เดิน ๆ ๆ จะช้าอยู่ใย

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
15 มกราคม  2556
 

การเดินนอกจากจะทำให้ถึงที่หมายแล้ว     ยังช่วยสร้างมนุษยชาติ    ทำให้มนุษย์ฉลาดขึ้น  และสมองทำงานเข้าที่เข้าทางอีกด้วย

โครงการรณรงค์ “10,000 ก้าว” เพื่อสุขภาพ   ซึ่งริเริ่มในประเทศญี่ปุ่นเป็นวิธีการที่ทำให้เกิดเป้าหมายซึ่งเป็นรูปธรรมของการเดินในแต่ละวัน      ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์เชื่อว่าการเดินมีส่วนช่วยทำให้ความดันโลหิต      ระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับที่ดี     ทั้งทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงขึ้นอีกด้วย     อย่างไรก็ดีมีหลักฐานปัจจุบันว่าการเดินสำคัญกว่านั้นมาก     สำคัญขนาดทำให้มนุษย์อยู่รอดได้    มนุษย์ฉลาดขึ้น  และทำให้สมองทำงานเป็นปกติด้วย

  นักชีววิทยาสองคน คือ D.E. Lieberman และ D.M. Bramble ได้เขียนบทความในวารสาร Nature ในปี 2004 โดยชี้ให้เห็นว่าบรรพบุรุษของเราสืบทอดลูกหลานมาถึงวันนี้ได้ก็เพราะความอึดทนทานในการเดินวิ่งตามเหยื่อที่เป็นสัตว์อย่างไม่ลดละ   จนในที่สุดสัตว์ก็ทนไม่ไหวต้องล้มลงและเป็นอาหารในที่สุด

  การเดินทนทานทำให้เกิดอาหาร   และอาหารทำให้มีกำลังที่จะผลิตลูกหลาน    ยีนส์จากผู้แข็งแรงเหล่านี้ก็ถูกถ่ายทอดลงมาเรื่อย ๆ      เมื่อกฎธรรมชาติมีว่าคนเข้มแข็งสุดเท่านั้นที่อยู่รอด   ก็เลยสรุปได้ว่าลูกหลานปัจจุบันคือผู้ที่มียีนส์ของความอึดอดทนในการเดินเป็นเยี่ยม (เมื่อรู้แล้วและรู้สึกภูมิใจแล้ว    พวกเราก็จงลุกขึ้นเดินกันให้มาก ๆ เพื่อเป็นการคารวะบรรพบุรุษ)

  คู่ขนานไปกับข้อสรุปของสองนักวิชาการข้างต้นก็คือความจริงที่พบว่ามนุษย์นั้นฉลาดขึ้นเป็นลำดับ    กล่าวคือมีมันสมองที่ใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวตลอดระยะเวลาของการพัฒนาในหนึ่ง ล้านปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วง 150,000-200,000 ปีหลังที่เป็นมนุษย์ยืนสองขา    หน้าตาเหมือนพวกเราในปัจจุบัน 

  ปัจจุบันมนุษย์มีมันสมองใหญ่เป็น 3 เท่าของมันสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิด    อื่น ๆ หากแม้นว่ามีน้ำหนักตัวเท่ากัน

  เหตุที่มันสมองใหญ่ได้ขนาดนี้ก็เพราะการกินเนื้อและความเป็น “สัตว์สังคม” กล่าวคือมีการติดต่อสัมพันธ์กันทางสังคมของมนุษย์ตั้งแต่ยุคแรก ๆ     นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าบรรพบุรุษของเราในยุคแรก ๆ จำเป็นต้องวางแผนล่าสัตว์เป็นอาหารและออกปฏิบัติการเป็นกลุ่ม     ความจำเป็นดังกล่าวทำให้เกิดการพัฒนาระบบการคิดขึ้น      ใครมีการพัฒนาดีก็ได้รางวัลคือสัตว์ที่ล่าได้     ดังนั้นความจำเป็นต้องคิดจึงเป็นตัวผลักดันวิวัฒนาการของสมอง

  ล่าสุดนักมานุษยวิทยาเชื่อว่านอกเหนือจากการกินเนื้อและการเป็น “สัตว์สังคม” แล้ว   การออกแรงในแต่ละวันของมนุษย์ก็มีบทบาทสำคัญในการทำให้มนุษย์ฉลาดขึ้น     ในเอกสารวิชาการ Proceedings of the Royal Society ประจำเดือนมกราคมของปี 2013     นักมานุษยวิทยาชื่อ D.A. Raichlen ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความทนทานในการออกกำลังของหนูทดลองในกรงกับการเพิ่มขึ้นของโปรตีนชนิดที่ช่วยทำให้เซลล์สมองขยายตัวขึ้น

  สัตว์ชนิดที่มีความสามารถในการอึดอดทนการออกกำลังสูงคือ   หนู    สุนัข   และหมาป่า     หมาจิ้งจอก    ฯลฯ    จะมีมันสมองที่ใหญ่กว่าสัตว์อื่นเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว

  การทดลองผสมพันธุ์หนูที่มีความอึดทนทานในการออกกำลังผ่านหลายชั่วพ่อแม่    ทำให้พบสารหลายตัวที่สนับสนุนการเติบโตของเนื้อเยื่อในสมอง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีนชื่อ BDNF  (Brain-derived Neurotrophic Factor)   ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเติบโตของสมอง และความฉลาดที่ตามมา

  การอึดทนทานในการออกกำลังของมนุษย์ยุคแรกพร้อมไปกับการมีอาหารดี    ทำให้สมองใหญ่ขึ้นและฉลาดขึ้นคล้ายกับกรณีของหนู      ยิ่งเคลื่อนไหวมากขึ้นก็ยิ่งทำให้สามารถทรงตัวได้ดีขึ้น     ยิ่งคล่องตัวในการออกกำลังอึดทนทานมากขึ้น   และฉลาดยิ่งขึ้น

  ข้อสรุปก็คือถ้าการออกกำลังช่วย “ปั้น” โครงสร้างของสมองแล้วไซร้   ก็มีความเป็นไปได้สูงที่การออกกำลังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพของสมองในปัจจุบัน

  ยิ่งไปกว่านั้นล่าสุดมีหลักฐานทางการแพทย์มากชิ้นขึ้นที่ชี้ให้เห็นว่าการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพียงการเดินก็ช่วยทำให้ความสามารถในการทำงานของสมองดีขึ้น     ดังนั้นการเดินจึงมิใช่เป็นเพียงเรื่องของการเคลื่อนไหวธรรมดาเพื่อให้ถึงจุดหมายเท่านั้น

  กลุ่มคนที่สมองยากที่จะฝ่อเพราะต้องออกกำลังวิ่งอย่างอึดทนทานอยู่เป็นประจำและตามฤดูกาลก็คือส่วนใหญ่ของข้าราชการไทยระดับสูง