วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
4 มิถุนายน 2556
การพนันกับการเสี่ยงโชคแตกต่างกันในลักษณะของการเล่นและผลกระทบ ถึงแม้การเสี่ยงโชคจะดูไร้เดียงสา แต่ถ้าหากมีการมอมเมามาก ๆ ก็อาจมีผลเสียไม่ต่างไปจากการพนัน
ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมการสัมมนาและวิจารณ์บทความเรื่อง ‘การพนันหรือการ เสี่ยงโชค’ ซึ่งเขียนโดย รศ. ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ และพวกเมื่อเร็ว ๆ นี้ ขอนำเอาบางประเด็นที่ได้คุยกันในวันนั้นมาเป็น “อาหารสมอง”
คำว่า ‘การพนัน’ สื่อความหมายด้านลบในภาษาไทย เมื่อครั้งที่พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ออกมานั้นสังคมไทยไม่รู้จักคำว่า ‘การเสี่ยงโชค’ เนื่องจากเป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นไม่เกิน 30 ปีมานี้เอง และมีความหมายที่แตกต่างออกไป (แม้แต่คำว่า ‘สวัสดี’ ก็เพิ่งเริ่มใช้เป็นทางการใน พ.ศ. 2486 หลังจากที่พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนชีวะ) ได้บัญญัติขึ้นใน พ.ศ. 2476 ใครอยากให้ใครชมตลอดเวลาก็ต้องชื่อสวัสดิ์ เพราะสวัส-ดี)
กฎหมายฉบับนี้ระบุแต่คำว่าการพนัน แต่โลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก มีหลากหลายรูปแบบที่คล้ายคลึงการพนันเกิดขึ้นจนกฎหมายตามไม่ทัน
การพนันของไทย ไพ่ ถั่ว โป ไฮโล บิลเลียด สนุกเกอร์ บาคาร่า ฯลฯ ตลอดจน ‘โจรแขนเดียว’ (slot machines ที่มากับฐานทัพอเมริกัน) นั้นคนไทยรู้จักกันมานานแล้วในนามของ ‘การพนัน’ และตรงกับลักษณะดังปรากฏในกฎหมายฉบับดังกล่าว
ในประเทศไทยการเสี่ยงโชคเริ่มต้นกันเมื่อ 50 ปีก่อนด้วยการส่งชิ้นส่วนชิงโชค รายการหนึ่งให้คนซื้อผงซักฟอกและมีสร้อยคอทองคำปนมาด้วย (ผงซักฟอกยี่ห้อนั้นขายปลีกกันเป็นกิโล เพราะเพื่อนเล่นเกาะกล่องหาสายสร้อยก่อนและเอาผงซักฟอกมาชั่งขาย) และดีกรีหนักขึ้นทุกทีจนปัจจุบันไปไกลถึงเสี่ยงโชคจับรางวัลทองคำ โทรศัพท์มือถือ กันเป็นรายวัน และรายชั่วโมง
ในโลกตะวันตกนั้นความบันเทิงมิได้ครอบคลุมเฉพาะการท่องเที่ยว สวนสนุก ชอบปิ้ง ร้องเพลง บริโภคอาหารและเครื่องดื่ม ฯลฯ เท่านั้น หากกินไปถึงเรื่องการเอาเงินจำนวนน้อยไปเล่นให้สนุก เพื่อให้ได้เงินมากขึ้น ซึ่งการสนุกนี้มีทั้งการพนันและสิ่งที่เรียกว่า “การเสี่ยงโชค”
อย่างไรก็ดี คนตะวันตกเข้าบ่อนเพื่อการหย่อนใจเพราะถือว่าเป็นการบันเทิง อย่างหนึ่ง แต่คนไทยและคนตะวันออกส่วนใหญ่เข้าบ่อนเพื่อหาความเครียดเนื่องจากถือว่าเป็นการไปวัดดวงชะตาเพื่อความร่ำรวย
อะไรคือความแตกต่างระหว่าง ‘การพนัน’ และ ‘การเสี่ยงโชค’ ? ล๊อตเตอรี่ และหวย เป็นการพนันหรือการเสี่ยงโชค?
