GDP สวนทาง “คุณภาพชีวิต”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
26 มีนาคม 2556 

  ประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องแซงหน้าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรเรียกกันได้ว่าประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ    อย่างไรก็ดีตัวเลขของ UNDP (United Nations Development Programs) ที่เพิ่งประกาศออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้   พิสูจน์อีกครั้งว่าคนในประเทศเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องมีคุณภาพชีวิตสูงเสมอไป

GDP คือมูลค่าการผลิตหรือรายได้ที่เกิดจากผลิตของผู้คนที่พักอาศัยในประเทศหนึ่งในช่วงเวลา 1 ปี   พูดหยาบ ๆ ก็คือ GDP คือรายได้รวมที่เกิดขึ้นของคนในประเทศในเวลาหนึ่งปี   ถ้าเอาจำนวนประชากรไปหารก็ได้รายได้ต่อหัว

นักเศรษฐศาสตร์และประชาชนบางส่วนไม่พอใจกับการที่ GDP ถูกใช้เป็นตัวชี้วัด ความสุขของคนในแต่ละประเทศ (ซึ่งจริง ๆ เขาก็มิได้ตั้งใจใช้วัดความสุข)    จึงพยายามหาตัวอื่นมาวัดแทน   เช่น  Gross National Happiness (ความสุขมวลรวม)  แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะ ความสุขมีความหมายที่ดิ้นได้

ในปี 1990 นักเศรษฐศาสตร์ชาวปากีสถาน ชื่อ Mahbub Ulhaq กับพวกได้รวมตัวกันคิดหาสิ่งอื่นมาวัด “คุณภาพชีวิต” (ตัวแทนความสุข) แทน GDP  สุดท้ายงานสำเร็จลงได้ด้วยฝีมือของ Amartya Sen นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์

ตัวชี้วัดนี้ของ UNDP ซึ่งเรียกกันว่า Human Deveolpment Index (HDI) มีการปรับแก้ไขกันหลายครั้งจนกระทั่งครั้งหลังสุดคือปี 2011  โดย HDI ได้รวม 3 มิติเข้าด้วยกัน    (1)  การมีชีวิตยืนยาวและมีสุขภาพดี  (ใช้อายุขัยเมื่อแรกเกิด)   (2)  ดัชนีการศึกษา (ใช้จำนวนปีเฉลี่ยที่อยู่ในโรงเรียนกับจำนวนปีที่คาดคะเนว่าจะอยู่ในโรงเรียน)     (3)  ระดับมาตรฐานการครองชีพที่ดี (ใช้รายได้เฉลี่ยต่อหัวโดยวัดแบบปรับค่าครองชีพ   กล่าวคือประเทศที่ค่าครองชีพต่ำตัวเลขนี้ก็จะได้ปรับสูงขึ้น)

แต่ละมิติมีสูตรคณิตศาสตร์เฉพาะเพื่อใช้คิดคำนวณโดยอาศัยเหตุผลทางวิชาการ  และจากนั้นก็นำผลจากทั้งสามมิติมาใส่ในสมการเพื่อให้ได้ตัวชี้วัด “คุณภาพชีวิต” หรือ HDI  ของแต่ละปีของแต่ละประเทศ     ซึ่งมั่นใจว่าสะท้อน “คุณภาพชีวิต” ของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง

ตัวเลขล่าสุดของ UNDP ชี้ว่าในระหว่างปี 1990-2012 ประเทศที่ HDI มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือเกาหลีใต้    โดยเปลี่ยนแปลงถึงร้อยละ 63 ในขณะที่รายได้ต่อหัวเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยแค่ร้อยละ 4.2 ต่อปี

อิหร่านมี HDI เปลี่ยนแปลงมากเป็นอันดับสองคือเปลี่ยนแปลงร้อยละ 44 ในขณะที่รายได้ต่อหัวเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยเพียงร้อยละ 2.5 ต่อปี

ลำดับ 3 คือจีน  HDI เปลี่ยนแปลงร้อยละ 40 (รายได้ต่อหัวเปลี่ยนแปลงร้อยละ 9.4)  ใน ASEAN ประเทศที่น่าสนใจคือมาเลเซีย   HDI เปลี่ยนแปลงร้อยละ 36 (รายได้ต่อหัวเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 3)   HDI ของไทยเปลี่ยนแปลงร้อยละ 20.5 (รายได้ต่อหัวร้อยละ 8.7)

ประเทศที่คุณภาพชีวิตเปลี่ยนแปลงมากแต่รายได้เปลี่ยนแปลงน้อย (GDP ขยายตัวต่ำ) ก็คือ เม็กซิโก     อัลจีเรีย และบราซิล  ส่วนบังคลาเทศนั้น HDI เปลี่ยนแปลงในระดับเดียวกับอินเดีย    ถึงแม้จะล้าหลังด้านการเจริญเติบโตของรายได้กว่าอินเดียก็ตาม

ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการมีการเจริญเติบโตที่สูงมิได้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของ “คุณภาพชีวิต” ที่สูงขึ้นเสมอไป      ตัวอย่างที่น่าสนใจคือตุรกี     ซึ่งอยู่ในอันดับ 9 ของประเทศที่มี HDI เปลี่ยนแปลงมากที่สุดอันเนื่องมาจากการทุ่มรายจ่ายโดยตรงเพื่อแก้ไขความยากจนมากกว่าเดิมถึง  3 เท่าตัวระหว่าง 2002-2010  จนสามารถลดสัดส่วนของประชากรที่อยู่ต่ำกว่าเส้นยากจนจากร้อยละ  30 ในปี 2002   เหลือเพียงร้อยละ 4 ในปี 2010   แต่รายได้ต่อหัวเปลี่ยนแปลงเพียงร้อยละ 2.5 ต่อปี

การไม่สอดคล้องกันของการเปลี่ยนแปลง “คุณภาพชีวิต” และรายได้ตอกย้ำว่าสังคมไม่ควรตีความหมายของการเปลี่ยนแปลง GDP กว้างกว่าการผันแปรของรายการหนึ่งในบัญชีรายได้ประชาชาติ (National Income Account)   ซึ่งโยงใยกับรายได้