เพชรเม็ดแชมป์โลกถูกท้าทาย

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
26 กรกฎาคม 2559

          เราเคยได้ยินกันว่าเพชรเม็ดใหญ่ที่สุดในโลกชื่อ Cullinan I หรือ Great Star of Africa ประดับอยู่บนหัวคธาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของราชวงศ์อังกฤษ แต่ล่าสุดในปี 2015 มีการพบเพชรก้อนใหญ่มหึมาซึ่งอาจท้าทายเพชร เม็ดใหญ่ทั้งหลายในโลก ลองมาฟังเรื่องราวกันว่ามีความจริงเพียงใด

          ในปี 1905 มีการพบเพชรที่ยังมิได้เจียรนัยก้อนใหญ่หนัก 3,106.75 กะรัต (621.35 กรัม) ที่เหมืองเพชรนอกเมือง Pretoria ของประเทศอาฟริกาใต้ในปัจจุบัน เจ้าของเหมืองคือ Thomas Cullinan ได้ถวาย King Edward VII ของสหราชอาณาจักร และมีการเจียรนัยออกมาเป็นเพชรหลายเม็ดด้วยกัน เม็ดใหญ่ที่สุดกลายเป็นเม็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกตั้งแต่ปี 1908 เป็นต้นมา

          เม็ดที่ใหญ่ที่สุดนี้คือ Cullinan I หนัก 530.4 กะรัต (106.08 กรัม) รองลงมาคือ Cullinan II หรือ Second Star of Africa หนัก 317.4 กะรัต (63.48 กรัม) และได้เพชรเจียรนัยอีก 7 เม็ด หนักรวมกันทั้งหมด 208.29 กะรัต (41.60 กรัม) เป็นสมบัติส่วนพระองค์ของ Queen Elizabeth II สมเด็จ พระราชินีองค์ปัจจุบันซึ่งทรงรับมรดกจาก Queen Mary ในปี 1953 โดยรวมเพชรย่อยอื่น ๆ อีก 96 เม็ดด้วย

          Cullinan I ครองแชมป์อยู่ได้เกือบ 80 ปี ในปี 1985 มีการพบเพชรจากเหมืองเดียวกันและเจียรนัยแล้ว หนัก 545.67 กะรัต (109.13กรัม) มีชื่อว่า Golden Jubilee Diamond ซึ่งแซงหน้า Cullinan I ไป 15.37 กะรัต (3.07 กรัม) ดังนั้นในปัจจุบันเพชรเม็ดนี้จึงเป็นเพชรเจียรนัยแล้วที่ใหญ่ที่สุด ในโลก ไม่ใช่ Cullinan I อีกต่อไป

          ก่อนที่จะเจียรนัย เพชรก้อนใหญ่ต้นกำเนิดของ Golden Jubilee Diamond หนัก 755.5 กะรัต (151 กรัม) ซึ่งยังเล็กกว่าเพชรต้นกำเนิดของเพชรย่อยตระกูล Cullinan ซึ่งหนัก 3,106.75 กะรัต (621.35 กรัม)

          สรุปแล้วแชมป์เพชรก้อนใหญ่ที่สุดถึงปี 1985 ที่ยังไม่ได้เจียรนัยคือ 3,106.75 กะรัต และรองลงมาคือ 755 .5 กะรัต อย่างไรก็ดีสถิติมีไว้ให้ถูกทำลาย ในปลายปี 2015 มีการพบก้อนเพชรที่ยังมิได้เจียรนัยขนาดเท่าลูกเทนนิส หนัก 1,109 กะรัต (222.2 กรัม) จึงแซงขึ้นมาเป็นอันดับสอง ปัจจุบันยังไม่มีการเจียรนัย และอาจไม่มีด้วยเพราะผู้ปรารถนาเป็นเจ้าของในยุคปัจจุบันส่วนหนึ่งต้องการเพชรในลักษณะธรรมชาติเพื่อเก็บสะสม คล้ายกับศิลปะวัตถุหรือของเก่า

          เหมือง Lucara ของคานาดาซึ่งเป็นแหล่งเพชรก้อนนี้ ตั้งอยู่ในประเทศ Botswana ใน อาฟริกาได้ประกาศให้รางวัลแก่ผู้ตั้งชื่อเพชรก้อนนี้ซึ่งต้องเป็นพลเมืองของ Botswana ด้วย ปรากฏว่ามีผู้ส่งชื่อเข้าประกวดเป็นหมื่นราย ชื่อที่ชนะเลิศคือ Lesedi La Rona ซึ่งหมายถึง “Our Light” ในภาษา Tswana โดยผู้ชนะได้รับรางวัลเป็นเงินสดประมาณ 70,000 หมื่นบาท

          เพชรก้อนที่ยังมิได้เจียรนัยนี้ถือได้ว่าใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีอายุกว่า 2,500 ล้านปีอย่างไรก็ดีผ่านไปเพียงวันเดียวก็มีเพื่อน กล่าวคือวันรุ่งขึ้นเหมือง Lucara ก็พบเพชรขนาดใหญ่อีก 2 ก้อน หนัก 813 และ 374 กะรัต (162.6 กรัม และ 74.8 กรัม ตามลำดับ) เหมืองนี้สร้างสถิติที่ไม่เหมือนใครเพราะภายในเวลาประกอบการ 18 เดือนสามารถขุดเพชรได้ไปแล้วกว่า 1 ล้านกะรัต (200 กิโลกรัม) ทั้งหมดนี้มีสาเหตุมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่

