วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
3 กันยายน 2556
สงครามโต้เถียงเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจกับความกินอยู่ดีของคนอินเดียระหว่าง สองยักษ์นักเศรษฐศาสตร์เชื้อสายอินเดียกำลังเป็นที่ฮือฮาในระดับโลก และมีประโยชน์เพราะจะนำไปสู่ประเด็นถกเถียงในประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ
Amartya Sen นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลขวัญใจชาวโลกกับ Jagdish Bhagwati นักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ผู้สนับสนุนโลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นคู่รักคู่แค้นกันมานานปีระเบิดศึกให้ปรากฏแก่ชาวโลกเมื่อทั้งสองอยู่ในวัย 80 ปี
ทั้งสองเรียนจบปริญญาตรีที่อินเดีย และไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในช่วงเวลาเดียวกันในทศวรรษ 1950 (Manmohan Singh นายกรัฐมนตรีอินเดียคนปัจจุบันซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์มีชื่อก็ศึกษาอยู่ด้วยกัน) Sen จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ส่วน Bhagwati จบปริญญาเอกจาก MIT ปัจจุบัน Sen สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ Bhagwati สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
ชื่อ Amartya นั้นตั้งโดยรพินทรนาถ ฐากูร นักวรรณกรรมรางวัลโนเบิลผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของอินเดียซึ่งเป็นเพื่อนกับตาของเขาผู้เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัย Visva-bharati ด้วยกัน ส่วนพ่อของเขาเป็นอาจารย์สอนเคมีที่มหาวิทยาลัย Dhaka
Bhagwati มีน้องชายเป็นประธานศาลฏีกาและแพทย์ผ่าตัดที่มีชื่อเสียงของอินเดีย ตัวเขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์เจ้าของทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงระดับโลก
ชื่อเสียงของนักเศรษฐศาสตร์เรืองนามทั้งสองไล่คู่กันมาตลอด 50 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี Amartya Sen สนใจและศึกษาปรัชญาอย่างกว้างขวางจนมีงานเขียนและงานวิจัยข้ามสาขาชนิดที่ลงไปสัมผัสชาวบ้านจริง ๆ มากกว่า เรื่องที่สนใจของเขาก็คือความยากจน ปรากฏการณ์อดยากอาหาร (famine) ทฤษฎี Social choice การพัฒนาดัชนีวัด Human Development ทฤษฎีความเป็นธรรม สวัสดิการทางสังคม ฯลฯ Amartya Sen ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์ ในปี 1998
Bhagwati นั้นพัฒนาทฤษฎีการพัฒนาประเทศ และทฤษฎีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เขาสนใจเรื่องโลกาภิวัตน์ การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ความยากจน ฯลฯ
ศึกแตกหักต่อหน้าสาธารณชนครั้งนี้ปะทุขึ้นเมื่อเป็นที่ปรากฏชัดหลังจากอินเดียประสบความสำเร็จในการสร้างการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ (เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 8 ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นที่สองของเศรษฐกิจใหญ่รองจากจีน) แต่ความยากจนอย่างสุด ๆ ของคนอินเดียจำนวนมากก็มิได้หายไปดังเช่นประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ คำถามก็คือมันเกิดอะไรขึ้น
ในหนังสือใหม่ชื่อ “An Uncertain Glory” Sen เขียนร่วมกับ Jean Dreze วิจารณ์ทางการอินเดียในหลายสมัยที่ผ่านมาว่าการไม่ได้ลงทุนอย่างเป็นกอบเป็นกำในโครงการสาธารณสุขและสวัสดิการมีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและประชาชน เนื่องจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับโครงสร้างพื้นฐานด้านสังคมเช่นเดียวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ
Sen และ Dreze ระบุว่าการทุ่มเทพัฒนาจนทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากมายนั้น ผลประโยชน์ไม่ลงไปถึงประชาชนหลายร้อยล้านคน หนึ่งในสามของเด็กที่เสียชีวิตในวัยทารกในโลกเป็นคนอินเดีย หนึ่งในสามของเด็กขาดอาหารในโลกก็เป็นเด็กอินเดีย ความเป็นอยู่โดยทั่วไปของคนจนนั้นไม่ต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในทวีปอาฟริกา
ทั้งสองโทษการเน้นเรื่องธุรกิจการค้าของทางการอินเดียจนละเลยโครงการพัฒนาด้านสังคม ทั้งสองเชื่อว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจมาจากการปรับเปลี่ยนรายได้ให้เท่าเทียมกัน ยิ่งเศรษฐกิจอยู่ในมือของธุรกิจเท่าใดก็ยิ่งหายนะเพียงนั้น
แนวคิดของ Sen เช่นนี้มีมานานแล้วแต่เมื่อมีการยืนยันอีกครั้งในหนังสือเล่มนี้จึงเกิดเป็นเรื่องขึ้นมา เพราะหนังสือเล่มใหม่ของ Bhagwati ชื่อ “Why Growth Matters” เน้นว่าการเจริญเติบโตต้องมาจากการลงทุนขนาดใหญ่ของธุรกิจทั้งในและนอกประเทศภายใต้การกำกับนโยบายของภาครัฐ แล้วการปรับเปลี่ยนรายได้ให้เท่าเทียมกันจึงจะเกิดขึ้นได้
ปัญหาที่เกิดขึ้นของอินเดียนี้ในความเห็นของ Bhagwati มาจากการมีบรรยากาศการลงทุนที่ไม่ดี ไม่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและการอ่านออกเขียนได้ เงินสำหรับโครงการสวัสดิการของรัฐนั้นรั่วไหล รัฐไม่สามารถทำโครงการเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างดีก็เป็นแค่โครงการประชานิยม ภาคธุรกิจเท่านั้นจะเป็นตัวผลักดันสำคัญให้เกิดการเจริญเติบโตซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญที่จะฉุดให้คนหลุดพ้นความยากจน
ทั้งสองสาดคำพูดใส่กันอย่างมันส์ในอารมณ์สำหรับสื่อทั้งในประเทศและระดับโลก Bhagwati นั้นดูจะซัดหนักหน่อย อาจเป็นเพราะอัดอั้นตันใจและเป็นรองมานานถึงแม้จะมีความรู้ไม่แตกต่างกัน เพียงแต่เขาดูเป็นนักเศรษฐศาสตร์แท้ ๆ มากกว่าคู่ปรับที่เป็นทั้งนักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักสังคมวิทยา ฯลฯ ด้วย อีกทั้งมีบทบาทโดยตรงกับประชาชนทั่วโลกมากกว่า
ข้อถกเถียงของทั้งสองคนโดยแท้จริงแล้วไม่มีอะไรใหม่ นักเศรษฐศาสตร์ก็เถียงกันมากว่าร้อยปีแล้ว ทั้งสองแนวมุ่งสู่ความกินดีอยู่ดีของประเทศเพียงแต่วิธีการแตกต่างกัน แนวของ Bhagwati คือเน้นการลงทุน การค้าระหว่างประเทศ และสนับสนุนโลกาภิวัตน์ โดยเชื่อว่ามันจะนำไปสู่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและจะช่วยทำให้ความยากจนลดหายไป
ส่วนแนวของ Sen นั้น เป็นแนวใหม่กว่าและดูจะมีคนที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อถือมากขึ้นเป็นลำดับ แนวนี้บอกว่าการเจริญเติบโตไม่ใช่เป้าหมาย (ends) หากเป็นหนทาง (means) ไปสู่ความกินดีอยู่ดี การเน้นบทบาทของธุรกิจในการลงทุนและการค้าอย่างมากจะนำไปสู่ปัญหามากกว่าทางออก
แนวแรกเชื่อว่าการเจริญเติบโตเกิดจากการลงทุน ซึ่งจะทำให้เกิดงานและรายได้เพิ่มขึ้น อันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเท่าเทียมกันของรายได้ ส่วนแนวหลังต้องปรับเปลี่ยนการเท่าเทียมกันของรายได้ (ช่วยเหลือคนยากจนด้วยโครงการสวัสดิการสังคมขนาดใหญ่) เพื่อเอื้อให้เกิดการเจริญเติบโต มีการเพิ่มขึ้นของงานและรายได้
หากใช้เหตุใช้ผลและศึกษางานวิจัยโดยไม่ใช้ความรู้สึกแต่เพียงอย่างเดียวแล้วก็จะเห็นว่า ทั้งสองแนวคิดถูกต้อง หากแต่การไปสุดโต่งของแต่ละแนวคิดเช่นนี้ไม่น่าจะเป็นผลดี การผสมกลมกลืนทั้งสองแนวคิดอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับเวลาและสถานการณ์ น่าจะเป็นผลดีมากกว่าการเลือกแนวคิดใดแนวคิดเดียวอย่างสุดโต่ง
ไม่ว่าทั้งสองยักษ์จะถกเถียงกันอย่างไร คนจนของอินเดียก็ยังคงจนต่อไปอย่างไม่เห็นทางออก โดยเฉพาะถูกซ้ำเติมในยามนี้ที่ค่าเงินรูปีตกมาก เงินไหลออกมหาศาล ขาดดุลงบประมาณขนาดใหญ่ ข้าวของแพง ฯลฯ ยิ่งสู้กันมันส์เท่าใด หนังสือทั้งสองเล่มก็จะยิ่งขายดีในระดับโลกเพียงนั้น…….และยังคงทำเงินต่อไป