เรื่องน่ากลัวของโลกดิจิตอล

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
4 ตุลาคม 2559

          คนจำนวนมากในโลกร่ำรวยขึ้นเพราะโลกาภิวัตน์ซึ่งมีดิจิตอลเทคโนโลยีเป็นตัวเสริมใน 20 ปี ที่ผ่านมา แต่ใน 20-30 ปีข้างหน้า คนรวยใหม่เหล่านี้อาจจนลงอย่างมากด้วยดาบเล่มเดียวกันที่แต่งรูปใหม่ซึ่งหมายถึงการเกิดขึ้นของหุ่นยนต์ซึ่งมีสมองกลทำงานด้วยระบบดิจิตอล

          ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันร้อยละ 25 ของประชากร

          ญี่ปุ่นซึ่งมีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีจำนวน 33,400,000 คน ก่อนหน้าปี 2020 จะเพิ่มเป็นร้อยละ 29 และเพิ่มเป็นร้อยละ 39 ก่อนถึงปี 2050 คนอายุยืนเหล่านี้ต้องการคนดูแล

          เมื่อสังคมญี่ปุ่นมียอดขายผ้าอ้อมผู้ใหญ่มากกว่าผ้าอ้อมเด็กก็หมายความว่ามีผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก และเมื่อคำนึงถึงว่ามีอัตราการเกิดของเด็กต่ำ ก็หมายความว่าการดูแลกันในครอบครัวโดยลูกหลานดังที่เคยเป็นมานานแสนนานนั้นเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว

          กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ พยากรณ์ว่าก่อนปี 2025 ญี่ปุ่นต้องการพยาบาลดูแลผู้สูงอายุประมาณ 4 ล้านคน ในขณะที่ปัจจุบันมีอยู่เพียง 1.49 ล้านคนเท่านั้น คำถามก็คือแล้วจะทำอย่างไรกัน

          คำตอบก็คือหุ่นยนต์ ขณะนี้กำลังมีการพัฒนา “ผู้ดูแลผู้สูงอายุพิเศษ” นี้กันขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น Toyota ผลิตหุ่นยนต์เพศหญิงชื่อ Robina หนัก 60 กิโลกรัม สูง 1.2 เมตร สามารถสื่อสารผ่านการพูดและท่าทางตลอดจนกระพริบตาได้ ส่วน Honda สร้าง ASIMO ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาคล้ายนักบินอวกาศ สูง 4 ฟุต สามารถตีความอารมณ์ของมนุษย์ได้ ตลอดจนเคลื่อนไหวและพูดจาโต้ตอบได้ ASIMO สามารถทำตามเสียงที่สั่ง ตอบคำถามด้วยการพยักหน้าหรือท่าทาง

          นับวันหุ่นยนต์พัฒนาขึ้นทุกปี โดยหลายบริษัททั้งลับและเปิดเผยเพราะรู้ดีว่ามีความต้องการมหาศาลในอนาคต สามารถเป็นทั้งเพื่อนคุย พนักงานยกคนสูงอายุขึ้นนอนบนเตียงและยกลง ในอนาคตเราอาจเห็นหุ่นยนต์จูงคนสูงอายุไปจ่ายตลาดก็เป็นได้ อีกทั้งยังดูดฝุ่นและทำความสะอาดบ้าน ล้างจาน นอนเฝ้า ฯลฯ

          เมื่อหุ่นยนต์ที่มีระบบไอทีกำกับพัฒนาขึ้นถึงระดับใช้งานตามความต้องการของมนุษย์ ได้ดี มันก็จะอาละวาดทำงานแทนมนุษย์ ซึ่งหมายความว่ามนุษย์จำนวนหนึ่งจะว่างงาน หนังสือชื่อ The Industries of the Future (2016) โดย Alec Ross อ้างถึงงานวิจัยของสองศาสตราจารย์แห่ง Oxford University ซึ่งระบุว่าใน 20 ปีข้างหน้ามากกว่าครึ่งหนึ่งของ 700 ประเภทอาชีพในสหรัฐอเมริกาจะเผชิญกับความเสี่ยงจากการใช้คอมพิวเตอร์แทนแรงงาน ซึ่งประมาณได้ว่าร้อยละ 47 ของงานที่คนอเมริกันทำอยู่ในขณะนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกหุ่นยนต์แย่งงาน และร้อยละ 19 จะเผชิญความเสี่ยงปานกลาง

