วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
1 ตุลาคม 2556
ในโลกที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัด แนวคิดหนึ่งที่กำลังก่อตัวขึ้นในโลกก็คือการแบ่งปัน (sharing) กันในหลายรูปแบบ คำว่า “sharing economy” และ “collaborative consumption” กำลังเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
ในสิบปีที่ผ่านมาเราเห็นผู้คนร่วมมือและแบ่งปันกันในหลายเรื่องใหญ่ของโลก เช่น open source (ซอฟต์แวร์ที่เปิดเผยสิ่งที่เรียกว่า source code จนทำให้คนอื่นสามารถร่วมต่อยอด ได้) เว็บไซต์ Wikipedia ที่คนนับล้าน ๆ คนในโลกช่วยกันเขียนเนื้อหาของเรื่องต่าง ๆ ขึ้นเพื่อให้ค้นหากันได้ในแนวเอนไซโคพีเดีย time sharing (การเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยที่มีการหมุนเวียนผลัดกันไปพักในสถานตากอากาศต่าง ๆ หรือให้คนอื่นเช่า) เสื้อผ้าหรือของมือสอง (เอาของที่ไม่ใช้แล้วมาให้คนอื่นร่วมใช้โดยการขายหรือให้เช่า) homestay (การแบ่งปันให้พักในบ้านโดยเก็บค่าเช่า) ไอเดีย car pooling ฯลฯ
หนังสือชื่อ “What’s Mine is Yours (2010)” โดย Bachel Botsman เสนอความคิดในเรื่องการบริโภคชนิดร่วมมือกัน (collaborative consumption) ซึ่งหมายถึงการแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนสารพัดสมบัติ ตั้งแต่รถยนต์ ห้องในโรงแรม เก้าอี้รับแขก ฯลฯ อย่างหลากหลายลักษณะในระดับกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งทั้งหมดเป็นไปได้ก็เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่
share economy หรือ sharing economy เป็นอีกคำหนึ่งที่เกิดกลางทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีความหมายครอบคลุมระบบของเศรษฐกิจและสังคมซึ่งทำให้เกิดการร่วมกันเข้าถึงการบริโภคสินค้าและบริการตลอดจนข้อมูลข่าวสาร หัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจนี้ก็คือเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งอำนวยให้เกิดการร่วมกันใช้หรือแบ่งปันส่วนที่เหลืออยู่และไม่ได้ใช้ (excess capacity) ของหลายสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา
ลักษณะหนึ่งของ share economy ที่กำลังเกิดขึ้นในภาคการท่องเที่ยวก็คือ sharecations (share + vacations) ซึ่งหมายถึงการแบ่งปันร่วมกันใช้สรรพสิ่งที่เกี่ยวพันกับการท่องเที่ยว
collaborative consumption เป็นแนวคิดซึ่งครอบคลุม (1) ระบบการผลิต (2) สไตล์การใช้ชีวิต และ (3) การเปลี่ยนลักษณะของตลาด
ไอเดียของการเอาส่วนที่เหลือไม่ใช้ของ CPU ของคอมพิวเตอร์มารวมกันเป็นพลังโดยไม่ต้องสูญเสียทรัพยากรผลิต CPU ขนาดใหญ่ ตลอดจนการเช่าโรงงานเพื่อผลิตสินค้าคือแง่มุมของระบบการผลิต
ส่วนสไตล์การใช้ชีวิตนั้นถ้าเป็นภาคการท่องเที่ยวก็ได้แก่ sharecations ตัวอย่างได้แก่การไปเที่ยวด้วยกันเป็นกลุ่มเพื่อแชร์ค่าเดินทาง การให้เช่าโซฟาในบ้านให้นักท่องเที่ยวนอนพัก การแชร์ห้องในโรงแรม (ไม่ถึงกับแชร์เตียงครับ) homestay การเปิดครัวที่บ้านทำอาหารขายแบบภัตตาคาร ฯลฯ
สำหรับเรื่องการตลาดในลักษณะที่ (3) นั้นจะเห็นได้ว่าการขายเสื้อผ้าใช้แล้ว การให้เช่ารถหรือเครื่องจักรอุปกรณ์ หรือเครื่องครัว time sharing ของที่อยู่อาศัย การให้เช่าที่พักในระยะเวลา สั้น ๆ เช่น ฤดูร้อน ฯลฯ เกี่ยวพันกับระบบการซื้อขายที่แตกต่างไปจากที่เคยเป็นมา
ถ้าไม่มี IT ที่ก้าวหน้าให้ข้อมูลในเรื่องการบริโภคร่วมกันแล้ว sharecations ก็เกิดไม่ได้ ปัจจุบันมีเว็บไซต์สำคัญเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในแนวแบ่งปันนี้ เช่น airbnb / couchsurfer / vayable / camaryhop ฯลฯ
เว็บไซต์เหล่านี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแบ่งปันและร่วมมือกันในการเดินทาง การหาที่พักราคาถูกและมีคุณภาพ โดยเฉพาะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และหาเพื่อนมาร่วมแบ่งปัน
สิ่งที่อยู่ในใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็คือความไว้วางใจกัน จะให้นักท่องเที่ยวมานอนในโซฟาที่บ้าน มาใช้ห้องน้ำ มาใช้ครัวร่วมกัน ต้องแน่ใจว่าไม่ใช่โจรที่แปลงร่างมา คนมาพักก็ต้องเชื่อใจเพื่อนร่วมพักและเจ้าของที่พัก เว็บไซต์เหล่านี้เสนอหนทางตรวจสอบตัวตนจริงและส่งเสริมไอเดียแบ่งปัน
มีการประมาณการว่าตลาดของ sharecations ในโลกมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และนับวันจะเพิ่มมากขึ้นทุกทีอย่างคู่ขนานไปกับอำนาจซื้อของชาวโลก ความหลากหลายในสไตล์การดำรงชีวิตและไอเดียในการทำมาหากิน ตลอดจนการใช้ประโยชน์จาก IT เพื่อแบ่งใช้สิ่งต่าง ๆ ร่วมกัน (ทำไมจะทิ้งให้ห้องที่บ้าน และโซฟาที่ไม่ค่อยมีใครใช้ไว้โดยเปล่าประโยชน์ ในขณะที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากอยากมีประสบการณ์ในการพักในบ้านของผู้คนในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ไปเที่ยวเพื่อลดค่าใช้จ่ายและเรียนรู้วัฒนธรรม)
เป็นที่ชัดเจนขึ้นทุกทีว่า sharing คือคำตอบของชาวโลกในการแก้ไขปัญหาความจำกัด อย่างไรก็ดี collaboration consumption จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกผู้เกี่ยวพันมีภาพในใจ (mindset) ที่พร้อมต่อการแบ่งปันใช้ร่วมกัน และมีกฎกติกาซึ่งอำนวยให้เกิดความไว้ใจกัน ซึ่งในภาคการท่องเที่ยวแล้วความไว้วางใจกันเป็นหัวใจสำคัญของ sharecations
การใช้ทรัพยากรที่จำกัดอย่างฟุ่มเฟือยและการไม่ร่วมกันแบ่งปันใช้ทรัพยากรส่วนที่มีเหลืออยู่และไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ล้วนเป็นอาชญากรรมของมนุษยชาติทั้งสิ้น