อิทธิพลของ “คนเมืองเสมือน”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
28 พฤษภาคม 2556     

           ขณะนี้เมืองใหญ่ในอีสานหลายเมืองขยายตัวทั้งพื้นที่และระดับกิจกรรมเศรษฐกิจอย่างน่าตกใจ โคราช ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี ฯลฯ กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและอย่างไร้ทิศทาง ราคาที่ดินพุ่งขึ้น คอนโดมิเนียมผุดขึ้นราวดอกเห็ด สภาวการณ์เช่นนี้ทำให้เชื่อว่าอัตราการอยู่อาศัยในเขตเมือง (Urbanization Rate) กำลังสูงขึ้น อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าอัตราดังกล่าวสูงกว่าที่เข้าใจกัน

          ตัวเลขที่อ้างอิงกันในปัจจุบันก็คือไทยมีอัตราการอยู่อาศัยในเขตเมืองประมาณร้อยละ 30 หรือกว่านั้นเล็กน้อย ส่วนอีก 70% ผู้คนอาศัยอยู่ในเขตที่ไม่ใช่เมือง (ชนบท) โดยให้คำจำกัดความว่าเขตเมืองคือกรุงเทพมหานคร พัทยา เทศบาลเมืองและเทศบาลตำบล

          โลกในสมัยก่อนไร้เดียงสาและตรงไปตรงมาเช่นนี้ ดังตัวเลขที่ว่ากว่าร้อยละ 50 ของประชากรไทยเป็นเกษตรกร สมัยก่อนการเป็นเกษตรกรนั้นชัดเจนคือเป็นเกษตรกรก็เป็นเต็มตัว ดังนั้นจะเรียกใครว่าเป็นเกษตรกรจึงง่ายไม่ซับซ้อน แต่ในสมัยนี้ไม่มีใครที่ทำการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว เกือบทั้งหมดทำหลายอย่างเพื่อหารายได้เพิ่มเติมเพราะอยู่ไม่ได้ด้วยการเกษตรเท่านั้น จำเป็นต้องรับจ้างหรือไปทำงานในโรงงาน ขายของอิสระ ขับแท็กซี่หรือตุ๊ก ๆ แรงงานก่อสร้าง ขายล็อตเตอรี่ เข็นรถขายของ ฯลฯ

          เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัจจุบันคำว่าเกษตรกรจึงไม่มีความหมายที่กระชับ ตัวเลข ร้อยละ 50 จึงไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง ถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดว่าต้องทำงานไม่ต่ำกว่ากี่ชั่วโมง ต่อปีจึงจะเป็นเกษตรกรก็ตามที แต่ผู้คนก็ยังเข้าใจว่าเกษตรกรคือคนทำกินด้วยการเกษตรเต็มเวลา

          สังคมไทยปัจจุบันมีคนจำนวนมากอยู่อาศัยในชนบทแต่รับโทรทัศน์ดาวเทียม มีสมาร์ทโฟน อินเตอร์เน็ต มีรถปิคอัพ มอเตอร์ไซค์ ส่วนหนึ่งในวันเสาร์อาทิตย์ก็ขับรถ เข้าเมืองพาลูกและญาติไปกินอาหารภาคสมัยใหม่ (แฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด ไอศกรีม สุกี้ ฯ) หรือส่งลูกไปเรียนพิเศษในเมือง ลักษณะอย่างนี้คงเรียกเขาว่าเป็นคนชนบทในคำจำกัดความดั้งเดิมไม่ได้

          ถึงแม้จะอยู่อาศัยในเขตชนบทแต่เขามีความคิด พฤติกรรม รสนิยมและความเชื่อเหมือนคนในเมือง คนเหล่านี้เป็น “คนเมืองเสมือน” (virtual urban people) ถ้าเราไม่นับเขาไว้ในการเป็นคนเมือง เราก็ผิดพลาดแน่นอน

          ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและการเกิดขึ้นของคนชั้นกลางจำนวนมากทำให้การรับข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว อิทธิพลของสื่อสูงจนทำให้รสนิยมและความเชื่อของเขาใกล้เคียง คนเมืองมากขึ้น ถึงแม้ตัวจะอยู่ในชนบทก็ตาม

          ตัวเลขการเป็นคนเมืองร้อยละ 30 ของสังคมไทยจึงไร้ความหมาย การให้คำจำกัดความโดยอาศัยแหล่งที่พักพิงเป็นฐานจึงไม่ถูกต้องและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง สภาวการณ์ที่ “ระยะทางตายแล้ว” (distance is dead) ทำให้ต้องเปลี่ยนคำจำกัดความของการเป็นคนเมืองเสียใหม่

          สมัยก่อนคนเมืองมีรสนิยมในการบริโภค มีความเชื่อ มีสไตล์การแต่งกายและการดำรงชีพที่แตกต่างจากคนชนบทอย่างเห็นได้ชัดเจน แต่ปัจจุบันช่องห่างระหว่างคนสองกลุ่มนี้แคบลงทุกขณะ ถึงแม้รายได้ต่อครัวเรือนยังแตกต่างกันอยู่มากก็ตามที

          ถ้าใช้การที่คนในชนบทบางส่วนมีลักษณะหลายประการเหมือนกับคนเมืองเป็นเกณฑ์ตัดสินแทนเขตที่อยู่ ตัวเลข urbanization rate ของสังคมไทยอาจขึ้นไปถึงร้อยละ 50 หรือ 60 ก็เป็นไปได้ และภายในเวลาไม่กี่ปีอาจขึ้นไปถึงร้อยละ 70-80 ของประชากรทั้งประเทศ

          การใช้เกณฑ์ตัดสินการเป็นคนเมืองใหม่นั้นมีนัยสำคัญกว้างขวาง เมื่อ คนเมืองมีจำนวนมากขึ้น นโยบายของรัฐในเรื่องต่าง ๆ เช่น การศึกษา เศรษฐกิจ สาธารณสุข แรงงาน พาณิชย์ ประชาสัมพันธ์ ฯ ก็จำต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย

          คนเมืองปกติมีความรู้มากฉันใด คนเหล่านี้ก็ไม่ต่างออกไป การให้บริการของภาครัฐตลอดจนการให้ข้อมูลข่าวสารก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ ตัวอย่างเช่นงานของเกษตรตำบล การศึกษานอกโรงเรียน งานอนามัย ฯ ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ

          การมี “คนเมืองเสมือน” จำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทบีบบังคับให้ภาครัฐและเอกชนที่ประกอบธุรกิจต้องมีระบบการคิดใหม่ กรอบการคิดแบบเก่าในสถานการณ์ใหม่ของความเป็นคนเมืองใช้ไมได้อีกต่อไป

          ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดมีคนเมืองขึ้นในชนบทก็คือฐานะทางเศรษฐกิจ ถ้าชนบทขาดคนกลุ่มใหญ่ที่มีฐานะดีขึ้นอย่างชัดเจน (จากภาคเศรษฐกิจทั้งในและนอกระบบ เช่น เป็นลูกจ้างหรือช่างในโรงงาน ขับรถรับจ้างในเมือง ขายของแบบซื้อมาขายไป ขายอาหาร เข็นรถขายผลไม้ ทำการเกษตรสมัยใหม่ ฯ) ก็จะไม่มีเครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ (โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต โทรทัศน์) ขาดอุปกรณ์ช่วยการเดินทางติดต่อ ไม่ว่าจะเป็นรถมอเตอร์ไซค์ รถนั่งหรือรถปิคอัพ ฯ

          โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตคือตัวเปลี่ยนโลกทัศน์ ความเชื่อ พฤติกรรม และวิถีการดำรงชีวิตของเกือบทุกคนในชนบท ซึ่งสิ่งเหล่านี้เข้ามาในชีวิตได้ก็ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของคนชนบทในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา รายได้จากการทำงานภายนอกภาคเกษตรมีบทบาทสำคัญมากกว่ารายได้จากภายในภาคเกษตรเอง

          “คนเมืองเสมือน” เหล่านี้แหละเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย การให้การศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นพิเศษตลอดจนการสร้างทัศนคติที่เหมาะสมแก่ “คนเมืองเสมือน” เป็นเรื่องน่าใคร่ครวญเพราะพวกเขาคือผู้มีอิทธิพลต่อเพื่อน ๆ ในชนบทไทยอยู่ในขณะนี้