คุณภาพชีวิตคนไทยหลังประชาคมอาเซียน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
20 สิงหาคม 2556

          ไม่ว่าผู้คนจะพูดถึงเรื่อง ASEAN กันในแง่มุมไหนก็ตาม สิ่งที่อยู่ลึกในใจก็คือคำถามที่ว่าหลังปี 2015 ที่เป็นประชาคมอาเซียนแล้วคุณภาพชีวิตของตนเองจะเป็นอย่างไร

          ในเบื้องต้นขอย้ำว่าในปี 2015 นั้นเราจะเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community____AC) ไม่ใช่ AEC (ASEAN Economic Community) หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

          AC นั้นกว้างขวางกว่าเพราะครอบคลุมทั้ง AEC และ APSC (ASEAN Political Security Community) และ ASCC (ASEAN Socio-Cultural Community) หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า AC ประกอบ ด้วย 3 เสาหลัก คือ AEC + APSC + ASCC

          คนจำนวนหนึ่งอาจมีความรู้สึกว่าปี 2015 คือปีวิเศษที่จะเกิด AC ขึ้นทันที (คล้ายกับเปิด สวิทช์ไฟ) แต่ความจริงก็คือความเป็น AC นั้นได้เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยมาหลายปีแล้ว ตัวอย่างเช่น (ก) ร้อยละ 99.5 ของรายการสินค้าที่ค้าขายกันในอาเซียนนั้นเก็บภาษีศุลกากรเป็น 0 มากกว่า 2 ปีแล้ว (ข) อาเซียนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยมาหลายปีแล้ว (ค) ปัจจุบันมีพาสปอร์ตเล่มเดียวก็สามารถไปได้ทั่วอาเซียนโดยไม่ต้องมีวีซ่า ยกเว้นพม่าซึ่งตอนนี้ก็ขอวีซ่าออนไลน์ได้แล้ว (ง) สามารถเดินทางไป 7 ประเทศบนแผ่นดินใหญ่ได้โดยรถยนต์อย่างค่อนข้างสะดวก (ยกเว้นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบรูไน ซึ่งเป็นเกาะ) (จ) ในบ้านเรามีคนชาติอาเซียนอื่น ๆ ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคนอยู่แล้ว ฯลฯ

          เนื่องจากแต่ละประเทศสมาชิกใช้กฎหมายของตนเองโดยไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศบังคับแบบ EU (จะมีก็เพียงข้อตกลงที่จะมีข้อกฎหมายเหมือนกันในบางเรื่องเท่านั้น) ในการนำเข้าสินค้าที่ภาษีศุลกากรเป็น 0 นั้น แต่ละประเทศสามารถเรียกเก็บภาษีอื่นเพิ่มเติมได้อีก หรือสามารถตั้งกฎกติกาในเรื่องความสะอาด สาธารณสุข เงื่อนไขใบอนุญาต ฯลฯ ดังนั้นมันจึงไม่เสรีจริง เช่นเดียวกับการไหลของแรงงานมีฝีมือก็เป็นไปได้ยากเพราะแต่ละประเทศมีกฎหมายสงวนอาชีพของตนเอง มีกฎกติกาของสภาวิชาชีพ (เช่นไทยบังคับให้แพทย์ พยาบาลต่างชาติต้องสอบใบประกอบวิชาชีพเป็นภาษาไทยผ่านจึงจะประกอบอาชีพได้)

          การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในปี 2015 จะทำให้ข้อตกลงในหลายด้าน เช่น การลงทุนต่างชาติของธุรกิจด้านบริการ การไหลอย่างเสรีของเงินทุน ฯลฯ มีผลใช้บังคับทางกฎหมายขึ้น

          ท่ามกลางความเป็นเสรีจริงและไม่จริงของประชาคมอาเซียน สิ่งหนึ่งที่ปิดกั้นได้ยากก็คือการเดินทางไม่ว่าจะเป็นการแอบมาทำงานของแรงงานไร้ฝีมือ หรือการท่องเที่ยว

          ประเทศไทยปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประมาณปีละ 23 ล้านคน หลังปี 2015 เป็นต้นไปเป็นที่เชื่อได้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ (อีกส่วนหนึ่งจะมาจากจีนซึ่งตอนนี้เป็นอันดับหนึ่งคือประมาณ 2.7 ล้านคนต่อปี) เมื่อรวมกับประชากรไทยอีกกว่า 67 ล้านคน ก็พอเห็นภาพของการแย่งกันใช้พื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ

          คุณภาพชีวิตของคนไทยในแง่มุมที่มีคนต่างชาติจำนวนมากเดินทางเข้าประเทศคาดได้ว่าจะเลวลงกว่าในปัจจุบัน หากสมรรถนะในการบริหารจัดการและบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ปรับตัวสูงขึ้นตามสถานการณ์

          ไทยเป็นสังคมเปิดที่มีความเป็นเสรีสูง (ยกเว้นแต่มีนายตำรวจออกมา “ขู่เพื่อเตรียมพร้อมและให้เข้าตากรรมการ” โดยบอกว่าอาจถูกจับติดคุกได้เพราะเล่นไลน์ และกดไลค์!!) เหมาะแก่การท่องเที่ยว มีโอกาสทางธุรกิจ หางานได้ การบังคับใช้กฎหมายหย่อนยาน (คนอาเซียนไม่อาจไปหากินได้สะดวกในสิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน เพราะเขาเข้มข้นเรื่องคนเข้าเมือง ครั้นจะไปอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว เขมร พม่า ก็ยังไม่มีโอกาสทางธุรกิจเท่าไทย) ดังนั้นจะมีคนอาเซียนจำนวนมากแห่มาประเทศไทย

          เรามีโอกาสเห็นนักท่องเที่ยว โจรขนาดจูเนียร์ล้วงกระเป๋าลักเล็กขโมยน้อย ตัดช่องย่องเบาจนถึงขนาดซีเนียร์ที่จี้ปล้น แรงงานผิดกฎหมาย ฯลฯ ตลอดจนมาเฟียชาติอาเซียนจำนวนมากบนแผ่นดินเรา

          ไม่ว่าจะมีข้อตกลงกันในอาเซียนในภาคบริการใดว่าจะอนุญาตให้คนต่างชาติได้เป็นเจ้าของธุรกิจโดยถือหุ้นต่ำกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม ในบางประเทศที่มีนอมินีขายชาติ (เป็นเจ้าของแต่ในนาม) เราจะเห็นธุรกิจบริการจากต่างชาติมาแย่งธุรกิจของคนในประเทศ และหากไม่มีการดำเนินคดีที่จริงจังเมื่อคนเหล่านี้ถูกจับได้ กฎเกณฑ์เหล่านี้ก็ไร้ความหมาย และ “บางประเทศ” ที่ว่านี้มีโอกาสเป็นประเทศไทยสูง

          ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการจราจร (รถจะติดขัดมากขึ้นกว่านี้หากไม่เพิ่มความจริงจังในการแก้ไขปัญหารถติด) ปัญหาสาธารณสุข (โรคใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้จักก็จะรู้จักมากขึ้น) ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาอุบัติเหตุจากคนอาเซียนอื่นที่เคยชินกับการขับรถชิดขวา ปัญหาคนไทยถูกแย่งงานทำในบางภาคการผลิต ฯลฯ รวมกันจะมีผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย

          การเป็นประชาคมอาเซียนนั้นเป็นโอกาสที่ดีของคนไทยในด้านเศรษฐกิจเป็นพิเศษ แต่ ต้องตระหนักว่าถ้าภาครัฐและเจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่พัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และไม่มีความจริงจังกับการบังคับใช้กฎหมายทั้งการป้องกันและปราบปรามแล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่คุณภาพชีวิตของคนไทยจะลดลงหลังการเป็นประชาคมอาเซียน

          ถ้าสมรรถนะของการแก้ไขปัญหาจราจรยังอยู่ในระดับเดียวกับปัจจุบัน บอกได้เลยว่าหลังการเป็นประชาคมอาเซียนแล้วเราจะสูญเสียทั้งเวลา น้ำมัน สภาพจิตใจ ค่าโสหุ้ยในการดำเนินชีวิตประจำวันและธุรกิจมากกว่าที่เป็นอยู่อีกมากมาย

          ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐไทยจะเป็นตัวตัดสินสำคัญว่าหลังปี 2015 คุณภาพชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร