วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
4 มีนาคม 2557
การประท้วงในยูเครนซึ่งเรียกได้ว่าเป็นประท้วงแฝดกับบ้านเราดำเนินมาเป็นเวลายาวนานใกล้เคียงกับประเทศไทยได้จบลงไปแล้วอย่างมีบทเรียนที่น่าสนใจสำหรับสังคมไทย
ยูเครนเคยเป็นรัฐหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียตและเป็นมิตรที่ใกล้ชิดกันมาก เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลงยูเครนก็ประกาศเอกราชใน ค.ศ. 1991 ในหลายปีต่อมาเมื่อรัสเซียพี่ใหญ่ตั้งตัวติดโดยมีประธานาธิบดีปูตินคนปัจจุบันเป็นผู้นำก็ต้องการกลับมามีอิทธิพลในภูมิภาคนี้อีกครั้ง ยูเครนจึงกลายเป็นตัวหมากรุกของสองฝั่งมหาอำนาจคือ EU ร่วมกับสหรัฐอเมริกา และรัสเซีย
โดยพื้นฐานแล้วการประท้วงครั้งนี้มีสาเหตุจากหลายประการ กล่าวคือประการแรก รัฐบาลที่มีนายยานูโควิชเป็นประธานาธิบดีนั้นเอียงไปทางพึ่งพารัสเซียมาก ในขณะที่คนชั้นกลางต้องการให้เปิดกว้างไปสู่โลกตะวันตกคือ EU และสหรัฐอเมริกา
ประการที่สอง ประชาชนเบื่อหน่ายประธานาธิบดีที่ลุแก่อำนาจ พยายามผูกขาดธุรกิจร่วมกับพรรคพวก รวบอำนาจตำรวจ ศาล สรรพากร มาไว้ที่ตนเอง เล่นการเมืองสกปรก ฆ่าฟันคู่ต่อสู้ ปราบปรามสื่อเอาไว้ในมือจนไม่มีใครหือ เปลี่ยนการปกครองจากระบบสภาผู้แทนราษฎรที่นายกรัฐมนตรีมีบทบาทสำคัญมาเป็นระบบประธานาธิบดี ทั้ง
ประเทศอุดมด้วยคอรัปชั่น เจ้าหน้าที่ความมั่นคงปฏิบัติตัวต่อผู้ไม่เห็นด้วยอย่างไม่เป็นธรรม สรุปสั้น ๆ ว่านายยานูโควิชเป็นเผด็จการที่สมบูรณ์แบบในความไม่ดีต่าง ๆ
ประการที่สาม ยูเครนนั้นมีประชากร 45 ล้านคน ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่ติดกับรัสเซียนั้นประชาชนมีเชื้อสายรัสเซียอยู่เกือบครึ่งประเทศ ผู้คนในส่วนนี้ชื่นชมรัสเซีย และประธานาธิบดี มีบ้านเกิดจากถิ่นไครเมียนี้ ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งของพื้นที่ประเทศ ประชาชนมีวัฒนธรรมยูเครน มีความรู้สึกต่อต้านคนอีกถิ่นหนึ่งที่มีประธานาธิบดีเป็นตัวแทน
ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลบุกยึดจตุรัสอิสรภาพกลางใจเมือง ใกล้บริเวณค้าขายใหญ่ ยึดตึกเทศบาลและที่ทำการรัฐ ตั้งป้อมปราการเข้มแข็ง มีการทำอาหารและแจกกันกลางถนน (ฟังดู คุ้น ๆ) รวมตัวกันเหนียวแน่น
ใน 2 เดือนแรกมีคนตายไป 5 คน และบาดเจ็บนับร้อย ตลอดเกือบเดือนที่ผ่านมามีการคุมเชิงกันในภาวะสงบ จนกระทั่งเมื่อวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ หลังจากรัสเซียให้ความช่วยเหลือทางการเงินหลายพันล้านเหรียญ ประธานาธิบดีก็คึกคักราวกับกินดีหมีมา สั่งให้ลุยผู้ชุมนุม บุกเข้ารื้อป้อมหอปราการ และกระทำด้วยความรุนแรงมากจนจำนวนคนตายพุ่งสูงขึ้นพร้อมคนบาดเจ็บ
วันรุ่งขึ้นคือวันพฤหัสก็ลุยเหมือนเดิมจนยอดคนตายยุ่งขึ้นเกือบ 80 คน จุดนี้แหละคือความผิดพลาดของประธานาธิบดี ผู้คนเริ่มผละหนีไม่ว่าผู้นำด้านความมั่นคง หัวหน้าตำรวจ สมาชิกพรรค และคนใกล้เคียง แต่ประธานาธิบดีนั้นว่ากันว่าเหมือนมีม่านบังตามาตลอดคือไม่เห็นความสำคัญของผู้ชุมนุมเพราะตระหนักว่ามีพี่ใหญ่คือปูตินสนับสนุน
มีแรงกดดันจากผู้นำ EU ให้เจรจาตกลงสงบศึกโดยตัวแทนรัสเซียเข้าร่วมด้วย ตกลงยอมให้ประธานาธิบดีอยู่ต่อจนเลือกตั้งใหม่ในอีก 2 เดือนข้างหน้า และไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วง ยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญและลดอำนาจประธานาธิบดี เปลี่ยนไปสู่ระบบรัฐสภาอีกครั้ง ฝ่ายต่อต้านก็ เออออห่อหมกเพราะรู้ว่ามันไม่จบเพียงแค่นั้น
