ออกจาก “กล่อง” ด้วย “ทัศนะฝังใจ”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
17 พฤษภาคม 2559

          พ่อบ้านโทษแม่บ้านที่ลูกเกเรไม่เอาถ่านว่าเป็นเพราะตามใจ ไม่ดูแลใกล้ชิด CEO เผด็จการขององค์กรดุด่าลูกน้องที่ต่างทำงานกันอย่างหนักว่ายังไม่เอาไหน ขาดสมอง สองตัวอย่างนี้เกิดขึ้นทุกวันในครอบครัวและองค์กรทั้งธุรกิจและเอกชน พฤติกรรมของทั้งสองคนไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาเพราะตนเองอาจเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ ทั้งหมดนี้เกิดจากการมองโลกด้วยสายตาที่เป็นไปในลักษณะที่ไม่สร้างสรรค์ ตราบที่มีใน ‘ทัศนะฝังใจ’ (mindset) เช่นนี้หนทางแก้ไขปัญหาก็ตีบตัน

          การมองไม่เห็นปัญหาดังกล่าวอุปมาเหมือนดังทารกที่เพิ่งหัดคลานหลุดเข้าไปอยู่ใต้โต๊ะชิดฝาและร้องไห้หาทางออกมาไม่ได้ ครั้นจะขึ้นไปข้างบนก็ติดท้องโต๊ะจะดันไปอีกทางก็เป็นผนัง เด็กน้อยต้องคิดว่าทั้งหมดเป็นเพราะสิ่งภายนอก โดยลืมนึกไปว่าที่ตนเองตกอยู่ในสภาพนี้ก็เพราะคลานเข้าไปเอง

          การพยายามแก้ไขปัญหาโดยโทษแต่สิ่งภายนอกนั้นจะไม่สามารถหาทางออกได้เลยดังเช่นกรณีทารก หรือพ่อบ้าน หรือ CEO นักวิชาการเรียกปรากฏการณ์โทษคนอื่นนี้ว่า self-deception ซึ่งเป็นเรื่องปกติเชิงจิตวิทยาที่เกิดขึ้นทุกแห่งหนทุกเวลา การตระหนักถึงลักษณะเช่นนี้และการพยายามมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเท่านั้นที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้

          นักวิชาการเรียกการมองแคบ ๆ โดยคำนึงถึงแต่เป้าหมายส่วนตัว โดยละเลยการรวมเอาสิ่งที่ตัวเองกระทำเข้าไปรวมด้วยว่า Inward Mindset (“ทัศนะฝังใจแบบเข้าหาตนเอง”)

          การมองเช่นนี้จะมีแต่คำถามว่า “คนอื่น ๆ จะมีผลกระทบต่อเราอย่างไร” แต่ถ้าหากเปลี่ยนเป็นการมี “ทัศนะฝังใจแบบออกจากตนเอง” (Outward Mindset) ก็จะแก้ไขปัญหาได้เพราะจะเป็นการมองที่เน้น “เป้าหมายของเรา” เป็นหลัก โดยคิดว่า “ตนเองมีผลกระทบต่อคนอื่นอย่างไร”

          Outward Mindset จะทำให้มององค์รวม เช่น ผลสำเร็จขององค์กร ผลงานของทีม ในตัวอย่างเรื่องพ่อบ้านก็จะทำให้พิจารณาว่าตนเองอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา คำถามเช่นตนเอง ทำหน้าที่พ่อสมบูรณ์แล้วหรือยัง เคยช่วยแม่บ้านอบรมดูแลลูกหรือไม่ ฯลฯ ก็จะเกิดขึ้น ในเรื่อง CEO ก็จะเกิดการมองว่าตนเองอาจเป็นสาเหตุทำให้ประสิทธิภาพขององค์กรต่ำลง คนลาออกกันอยู่ตลอดเวลา สมาชิกขาดกำลังใจ ฯลฯ โดยทั้งหมดนี้มาจากพฤติกรรมเผด็จการของตนเอง

          Outward Mindset จะก่อให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบแทนที่จะเป็นการโทษกัน การให้มากกว่าการเอามา การเน้นผลที่เกิดขึ้นมากกว่าการได้หน้า การเกิดผลลัพธ์มากกว่าการมีแต่ปัญหา การเข้าร่วมของทุกคนมากกว่า “ของใครของมัน” การเปลี่ยนจาก “silos” (การทำงานเสมือนเป็นโกดังเก็บของแยกจากกัน) กลายเป็นความร่วมมือ การเปลี่ยนจากความพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่โดยไม่ปรับปรุงเป็นการเกิดนวตกรรม ฯลฯ

          แนวคิด Outward Mindset มาจากการริเริ่มของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาและอบรมใหญ่ในสหรัฐอเมริกาชื่อ Arbinger กลุ่มนี้ผลิตหนังสือชื่อ Leadership and Self-Deception ซึ่งขายได้กว่า 1 ล้านเล่มทั่วโลก มีการแปลเป็น 20 ภาษารวมทั้งภาษาไทย (ครั้งแรกออกในปี 2000 และปรับปรุง 2010) และอีกเล่มคือ Outward Mindset จะวางตลาดในเดือนมิถุนายน 2016 นี้

          เมื่อนึกถึงปัญหาที่เคยเห็นและประสบด้วยตนเอง ก็เห็นว่าแนวคิดเช่นนี้มีประโยชน์ Self-Deception หรือการหลอกตัวเองด้วยการโทษคนอื่นและสิ่งอื่นนอกจากตัวเอง (เปรียบเสมือนกับ “อยู่ในกล่อง”) อยู่เสมอเป็นพฤติกรรมปกติของมนุษย์ที่ทำให้การแก้ไขปัญหาซึ่งหลายครั้งอยู่ในระดับหญ้าปากคอก ยากโดยไม่จำเป็น เรามักลืมนึกไปว่าตัวเราเองอาจมีส่วนเป็นสาเหตุของปัญหาหรือเป็นตัวปัญหาเสียเองก็เป็นได้

          หนังสือเล่มนี้เล่าถึงกรณีของหมอชื่อ Ignaz Semmelweis ซึ่งเป็นสูตินารีแพทย์ชาวยุโรป ในกลางทศวรรษ 1850 ทำงานในโรงพยาบาล Vienna General Hospital เขาพบว่าหญิงที่มาคลอดลูกในวอร์ดหนึ่งของโรงพยาบาลที่เขาดูแลอยู่นั้น มีอัตราการตายสูงมากถึง 1 ใน 10 ส่วนอีกวอร์ดหนึ่งมีอัตรา 1 ใน 50

          เขาพยายามศึกษาวิจัยและแก้ไขทุกวิถีทางโดยเปรียบเทียบกับอีกวอร์ดหนึ่งแต่อัตราการตายก็ไม่ลดลงเลย จนกระทั่งวันหนึ่งเขาต้องลาไปทำงานที่อื่นเป็นเวลา 4 เดือน ผลปรากฏว่าในช่วงเวลาที่เขาไม่อยู่นั้นอัตราการตายลดลงอย่างมาก หมอ Ignaz จึงค้นคว้าต่อและพบว่าตัวเขาเองนั้นแหละคือสาเหตุ กล่าวคือเขามักทำวิจัยทางการแพทย์ด้วยการผ่าตัดศพที่อยู่อีกห้องหนึ่งใกล้กัน ในยุคที่ยังไม่เข้าใจบทบาทของเชื้อโรคนั้นเขามิได้ล้างมือให้สะอาดเมื่อต้องเปลี่ยนบทบาทจากนักวิจัยกับศพมาเป็นหมอทำคลอด

          หมอ Ignaz “อยู่ในกล่อง” เพราะมัวแต่โทษสิ่งอื่น ๆ ว่าทำให้อัตราการตายของหญิงคลอดสูงโดยไม่ได้พิจารณาว่าตนเองนั้นแหละคือต้นเหตุของปัญหา ถ้าเขาใช้ Outward Mindset ในการแก้ไขปัญหาเขาคงไม่มองข้ามบทบาทของตนเองเป็นแน่

          ในชีวิตประจำวัน Outward Mindset ทำให้เกิดการพิจารณาผลกระทบที่ตนเองมีต่อผู้อื่นมากกว่าที่จะพิจารณาว่าใครจะทำประโยชน์ หรือผลเสียให้แก่ตนเอง การมองออกไปเช่นนี้จะทำให้เกิดความรักเมตตาคนอื่นเพราะเปลี่ยนขั้วจากการมองแต่ผลประโยชน์ของตนเองมาเป็นการมองผลประโยชน์ขององค์รวม ซึ่งการมององค์รวมจะเกิดขึ้นได้นั้นก็ต่อเมื่อมีการประเมินผลกระทบที่ตนเองมีต่อผู้อื่น

          การจะออกจาก “กล่อง” ของ Self-Deception ได้ก็มาจากการรู้ว่า “กล่อง” คืออะไร มีหน้าตาเป็นอย่างไร และตระหนักว่ามี “กล่อง” นี้อยู่เสมอในชีวิตมนุษย์

          ไม่มีใครที่สามารถอยู่นอก ‘กล่อง’ ได้ตลอดเวลาโดยคิดแนว Outward Mindset อยู่เสมอ บ่อยครั้งที่เราจะตกเข้าไปอยู่ใน ‘กล่อง’ บ่อย ๆ ตามธรรมชาติ โทษผู้อื่น เน้นเป้าหมายของตนเองเป็นหลัก อย่างไรก็ดีการตระหนักว่า ‘กล่อง’ นั้นมีจริงก็จะช่วยทำให้เกิดความระมัดระวังและอยู่ นอก ‘กล่อง’ มากกว่าอยู่ใน ‘กล่อง’ แล้ว

          กล่าวกันว่าคนรุ่นใหม่เป็นพวก “Me Generation” กล่าวคือเน้นความต้องการของตนเองเป็นใหญ่ ดังนั้นแนวคิด Outward Mindset จึงมีความสำคัญยิ่งขึ้นในยุคปัจจุบันเพื่อที่จะทัดทานพลัง Me ของยุค เราจะช่วยกันอย่างไรเพื่อให้คนรุ่นนี้มีเวลาอยู่นอก ‘กล่อง’ มากกว่าอยู่ใน ‘กล่อง’