ความสะดวกในชีวิตและเทคโนโลยี

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
29 ตุลาคม 2556

          สิ่งที่น่าเบื่อหน่ายที่สุดของคนใช้รถแท็กซี่ในกรุงเทพมหานครก็คือการปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารโดยอ้างสารพัดเหตุ การปฏิเสธไม่รับเช่นนี้โดยแท้จริงแล้วผิดกฎหมาย แต่คนไทยก็เป็น คนไทยคือรอมชอมกันทั้งคนที่เห็นความผิดซึ่งหน้าและคนที่มีหน้าที่คอยจับคนทำผิด โดยธรรมชาติมนุษย์นั้นถ้าคนคิดจะทำผิดกฏหมายคาดว่าตนเองมีโอกาสถูกจับได้สูงก็จะไม่ทำ ในเรื่องให้คนท้อใจไม่กล้าทำผิดกฎหมายนั้นเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถช่วยได้มาก

          ก่อนหน้ารัฐบาลคุณอานันท์ ปันยารชุน 2-3 ปี รถแท็กซี่มีสภาพเหมือนโลงศพ คนขับต้องง้อเจ้าของอู่ ถึงแม้เช่าไปและรถเสียก็ยังต้องจ่ายค่าเช่า สาเหตุที่สำคัญก็คือกฎของทางการที่จำกัดจำนวนรถแท็กซี่ในกรุงเทพมหานคร

          การจำกัดจำนวนใบอนุญาตรถแท็กซี่ไว้คงที่ทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เป็นเจ้าของใบอนุญาตอยู่แล้ว กล่าวคือมันทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ” (economic rent) เจ้าของใบอนุญาตได้รับผลตอบแทนมากเกินกว่าที่ตนเองจะได้รับหากแม้นว่าเป็นการแข่งขันเสรีซึ่งไม่มีการจำกัดใบอนุญาต ในยุคนั้นมีการขายใบอนุญาตกันถึง 5-6 แสนบาท

          สภาพรถนั้นไม่ต้องไปสนใจ ถึงเกือบพังคนก็ขึ้นเพราะหารถยาก เจ้าของรถก็สนุกกับการเก็บเงินจนไม่ดูแล เมื่อจำนวนรถมีจำกัดและมีคนขึ้นมาก ค่ารถแท็กซี่ก็แพงมหาโหดเป็นธรรมดา เมื่อคุณนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลชุดนั้นก็เปิดเสรีแท็กซี่ในกรุงเทพมหานคร และเราก็เห็นรถแท็กซี่สีลูกกวาดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

          วันเวลาผ่านไป เศรษฐกิจขยายตัวพร้อมกับแท็กซี่เสรี ค่าเช่าทางเศรษฐกิจก็กลายเป็นสูญ สภาพรถก็ดีขึ้น ค่าโดยสารก็พอขึ้นกันได้ แต่การใช้บังคับกฎหมายในเรื่องการปฏิเสธผู้โดยสารหย่อนยาน คนขับแท็กซี่บางส่วนก็ทำตัวน่าระอา นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนไม่น้อยบ่นเรื่องนี้ในโลกไซเบอร์

          สิ่งที่จะเป็นลักษณะ win-win ในเรื่องแท็กซี่ก็คือผู้โดยสารได้รับความสะดวกในการใช้และผู้ขับไม่ต้องวิ่งรอกจนเสียน้ำมันหรือก๊าซเกินสมควร หลายเมืองในโลกปัจจุบันใช้ application บนมือถือที่สร้างขึ้นโดยบริษัทเอกชน ผู้โดยสารที่เคยชินกับการโบกรถริมถนนก็ทำต่อไป แต่หากใช้ application เรียกรถแท็กซี่ก็จะมีคนขับที่อยู่ใกล้เคียงตอบรับกลับมาโดยตรง ทันทีนั้นชื่อ รูปคนขับ พร้อมเลขทะเบียนรถและภาพรถคันนั้นก็ปรากฏขึ้นบนมือถือของเธอ และรถคันที่อยู่ใกล้ที่สุดนั้นก็จะมารับเธอ

          โจฮันเนสเบิร์ก ลอนดอน โอซาก้า ซานฟรานซิสโก มอสโคว์ นิวยอร์ก สิงคโปร์ ฯลฯ รวมแล้วกว่า 49 เมืองใน 19 ประเทศใช้ application ที่สร้างขึ้นโดยบริษัทข้ามประเทศเช่นว่านี้แก้ไขปัญหาผู้โดยสารหารถไม่ได้และคนขับหาผู้โดยสารไม่ได้ เมื่อมีจุดร่วมกันผ่าน application เช่นนี้ win-win ก็เกิดขึ้นได้

          ในบ้านเราปัจจุบันใช้การโบกรถ (ถ้าโชคดีมีรถผ่านมาและกรุณายอมรับเราขึ้นรถ) หรือใช้โทรศัพท์เรียกรถ (ถ้าไม่เหี่ยวไปซะก่อนที่โอเปอร์เรเตอร์จะรับสายและมีรถให้เราใช้ และถ้ามีรถมาจริงโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน) ซึ่งแท้จริงไม่มีประสิทธิภาพทั้งสองวิธี วิธีแรกขึ้นอยู่กับความบังเอิญที่สองฝ่ายมาพบกัน วิธีที่สองขึ้นกับระบบและประสิทธิภาพของการจัดรถให้ตรงกับคนโดยมีโอเปอเรเตอร์เป็นคนกลาง