พอถึงวันศุกร์ก็ได้เรื่อง รัฐสภาออกกฎหมายอภัยโทษผู้ประท้วงที่ใช้ความรุนแรง ปลดรัฐมนตรีมหาดไทยคู่ใจประธานาธิบดีที่ผู้คนเกลียดชังมากออก มีสัญญาณออกมาชัดเจนว่าประธานาธิบดีอยู่ไมได้แล้วเพราะรัฐมนตรีอีกหลายคนถูกปลดโดยรัฐสภา
ถึงวันเสาร์ประธานาธิบดีก็หายตัวไปจากเมืองหลวงคือเคียฟ (Ki?v) ฝ่ายประท้วงฉีกสัญญาข้อตกลง ไล่ล่าประธานาธิบดีที่หนีไปอยู่ในดินแดนไครเมียซึ่งนิยมรัสเซียและเป็นบ้านเกิดของตัวเอง ผู้คนรู้แล้วว่ากาลอวสานของนายยานูโควิชมาถึงแล้ว
วันอาทิตย์ผู้คนก็บุกทำเนียบประธานาธิบดี พบสนามเทนนิส สระว่ายน้ำ สวนสัตว์ส่วนตัว และเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อย่างหรูหรา ประชาชนเลยเปลี่ยนและตั้งชื่อว่าพิพิธภัณฑ์คอรัปชั่นแห่งแรกของโลก
ประธานาธิบดียานูโควิชนั้นตายังปิดมืดอยู่ ไม่รู้ว่าเขาไปถึงไหนกันแล้วยังออกโทรทัศน์จากเขตที่ชื่นชอบ บอกว่าเขายังเป็นประธานาธิบดีอยู่เพราะเขามาจากการเลือกตั้ง รักษาการรัฐมนตรีมหาดไทยคนใหม่บอกว่าเขาจะทำตามความต้องการของประชาชนคือส่งอดีตประธานาธิบดีขึ้นศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (International Criminal Court) ที่ยูเครนเป็นสมาชิกอยู่ในข้อหาฆาตกรรมประชาชน ซึ่งดูจะรอดยากเพราะ EU และสหรัฐอเมริกาต้องการแสดงพลกำลังหยุดอิทธิพลของรัสเซียที่กำลังแผ่ขยายกลับมาในรัฐเก่าอีกครั้งด้วยการสนับสนุนเอาขึ้นศาล
บทเรียนจากยูเครนสำหรับไทยก็คือการเพิ่มขึ้นของระดับความรุนแรงจากรัฐบาลอย่าง ผิดสังเกตจนกลุ่มประท้วงที่มีอาวุธอยู่ในมือ (ไม่รู้จัก ‘อหิงสา’ เพราะคุ้นเคยกับการต่อสู้รุนแรงมานาน สงครามโลกครั้งที่สองคนยูเครนตายไป 5-8 ล้านคน) ต้องลุกขึ้นสู้และล้มตายกันทั้งสองฝ่ายเป็นอันมาก
ความรุนแรงจะถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรงเสมอ ถึงแม้นายยานูโควิชไม่ได้สั่งให้ลุยและฆ่าผู้ประท้วงหากรัฐมนตรีมหาดไทยเป็นผู้กระทำ ประธานาธิบดีก็ไม่อาจหลีกหนีความรับผิดชอบไปได้ คาดว่านอกจาก 2 คนนี้แล้วยังมีอีกไม่ต่ำกว่า 30 คน ที่จะถูกขึ้นศาลด้วย
ในไทยการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบถึง 4 คน ที่ทั้งหมดมิได้มาชุมนุมด้วยเลย 2 คนมาชอปปิ้งที่ห้างสรรพสินค้าใกล้ที่ชุมนุม อีก 2 คน ช่วยพ่อแม่ขายของ น่าจะเป็นตัวจุดเปลี่ยนให้ผู้คิดสร้างความรุนแรงกว่านี้ได้ฉุกคิดถึงความเศร้าจากความตายอันไม่สมควรเกิดขึ้น
คนไทยเชื่อเรื่องบาปกรรมที่เกิดขึ้นว่าจะตามมาถึงผู้รับผิดชอบและครอบครัวเสมอ แค่คิดถึงผลจากบาปกรรมก็ทำให้ใจไม่สบายไปตลอดชีวิตแล้ว
ยูเครนได้ให้บทเรียนแก่ไทยแล้วว่าในการประท้วงนั้นท้ายที่สุดแล้วความรุนแรงนี่แหละจะเป็นตัวทำให้ผู้นำตกจากอำนาจและแถมถูกขึ้นศาลพร้อมพรรคพวกท่ามกลางการก่นด่าของประชาชน
เรื่องนี้ยังไม่จบบริบูรณ์ ล่าสุดนายยานูโควิชไปโผล่ในแดนไครเมียเพื่อหาผู้สนับสนุนและยังอ้างความเป็นประธานาธิบดีแบบฝัน ๆ แถมอ้างการสนับสนุนจากนายปูติน อย่างไรก็ดีผู้เชี่ยวชาญหลายคนพูดตรงกันว่าเวลาของนายยานูโควิชจบลงแล้ว ฝั่งผู้ประท้วงก็จัดตั้งรัฐบาลรักษาการไปแล้วถึงแม้ฝั่งไครเมียจะมีกลุ่มผู้สนับสนุนนายยานูโควิช ยึดอาคารรัฐบาลท้องถิ่นก็ตาม