‘การพนัน’ คือการเล่นที่มีการวางเดิมพันซึ่งกำหนดโดยผู้เล่น มีการแข่งขันต่อสู้ มีผู้ประกอบการ (เจ้ามือ) มีลักษณะของการต่อรองกันถึงผลได้และผลเสียของคนสองฝ่าย ส่วน ‘การเสี่ยงโชค’ ไม่มีการแข่งขันต่อสู้ มีลักษณะของการเสี่ยงทาย ไม่มีการต่อรองแพ้ชนะ ได้เสีย ฯลฯ
หากสิ่งที่เล่นกันมีลักษณะตรงไปตรงมาเช่นนี้ เส้นแบ่งระหว่าง ‘การพนัน’ และ ‘การเสี่ยงโชค’ ก็ชัดเจน อย่างไรก็ดีหากผู้เล่นไม่หวังแค่เสี่ยงโชค หากมุ่งมั่นทุ่มเทเงินทองเพื่อหวัง ได้เสีย สิ่งที่ดูเหมือนว่าเป็น ‘การเสี่ยงโชค’ ก็อาจกลายเป็น ‘การพนัน’ ไปได้
ตัวอย่างเรื่องล๊อตเตอรี่ หากผู้ซื้อ ๆ เพื่อหวังรางวัล ในแต่ละงวดก็เป็นการเสี่ยงโชค แต่ถ้าซื้อหลายใบเสียเงินเป็นจำนวนมากเพื่อหวังรวยเป็นร้อยล้านก็อาจแปรเปลี่ยนเป็น ‘การพนัน’ ไปได้ เพราะผู้เล่นหวังได้เสีย เสมือนกับมีการแข่งขันเกิดขึ้น
ยิ่งการเล่นหวยแล้วมีทางโน้มที่จะเป็นการพนันมาก เนื่องจากเงินที่แทงหวย (ไม่ว่าจะแทงบน-ล่าง วิ่ง หรือเดินหรือนอน) นั้นเกิดจากการกระทำของผู้เล่นที่หวังได้-เสีย โดยใช้เงินที่ซื้อหวยนั้นเป็นเดิมพันเพื่อจะได้อีกหลายต่อ ดังนั้นการเสี่ยงโชคอาจแปรเปลี่ยนเป็นการพนันได้ ถ้าผู้เล่นเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นการมุ่งได้-เสียเป็นสำคัญ
การพนันเป็นสิ่งที่สามารถทำให้คนรวยล้นฟ้าเป็นยากจกได้ในคืนเดียว เป็นสิ่งที่ทำให้คนหมกมุ่นจนไม่สร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์ เสียทั้งเวลา โอกาส เงินทอง และความเป็นไปได้ในการสูญเสียทุกอย่างที่ได้สร้างมาในชีวิตในเวลาอันสั้น
เรื่องที่น่ากังวลของสังคมไทยนอกเหนือจากการพนันที่มีอยู่ในทุกหย่อมหญ้าแล้วก็คือการเสี่ยงโชคชนิด ‘รวยเปรี้ยงปร้าง รวยซ้ำ รวยซ้อน’ ด้วยการใช้เบอร์ในฝาเครื่องดื่มชิงโชคกันทุกวัน ทุกชั่วโมง ปรากฏการณ์นี้กำลังสร้างบรรยากาศที่บ่มเพาะให้คนไทยโดยเฉพาะเยาวชนไทยหมกมุ่นในการใช้เงินน้อยต่อยอดเพื่อให้ได้เงินมาก สร้างความฝันลม ๆ แล้ง ๆ (ซื้อน้ำมากินจนพุงอืดก็แทบไม่มีสิทธิ์ลุ้น) และที่สำคัญก็คือการบ่มเพาะจิตใจของการเป็นนักพนัน ตลอดจนบ่อนเซาะความเชื่อศรัทธาซึ่งเป็นสากลในเรื่องที่ว่าความสำเร็จในชีวิตมาจากการบากบั่นทำงาน
‘การเสี่ยงโชค’ ชนิดที่มอมเมาผู้คนจะหล่อหลอมและบ่มเพาะให้ผู้คนรักการพนันในระยะเวลายาว สิ่งที่ดูไร้เดียงสาในปัจจุบันหากไม่ควบคุมให้อยู่ในความเหมาะสมแล้ว จะกลายเป็นยาพิษสำหรับประชาชนในเวลาต่อไปได้