตใจหนักแน่นไม่แพ้บุรุษ คู่รักตายก่อนแต่งงาน จึงไม่ยอมมีคู่อยู่นาน เมื่อหลังสงครามเธอแต่งงานได้ 2 ปี ก็เสียชีวิต โตโจได้พึ่งพาลูกสาวคนนี้มากที่สุดในขณะที่อยู่ในคุกก่อนถูกพิพากษา

          มาคิเอะ เป็นลูกสาวคนสอง หลังสงครามยุติลงสามียิงตัวตายจากกรณีพัวพันการฆาตกรรมหัวหน้ากองกำลังรักษาพระองค์ (คดีนี้เกิดจากนายทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่งไม่ยอมแพ้สงคราม บุกเข้าไปในพระราชวังขณะที่พระเจ้าจักรพรรดิ์จะประกาศยอมแพ้สงคราม) ปืนสั้นญี่ปุ่นกระบอกนี้มีผู้นำมามอบให้โตโจและกระบอกนี้เองที่โตโจพยายามใช้ปลิดชีพตัวเองเมื่อทหารอเมริกันเข้ามาจับที่บ้านเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม

          ซาชิเอะ แต่งงานกับสามีนักสร้างภาพยนตร์ และต่อมาเป็นผู้บริหารบริษัทใหญ่ เธอกับมาคิเอะเป็นผู้ดูแลแม่เป็นส่วนใหญ่ ส่วนลูกสาวคนเล็กสุดคือ คิมิเอะ นั้นแต่งงานกับชาวอเมริกัน โดยแม่ไม่ขัดขวางและเธอคิดว่าหากโตโจยังอยู่ก็คงยินยอมด้วย เหตุผลของเธอก็คือระหว่างที่โตโจติดคุกอยู่นั้นมีทหารอเมริกันชื่อ เคนวาร์จ เป็นหนึ่งในผู้คุม ทั้งสองนับถือชอบพอกันมาก เขาช่วยดูแลครอบครัวโตโจที่ถูกรังเกียจโดยสังคมญี่ปุ่น บ้านถูกก้อนหินขว้างอยู่บ่อย ๆ สื่อเหยียดหยามดูถูกว่าเป็นคนนำญี่ปุ่นสู่สงครามและความปราชัย ครอบครัวโตโจถือว่าเขาเป็นมิตรในยามยาก ความรู้สึกที่ดีนี้จึงถูกถ่ายทอดมาถึงคนอเมริกันโดยทั่วไปด้วย

          นายพลโตโจยิงตัวตายแต่ไม่สำเร็จลูกกระสุนเฉียดหัวใจ เขาทำสิ่งที่ได้บอกไว้แล้วว่ายอมตายดีกว่าถูกจับเป็นเชลย ทหารญี่ปุ่นนับหมื่นคนฆ่าตัวตายเช่นเดียวกับเขา ครั้งหนึ่งครอบครัวโตโจเองก็เคยคิดจะตายด้วยกันทั้งครอบครัว (ลูกชายคนโตบอกว่า ‘ ทำไมต้องไปตายเพราะพ่อแบบนั้น ’)

          เมื่อศาลตัดสินว่าโตโจมีความผิดมีโทษแขวนคอ เขาก็ยอมรับชะตากรรมร่วมกับอีก 6 คน อย่างทรนงขณะมีอายุ 63 ปี และถึงแม้ครอบครัวต้องเผชิญกับการรังเกียจเดียดฉันท์ดูถูกพร้อมกับความโศกเศร้า คะทสึโกะก็ยืนหยัดอย่างไม่หวาดหวั่น เธอทำตามที่สามีสั่งเสียไว้ก่อนตายว่า ‘เธออาจรู้สึกสะเทือนใจ แต่ควรอยู่จนครบอายุขัยของตัวเอง’ คือมีชีวิตอยู่เพื่อกู้ชื่อสามีและสามารถทำได้สำเร็จในปี 1979 นับเป็นเวลา 31 ปี หลังจากที่เขาจากไป กล่าวคือ ได้นำป้ายวิญญาณของโตโจพร้อมกับเพื่อน 6 คน ไปไว้ที่ศาลเจ้ายาสุกุนิ อันเป็นสถานที่อันทรงเกียรติเก็บป้ายวิญญาณของทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตจากการรับใช้พระเจ้าจักรพรรดิ์ตั้งแต่สมัยเมอิจิ เป็นต้นมา

          คะทสึโกะมีชีวิตอยู่อย่างเต็มไปด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีจนเสียชีวิตในปี 1982 เมื่อมีอายุได้ 92 ปีเธอคือหญิงผู้สู้ชีวิต อุทิศทุกสิ่งทำงานในหน้าที่เต็มที่และจริงจังอย่างภาคภูมิใจในความรักชาติรักบ้านเมืองของตนเอง (ข้อมูลจากหนังสือ “15 สตรีหมายเลขหนึ่งแห่งแดนอาทิตย์อุทัย” รศ.อาทร ฟุ้งธรรมสาร แปลและเรียบเรียง)