พรางตานิรโทษยังไม่เนียนพอ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
12 พฤศจิกายน 2556

          อยู่มาจนแก่ป่านนี้ยังไม่เคยเห็นปรากฏการณ์การประท้วงของประชาชนครั้งใดในประเทศนี้ที่ยิ่งใหญ่และกว้างขวางดังที่เกิดขึ้นในกว่าหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา น่าสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้น

          เมื่อได้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับเก่า ๆ ที่กล่าวถึงตอนแรกของการชุมนุม ก็รู้ได้ทันทีว่าเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติประเมินผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย (ไม่เข้าใจว่ามาเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐบาลได้อย่างไร เพราะชาติกับรัฐบาลนั้นไม่เหมือนกัน) ท่านบอกว่าม็อบมีไม่กี่พัน ไม่กี่วันก็เลิกชุมนุมไปเอง ตัวรัฐบาลเองก็ดูจะมั่นใจว่าทุกอย่างจะเดินไปได้สะดวก หลังจากการ “ข่มขืน” โดย ส.ส. 300 กว่าคนในสภาฯ ในวาระ 2 และวาระ 3 ของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้

          มันเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้ในปัจจุบันรัฐบาลหวาดหวั่น ตัวสั่นงันงกเกรงว่าการประท้วงร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมจะกลายเป็นการขับไล่รัฐบาลและ “ระบบทักษิณ” ไป ปรากฏการณ์นี้มีสาเหตุมาจากไม่น้อยกว่า 3 เรื่องดังต่อไปนี้

          เรื่องแรก มนุษย์ทุกผู้นามโดยธรรมชาติมีความตระหนักว่าอะไรคือความถูกต้องด้วยกันทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันออกไป ในเรื่องนี้เมื่อเข้าใจเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็รู้ได้ทันทีว่ามันไม่ถูกต้องอย่างฉกรรจ์เพราะ

          (ก) มันเป็นการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดทุจริตคอรัปชั่น ฉ้อราษฏร์บังหลวง หรือโกงบ้านเมืองอย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย กล่าวคือไม่เพียง นิรโทษกรรมแก่ผู้ทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมืองเท่านั้น หากยังครอบคลุมไปถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องกล่าวหาก่อนหน้านี้และเรื่องมันต่อเนื่องมาด้วย โดยย้อนให้ไปถึงวันที่ 1 มกราคม 2547 ดังนั้นช่วงเวลาของนิรโทษกรรมคือ 1 มกราคม 2547 ถึง 8 สิงหาคม 2556

          …..อุแม่เจ้า…..นอกจากนิรโทษผู้ชุมนุมแล้ว ยังรวมไปถึงนิรโทษการถูกกระทำจากองค์กร (มิได้นิรโทษการกระทำของบุคคล) ที่ตั้งขึ้นหลัง 19 กันยายน 2549 และองค์กรอื่น ๆ ที่ดำเนินการเรื่องไว้ก่อนหน้าจนมีเรื่องสืบเนื่องต่อมาให้องค์กรจัดตั้งหลังรัฐประหารเดินเรื่องต่อด้วย

          พูดง่าย ๆ ก็คือทุกเรื่องที่ ปปช. กกต. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ฯลฯ ดำเนินการ ให้ผู้ถูกดำเนินคดีได้รับนิรโทษกรรมหมดทุกคน ถ้าสืบสวนอยู่ก็ให้เลิก ถ้าค้างอยู่ในศาลก็ให้ศาลพิพากษายกฟ้อง (กฎหมายฉบับนี้ไป สั่งศาล) ถ้าติดคุกอยู่ก็ให้ปล่อยทันที

          (ข) ดูเผิน ๆ ช่วงเวลาที่ครอบคลุมก็คือ 9 ปี คือจาก 1 มกราคม 2547 ถึง 8 สิงหาคม 2556 แต่หากดูให้ดี ๆ อาจย้อนถึง 18-19 ปีก็ได้ เพราะเรื่องที่ ปปช. หรือองค์กรอื่นซึ่งตั้งขึ้นก่อนรัฐประหาร 2549 ดำเนินการสอบสวนกล่าวหา อาจค้างย้อนหลังไปถึง 9-10 ปีก็เป็นได้ ดังนั้นเมื่อรวมกับ 9 ปี ผลก็อาจเป็นการนิรโทษความผิดที่เกิดขึ้นเมื่อ 18-19 ปีก่อน ที่น่าสังเกตก็คือเรื่องที่ถูกกล่าวหาในช่วง 2547-2549 ก็คือที่ดินรัชดา คดีกรือเซะ ตากใบ ฯลฯ และคดีใหญ่ ๆ อีก 24 คดีที่ คตส. ทำและมอบให้ ปปช. ดำเนินการต่อก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย

          เรื่องที่ถูกสอบสวนโดยองค์กรที่ตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร เพียง ปปช. นั้นมีรวม 25,331 คดี (เป็นคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง 400 คดี เป็นคดีของเจ้าหน้าที่ทั่วไป 24,931 คดี ในจำนวนนี้มีคดีทุจริตที่ชี้มูลความผิดแล้ว 666 คดี) คดีเหล่านี้หลุดหมดทั้งสิ้น ถ้ารวมคดี กกต. และองค์กรอื่น ๆ อีกก็อาจถึง 4,000-5,000 คดี คดีทั้งหมดนี้เป็นคดีทุจริตเกือบทั้งสิ้น