          ในระบบโทรศัพท์เรียกรถ ศูนย์รับโทรศัพท์ก็จะวิทยุเรียกรถที่อยู่ใกล้ที่สุด ซึ่งเป็นสิทธิของคนขับที่จะไปจุดนั้นหรือไม่ก็ได้ บ่อยครั้งถ้ารับจะไปก็ต้องเป็นเส้นทางไกล ๆ (ชอบมากที่สุดคือสุวรรณภูมิ)

          ถ้ากระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพจัดการให้มี application ลักษณะนี้ขึ้น ผู้โดยสารก็จะไม่ต้องพึ่งศูนย์เรียกรถแท็กซี่อีกต่อไป ผู้บริโภคมีความคล่องตัวมากขึ้นในการใช้บริการ (รู้แน่ว่ามีรถมา ถ้าไม่มาก็ไปฟ้องกรมการขนส่งทางบกได้เพราะมีชื่อและรูปคนขับตลอดจนเลขทะเบียน) คนขับแท็กซี่ก็ประหยัดค่าโสหุ้ยในการประกอบอาชีพไปได้มาก ไม่ต้องกังวลกันเรื่องการปฏิเสธรับเพราะคนขับได้ตัดสินใจที่จะเลือกไปรับผู้โดยสารคนนั้นแล้ว

          ในต่างประเทศมีการตื่นตัวในการใช้เทคโนโลยีไอซีทีเพื่อเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในอีกหลายด้าน เช่น ในเกาหลีประชาชนสามารถใช้บริการขอสำเนาทะเบียนราษฎร์ ทะเบียนเกิด ใบรับรองว่าเรียนจบ ชั้นต่าง ๆ สำเนาใบเสียภาษี ฯลฯ รวมแล้วกว่า 50 บริการจากตู้ที่ทางการตั้งไว้ที่ว่าการอำเภอ หรือประชาชนสามารถดาวน์โหลดขอสำเนาเหล่านี้ได้จากมือถือที่พ่วงกับเครื่องพิมพ์โดยไม่ต้องเดินทางไปหน่วยงานราชการแห่งใดทั้งสิ้น

          ในเมืองใหญ่ ๆ ของหลายประเทศมีบริการ Wi-Fi ฟรีเกือบทุกจุดสำหรับผู้ใช้มือถือ ในกรุงโซลและเมืองใหญ่อื่น ๆ ของเกาหลีมีบริการ Wi-Fi ฟรีอยู่ทั่วไปหมด ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถใช้ได้อย่างสะดวก โดยไม่ต้องมีการลงทะเบียนให้ยุ่งยากน่ารำคาญใจ

          กฎหมายอินเตอร์เน็ตในบ้านเราที่บังคับให้มีการลงทะเบียนชื่อผู้ใช้ Wi-Fi สาธารณะ (บางแห่งทุกครั้งที่มีการใช้ด้วย) สมควรมีการทบทวน ทางโน้มของโลกในปัจจุบันก็คือการให้บริการอินเตอร์เน็ต Wi-Fi ฟรีและสามารถใช้ได้อย่างสะดวกโดยถือว่าเป็นบริการพื้นฐานของประชาชนเช่นเดียวกับไฟฟ้า น้ำ และประปา

          แนวคิดระมัดระวังความปลอดภัยเพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่ามีมาตรการในเรื่องความปลอดภัย ของประเทศเราตามกฎหมายนั้นล้าสมัยอย่างสมควรมีการทบทวน เหตุใดเกาหลี (ใต้) ซึ่งเป็นประเทศที่ระวังในเรื่องความปลอดภัยและความอยู่รอดของประเทศอย่างยิ่งเนื่องจากมีปัญหาปวดหัวจากเกาหลีเหนือ จากญี่ปุ่นและจีนอดีตผู้รุกรานมายาวนานในประวัติศาสตร์ จึงมีฟรี Wi-Fi ได้อย่างเสรีและสะดวกจนประทับใจทุกคนที่ไปเยือน

          การมีบริการอินเตอร์เน็ต Wi-Fi ฟรีทั่วทั้งกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ ๆ นั้นใช้เงินทองน้อยกว่ารถไฟฟ้าความเร็วสูงหนึ่งเส้นทางอย่างเทียบกันไม่ได้ (ตราบใดที่ไม่ถูกหลอกเรื่องราคา หรือเต็มใจให้หลอก) และมีประโยชน์โดยตรงแก่ผู้คนทั่งไป ซึ่งต่างจากโครงการรถไฟที่ผู้รับได้ประโยชน์โดยตรงคือผู้โดยสารรถไฟเท่านั้น

          ปัญหาความไม่สะดวกในการดำรงชีวิตประจำวันของสมาชิกสังคมในปัจจุบันแก้ไขได้ด้วยสติปัญญาและการรู้จักใช้เทคโนโลยี ตราบที่ผู้แก้ไขมีความจริงใจและไม่มีวาระซ่อนเร้นของการเขมือบในทุกระดับ