วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
11 กุมภาพันธ์ 2557
การชุมนุมประท้วงรัฐบาลในยูเครนดำเนินมาได้กว่า 2 เดือนซึ่งสั้นกว่าไทย 1 เดือน ทั้งสองมีหลายลักษณะที่คล้ายกันอย่างน่าสนใจ
ยูเครนเป็นประเทศตั้งอยู่ใจกลางยุโรปตะวันออก ทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกติดรัสเซีย ตะวันตกติดโปแลนด์ สโลวาเกีย และฮังการี ส่วนตะวันตกเฉียงเหนือติดเบลารุส ยูเครนมีประชากร 45 ล้านคน มีพื้นที่ประมาณ 600,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมากกว่าไทยร้อยละ 20
ยูเครนถูกผนวกเข้าเป็นรัฐหนึ่งของสหภาพโซเวียตตั้งแต่ ค.ศ. 1922 และได้อิสรภาพกลับมาอีกครั้งหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายใน ค.ศ. 1991 คนยูเครนได้อิสรภาพสมใจหลังจากต่อสู้มายาวนาน ในสงครามโลกครั้งที่สองประเทศถูกทำลายย่อยยับ ประชาชน 5-8 ล้านคนตาย ในสงคราม
ประเทศนี้โด่งดังจาก ‘ปฏิวัติสีส้ม’ (Orange revolution) ซึ่งนำโดยประชาชนนับล้านคนเพื่อประท้วงผลการเลือกตั้งในปี 2004 และจากการรั่วของกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เชอร์โนบิล ในปี 1986
การประท้วงใหญ่ครั้งนี้สื่อตะวันตกลงข่าวไปในทิศทางเดียวกันว่ามาจากพวกหัวรุนแรงซึ่งไม่พอใจประธานาธิบดี Viktor Yanukovych ที่เปลี่ยนใจไม่ลงนามเอกสารแสดงเจตจำนงค์ในการเข้าเป็นสมาชิก EU แต่กลับไปรับความช่วยเหลือจากประธานาธิบดี Putin แห่งรัสเซียแทน ข่าวที่คนต่างประเทศได้รับมาเป็นทำนองว่าการประท้วงเป็นสงครามตัวแทนระหว่างฝ่ายตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกากับฝ่ายรัสเซีย
อย่างไรก็ดีมีข้อเขียนจากชาวยูเครนบางคนที่สามารถส่งผ่านอินเตอร์เน็ตออกมาได้เล่าว่าเหตุใดผู้คนนับล้านจึงออกมาประท้วงปิดกั้นถนนสายหลักที่นำไปสู่ ‘จตุรัสอิสรภาพ’ (Independent Square) และเข้ายึดอาคารหลายหลังรอบบริเวณนั้น ปิดอาคารทำการของเทศบาล สภาหอการค้า ฯลฯ ซึ่งอยู่ในย่านการค้าสำคัญ
บนถนนมีเต็นท์แบบทหารตั้งอยู่เต็ม ผู้คนประกอบอาหารและแจกแก่ผู้ชุมนุมประจำและที่มาตอนเย็นท่ามกลางอากาศ –12C หัวถนนก็ปิดกั้นโดยกองหิมะใหญ่ เศษไม้ ยาง โลหะ ฯลฯ มีป้ายแขวนข้อความต่าง ๆ ใครจะเข้าไปในค่ายข้างในได้ต้องเดินผ่านช่องแคบ ๆ ที่มีการ์ดซึ่งเป็นอดีตทหารคอยตรวจอย่างแข็งขัน
ประท้วงกันมาสองเดือนมีคนตายไป 5 คน บาดเจ็บอีกนับร้อยคน ในตอนแรกของการชุมนุมนั้นเป็นไปอย่างสงบไม่รุนแรงและไม่มีใคร ‘เรียกแขก’ มากนัก จนกระทั่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ “แบร์คุต” ซึ่งเป็นตำรวจที่ฝึกมาเพื่อการกวาดล้างพวกต่อต้านรัฐเข้าสลายนักศึกษาผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง จนทำให้คนยูเครนโกรธแค้นและหลั่งไหลกันมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลเป็นเรือนล้าน นับแต่นั้นมากระแสต่อต้านก็รุนแรงขึ้นเป็นลำดับ
ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ผู้คนออกมาก็คือการคอรัปชั่นอย่างกว้างขวางของประธานาธิบดีและครอบครัว การผูกขาดธุรกิจอันเป็นผลจากอำนาจกระจุกตัวอยู่ในหมู่คนรอบข้างประธานาธิบดี การไม่ได้รับความยุติธรรม และการไม่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่วนรวมของเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ตลอดจนการใช้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีฝ่ายตรงข้าม คนชั้นกลางเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของการประท้วงครั้งนี้เพราะถูกกระทำมากที่สุด
ประชาชนมีเชื้อความไม่พอใจประธานาธิบดีที่เล่นการเมืองแบบสกปรก (เมื่อชนะ นาง Yulia Tymoshenko อดีตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งแล้วก็ใช้อำนาจส่งเธอเข้าคุก 7 ปี เมื่อเธอออกมาหลังจากติดคุกไม่นานก็เป็นหนึ่งในหัวหน้าฝ่ายค้านในปัจจุบัน) ครอบงำการบริหารประเทศและศาล เปลี่ยนระบบรัฐสภาเป็นประธานาธิบดี และใช้อำนาจรวบอัยการ ศาล กรมสรรพากรมาไว้ในมือ
Viktor Yanukovych ใช้อำนาจสร้างความเป็นเผด็จการเพื่อพยายามครองอำนาจให้นานที่สุดและเพื่อขยายธุรกิจของตัวเอง ฝ่ายค้านถูกข่มขู่และบ้างถูกอุ้มฆ่า สื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ถูกครอบงำและแทรกแซงเบ็ดเสร็จ จนแม้แต่สื่ออินเตอร์เน็ตก็ถูกควบคุม
คนยูเครนโดยแท้จริงแล้วปรารถนาอิสรภาพของประเทศโดยต้องการให้หลุดพ้นจากอำนาจอันล้นฟ้าของประธานาธิบดีและพรรคพวก และจากอำนาจของรัสเซียซึ่งพยายามแผ่กลับเข้ามาอีกครั้งอย่างแข็งขันผ่านผลประโยชน์ เช่น ให้เงินกู้โดยซื้อพันธบัตรยูเครนมูลค่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดราคากาซที่ยูเครนนำเข้าจากรัสเซีย ฯลฯ
สาเหตุที่สื่อต่างประเทศไม่รายงานให้ครบถ้วนถึงสาเหตุที่แท้จริงของการประท้วงโดยกล่าวถึงเพียงประเด็น EU กับรัสเซียเท่านั้นก็เป็นเพราะว่าฝ่ายรัฐบาลได้ซื้อบริษัทสื่อใหญ่ของโลกที่ตีพิมพ์นิตยสารทรงพลังต่าง ๆ จนมีอิทธิพลต่อการนำเสนอข่าวให้ชาวโลกได้รับทราบ
มาถึงตรงนี้ถ้าเอาปากกาขีดคำว่ายูเครนออกและใส่ไทยเข้าไปแทนก็จะได้ข้อความที่สามารถสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาได้ใกล้เคียงอย่างน่าอัศจรรย์ใจ
อย่าหลงประเด็นว่ากลุ่มประท้วงยูเครนคือพวกหัวรุนแรงนิยม EU แท้จริงแล้วพวกเขากำลังพยายามใช้พลังประชาชนล้มประธานาธิบดีผู้ลุแก่อำนาจซึ่งเป็นตัวแทนของความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นในยูเครน ไม่ว่าจะเป็นคอรัปชั่น การผูกขาดอำนาจ การครอบงำการบริหารประเทศรวมทั้งตำรวจ อัยการและศาล การข่มขู่ฝ่ายค้าน การปิดกั้นเสรีภาพของสื่อ การลุแก่อำนาจโดยใช้เสียงส่วนใหญ่อย่างขาดนิติธรรม
ในวันนี้นายกรัฐมนตรี (ยูเครนครับ) ได้ลาออกและคณะรัฐมนตรีหลุดออกจากอำนาจหมดแล้ว ประธานาธิบดีกำลังจะจัดให้มีเลือกตั้งใหม่ คอยดูกันซิว่าเขาจะมี ‘เลือกตั้งล่วงหน้า’ ที่เกิดขึ้นหลังวันเลือกตั้งจริงจนเป็น ’เลือกตั้งล่วงหลัง’ เหมือนบ้านเราไหม