          ที่อัศจรรย์ก์คือกฎหมายังลากยาวลงมาถึง 8 สิงหาคม 2556 ซึ่งทำให้ครอบคลุมไปถึงคดีทุจริตจำนำข้าว โครงการน้ำ (โครงการโครงสร้างพื้นฐาน 3 ล้านล้านบาท? ที่อาจเกิดขึ้นแล้วด้วยทั้งที่ยังไม่มีงบประมาณ) และทุกข้อกล่าวหาทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลนี้ทั้งหมด (น่าจะคลุมไปถึงวันเลือกตั้งครั้งหน้าเสียเลย) ซึ่งองค์กรเหล่านี้กำลังดำเนินการอยู่ซึ่งหมายความว่าจะได้รับนิรโทษกรรมทั้งหมดด้วย

          นิรโทษกรรมหมายถึงพ้นผิดและไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังที่ถูกกล่าวหาเลย (น่าสงสารคนสุจริตที่ไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ความผิดเพราะได้รับนิรโทษกรรมแบบเหมาเรือบรรทุกน้ำมันเสียก่อน) ดังนั้นจึงลงเลือกตั้งได้ ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ได้เหมือนคนอื่น ๆ)

          เรื่องสอง ผู้ชุมนุมมาเพราะความโกรธที่ถูก “ตบหน้า” โดยผู้ชำเรา 300 กว่าคน โกรธที่คนเหล่านี้ไม่เห็นหัว ไม่รู้สึกเกรงใจเจ้าของประเทศตัวจริง เห็นเขาเป็น “คนกินแกลบ” เห็นเขาเป็นควายที่จะสนตะพายทำอะไรก็ได้เพราะมีเสียงข้างมากในสภา และโกรธ ๆ ๆ ๆ ผู้สั่งการ

          เรื่องสาม ผู้ชุมนุมรู้สึกว่ามัน “มากไป” หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือมันเกินเลยความพอดีไปมาก ดังเช่นมาตรา 6 เขียนไว้ชัดเจนว่า “การดำเนินการใด ๆ ตาม พ.ร.บ. นี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคล…..ในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง”

          เรียกว่าพ้นผิดจากการทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวงยังไม่พอ พ.ร.บ.ยังเปิดช่องไว้อ้าซ่าอย่างชัดเจนให้คืนเงินที่โกงมาแก่ผู้โกงอีกด้วย ดังนั้นไม่ว่าเงินกี่หมื่นล้านที่มีการยึดมา เงินสดกี่สิบล้านซึ่งเป็นคดีที่คนกว่าสิบคนเข้าไปขนในบ้านจนปลัดกระทรวงใหญ่แห่งหนึ่งถูกยึดทรัพย์ก็ต้องคืนเขาไปทั้งหมดด้วย…..พร้อมกับดอกเบี้ย

          นอกจากนี้เงินที่ ก.ก.ต. เรียกเก็บจากการต้องจัดเลือกตั้งใหม่เพราะคนสมัครรับเลือกตั้งโกงก็ต้องคืนเขาพร้อมกับการพ้นผิดอีกด้วย คนโกงเลือกตั้งที่ กกต. ลงโทษจะเป็นผู้บริสุทธิ์ทันที เช่นเดียวกับคดีของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก็ต้องคืนเงินเขาและปล่อยตัวเขาให้เดินยิ้มกลับบ้านอย่างเท่ ๆ อีกด้วย บรรดาคดีต่าง ๆ ที่มีการสอบสวนอยู่ก็ต้องเลิกไปทั้งหมด

          อุแม่เจ้า…..มันช่างเป็นสวรรค์ของคนโกงอะไรเช่นนี้

          เขียนแค่นี้ก็เกิดอารมณ์ ของขึ้นแล้ว สิ่งต่าง ๆ ที่สอนลูกสอนเยาวชนว่าการทุจริตเป็นเรื่องชั่วร้ายก็ไม่จริงเสียแล้ว เพราะมันพ้นผิดกันได้เสมอ ผิดเป็นถูกได้ถ้ามีเสียงในสภามากพอที่จะ “ข่มขืน” ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใดก็ได้

          หาก พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้รับรองได้ว่าคนต่างชาติต้องตะลึงกับนวตกรรมชิ้นใหม่ของโลกที่มั่นใจว่ายังไม่มีที่ใดในโลกที่นิรโทษกรรมคนโกงบ้านเมืองแถมคืนเงินที่โกงมา ทั้งหมดนี้เป็นอาหารเมนูหลัก ส่วนนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมตัวเล็ก ๆ นั้นมันเป็นน้ำจิ้ม

          ที่น่าสงสัยก็คือเนื้อหาที่วิปริตพิกลพิการใน พ.ร.บ. ฉบับนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร…..ทั้งหมดนี้เป็นไปเพียงเพื่อการพรางตา เพราะของจริงที่ต้องการนิรโทษมันหลบอยู่ข้างในอย่างพยายามทำให้เนียน ๆ ?