          ที่น่าหวาดหวั่นที่สุดก็คือร้อยละ 60 ของแรงงานซึ่งส่วนใหญ่คือการเก็บและใช้ข้อมูล ซึ่งหุ่นยนต์สามารถทำงานแทนได้เป็นอย่างดีโดยไม่มีปัญหาเรื่องการนัดหยุดงาน ไม่ตรงต่อเวลา หยุดงานบ่อย ขอขึ้นค่าแรง มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ฯลฯ

          งานเหล่านี้ได้แก่งานทนายความขั้นพื้นฐาน เช่น ให้คำแนะนำและรับจัดตั้งจดทะเบียนบริษัท เขียนคำร้อง ฯลฯ พนักงานบัญชีและการเงิน พนักงานเก็บสถิติและข้อมูล พนักงานเก็บเงิน ฯลฯ

          หุ่นยนต์มีทั้งคุณและโทษมหันต์ นอกจากแย่งงานคนแล้ว ยังมีการหวั่นเกรงว่าในอนาคตจะฉลาดเกินมนุษย์จนควบคุมไม่ได้ (ตอนนี้เล่นหมากรุก และหมากล้อมชนะมนุษย์แล้ว) ก่อให้เกิดภยันตรายต่าง ๆ แก่มนุษยชาติอีกด้วย

          ในเรื่องความน่ากลัวของโลกดิจิตัล การโจมตีที่เรียกว่า cyber attacks นั้นก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งที่ควรกล่าวถึง เราสามารถแบ่ง cyber attacks ออกได้เป็น 3 ลักษณะกล่าวคือ (ก) การล้วงความลับ (ข) การปฏิเสธบริการ และ (ค) การทำลายระบบ

          ในเรื่องการล้วงความลับก็ได้แก่ การขโมยหรือปล่อยข้อมูลลับสู่สาธารณะ แฮคเกอร์ (hackers) กระทำสิ่งเหล่านี้โดยมิได้รับอนุญาต วัตถุประสค์เพื่อเงินหรือเพื่อเปิดโปงสิ่งที่คิดว่าสาธารณชนควรรับรู้

          การปฏิเสธให้บริการก็คือการโจมตีด้วยการเข้าไปใช้พร้อม ๆ กันเป็นจำนวนมาก จนระบบล่มไม่สามารถทำงานได้ การโจมตีลักษณะนี้เราเห็นกันอยู่บ่อย ๆ

          สุดท้ายคือการโจมตีชนิดที่รุนแรง กล่าวคือต้องการทำให้ระบบเกิดปัญหาจนไม่สามารถทำงานได้อีกทั้งทำให้อุปกรณ์ที่ใช้พังเสียหายด้วย ตัวอย่างได้แก่การเข้าไปโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของโรงงานผลิตระเบิดปรมาณูของอิหร่าน ซึ่งมีข่าวลือมานานว่ากำลังเร่งวันเร่งคืนโดยฝีมือของสหรัฐอเมริกาจนระบบเสียหายยับเยินและอุปกรณ์ใช้งานไม่ได้

          ว่ากันว่านี่คือคำอธิบายว่าเหตุใดอิหร่านจึงยอมลงนามความร่วมมือในการหยุดการสร้างระเบิดปรมาณูกับสหรัฐอเมริกาและยุโรปเมื่อไม่นานมานี้

          โลกดิจิตอลสร้างโอกาสและภยันตรายแก่มนุษยชาติ ในอนาคต ส่วนจะเป็นด้านใดมากกว่ากันก็ขึ้นกับตัวมนุษย์เองเป็นผู้กำหนด