          เหมือง Lucara ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า x-ray transmission sorting technology โดยใช้เครื่องคัดกรองก้อนดินและหินเพื่อค้นหาเพชร 6 เครื่อง แต่ละเครื่องคัดกรองก้อนดินและหินที่มาจากใต้ดินลึกเป็นร้อยเมตรได้ถึง 150 เมตริกตันต่อชั่วโมง (เพชรเม็ดใหญ่ที่พบเหล่านี้มาจากระดับลึกลงไปกว่า 60 เมตร)

          ในโลกของการค้าเพชรปัจจุบันราคาต่อกะรัตของเพชรเม็ดเล็กมีแต่ลดต่ำลงทั้งนี้เนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจของโลกและเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างไรก็ดีสำหรับเพชรเม็ดใหญ่ซึ่งเป็นที่หมายปองของบรรดาเหล่ามหาเศรษฐีในโลกแล้ว ราคามิได้ถูกกระทบแต่อย่างใด เมื่อไม่นานมานี้เพชรยังมิได้เจียรนัยหนัก 813 กะรัต ขายได้ในราคาประมาณ 77,500 เหรียญสหรัฐ (2.87 ล้านบาท) ต่อกะรัต ในเวลาใกล้กันเพชรชื่อ Oppenheimer Blue หนัก 14.62 กะรัต ซึ่งเคยเป็นสมบัติของเจ้าของเหมืองเพชรยักษ์คือ De Beers ขายไปในราคา 57.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,128 ล้านบาท)

          เหมือง Lucara เกิดความคิดที่จะให้มีการประมูลเพชรที่ยังมิได้เจียรนัยตามความนิยมสมัยใหม่ผ่าน Sotheby’s บริษัทใหญ่ด้านการประมูลของโลก และร่วมมือกับ Julius Baer Group ซึ่งเป็นธนาคารสวิส เพื่อให้บริการลูกค้าที่ต้องการซื้ออย่างแอบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่ให้ภรรยาหรือกิ๊กหรือคนอื่น ๆ โดยเฉพาะทางการรู้

          ในการประมูลของ Sotheby’s เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2016 ซึ่งคาดหวังว่าเพชร Lesedi La Rona เม็ดนี้จะขายได้ราคาไม่ต่ำกว่า70 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,590 ล้านบาท) แต่ปรากฏว่าหาผู้ซื้อไม่ได้ถึงแม้จะมีคุณภาพสูงมากในระดับ Type II a (มีความใสสะอาด สีใสงดงาม) ซึ่งหาได้ยากมากก็ตาม สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจาก บรรยากาศหลังการลงประชามติออกจาก EU ของคนอังกฤษ มหาเศรษฐีจำนวนมากที่เคยแสดงความสนใจก็รีรอเพราะเกิดความไม่แน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับ EU ต่อไป

          การพบเพชรขนาดใหญ่เช่นนี้ถือว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น โดยเฉพาะกับผู้ถือหุ้นของเหมือง Lucara ซึ่งซื้อเหมืองชื่อ Karowe อันเป็นเหมืองที่พบเพชรขนาดใหญ่ถึง 3 ก้อนนี้มาจาก De Beers เมื่อปี 2010

          ประเด็นที่น่าสนใจก็คือชาว Botswana ที่ยากจนและเป็นเจ้าของประเทศจะได้รับผลตอบแทนมากน้อยเพียงใดจากการพบเพชรครั้งสำคัญนี้ (หลังจากได้รางวัล 70,000 บาทจากการตั้งชื่อเพชร มูลค่า 70 ล้านเหรียญสหรัฐไปแล้ว )

          ประเทศคงได้รับค่าภาคหลวงก้อนใหญ่จากการประกอบการเหมืองเพชร และอาจได้เพิ่มเติมอีกบ้างจากการขุดพบครั้งใหญ่ นอกจากนี้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งมีงานทำจากกิจการเหมือง แต่ภายใต้โครงสร้างอำนาจทางการเมืองและบริบทของสังคม น่าสงสัยว่าค่าภาคหลวงเหล่านี้จะเข้ากระเป๋าผู้นำไปมากน้อยเพียงใดและจะตกถึงมือชาวบ้านบ้างหรือไม่

          เราดีใจที่โลกได้พบความงดงามเพิ่มเติม แต่เศร้าใจเมื่อคำนึงถึงว่าทรัพยากรธรรมชาติที่มีราคาสูงมากเช่นนี้ไปตกอยู่ในมือเจ้าของเหมืองต่างชาติแทนที่จะเป็นสมบัติของชาว Botswana (เพชรน่าจะชื่อ “Your Light” มากกว่า “Our Light”) เมื่อทบทวนสองความรู้สึกแล้ว น่าให้มันกลับไปฝังอยู่ใต้ดินอย่างเดิมเพื่อรอคอยวันเวลาที่เมื่อขุดขึ้นมาแล้ว ชาว Botswana จะได้เป็นเจ้าของมันอย่างสมบูรณ์