ชีวิตแบบปรนัย

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
25
มีนาคม 2557

Photo by Yuzki Wang on Unsplash

          “เธอเลือกเอาแล้วกันระหว่างฉันกับแม่เธอ” “ระหว่างเราสองคน เธอเป็นคนเลือก” “ถ้าไม่ฆ่ามัน มันก็ต้องฆ่าเราแน่” การคิดแบบนี้มีพื้นฐานมาจาก “ข้อสอบปรนัย” ซึ่งเป็นสิ่งที่ลวงตาและลวงใจจนสามารถทำให้ปวดใจได้

          ข้อสอบแบบที่มีเป็นข้อ ๆ ให้เลือกโดยผู้ทำต้องเลือกข้อที่ถูกที่สุดคือ “ข้อสอบปรนัย” ซึ่งต่างจาก “ข้อสอบอัตนัย” ที่เป็นคำถามและให้บรรยายตอบ ข้อสอบชนิดแรกมีตัวถูกเพียง ตัวเดียวและต้องเป็นหนึ่งในข้อที่ให้มาด้วย ในขณะที่ข้อสอบชนิดที่สอง ผู้ตอบสามารถเขียนตอบได้อย่างเสรี จะใช้คำตอบอะไรก็ได้โดยไม่ถูกตีกรอบให้เหมือนกรณีของ “ข้อสอบปรนัย”

          ขีวิตที่มีคนกำหนดกรอบมาให้ เช่น เรียนหนังสือ 12 ปี ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย จบออกมาก็ทำงาน มีครอบครัว ฯลฯ หรือต้องเรียนวิชาต่าง ๆ ตามที่หลักสูตรกำหนดมาให้ หรือต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่สังคมมี หรือต้องทำตัวตามค่านิยมของสังคมนั้น ๆ ชีวิตแบบนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “ชีวิตปรนัย” (คล้ายชื่อหนังสือของอาจารย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เมื่อหลายปีก่อน)

          ในทางตรงกันข้ามชีวิตที่ไม่เป็นไปตามกรอบที่สังคมหรือคนอื่นกำหนดให้ ทำตัวไป ตามใจชอบ ไม่ศึกษาเล่าเรียนตามหลักสูตรที่กำหนด มีความเป็นเสรีสูงจนไม่ต้องการทำงานแบบออฟฟิสได้ ฯลฯ ก็อาจเรียกได้ว่า “ชีวิตอัตนัย”

          ในชีวิตของมนุษย์นั้น ความเคยชินกับ “สังคมปรนัย” ซึ่งประสบตั้งแต่แรกเกิดทำให้มักมีวิธีคิด “ข้อสอบปรนัย” ในการดำเนินชีวิตไปด้วยจนอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดอยู่บ่อย ๆ

          จากคำพูดแรกในย่อหน้าแรกสามีไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่าง “ฉันกับแม่เธอ” เพราะมันไม่ใช่เรื่องของการเลือกแม้แต่น้อย การปรับความเข้าใจ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของทุกฝ่าย อาจช่วยแก้ปัญหาได้โดยไม่จำเป็นต้องเกิดกรณีต้องมีการเลือก

          “ไม่ใช่พวกเราก็ต้องเป็นพวกมัน” เป็นวิธีคิดที่ง่ายและเขลา ถ้าจะให้มันเป็นปรนัย จริง ๆ ก็อาจมีคนอีกหลายกลุ่มที่ไม่ใช่ทั้ง “พวกเรา” และ “พวกมัน” ก็เป็นได้ อาจมีอีกหลายกลุ่มที่ผสมความคิดความชอบบางเรื่องข้ามกลุ่มผสมปนเปกันจนนับกลุ่มไม่ถ้วน (ทำได้และไม่ผิดกฎหมาย) จนเกิดมีตัวเลือกนับไม่ถ้วน

          อย่างไรก็ดี ไม่มีอะไรจะมาบังคับว่าต้องเป็นตัวเลือกต่าง ๆ แบบปรนัย ความขัดแย้งซึ่งเป็นสาเหตุแห่งการคิดว่ามีกลุ่มโดยแท้จริงแล้วอาจไม่ใช่เรื่องของการแบ่งพรรคแบ่งพวกก็เป็นได้ อาจเป็นเรื่องของความรู้สึกมนุษย์ที่แตกต่างกันตามธรรมชาติ อย่าลืมว่าเราไม่เคยแบ่งกลุ่มคนตามวัยและห้ำหั่นกันเพราะมีความคิดที่แตกต่างกันระหว่างคนอายุ 15 กับ 60 ปี เรายอมรับความคิดที่แตกต่างกันเนื่องจากวัยโดยไม่เคยแบ่งออกเป็น “พวกเขา” หรือ “พวกเรา”

          สำหรับ “ระหว่างเราสองคน” รู้ได้อย่างไรว่าหนุ่มเขาจะเลือกคนหนึ่งคนใดของคุณ สองคน เขาอาจเลือกคนอื่นก็เป็นได้ หรืออาจไม่ต้องการเลือกเลยก็ได้เพราะไม่เอาทั้งสองคน และก็ไม่มีคนอื่นด้วย การคิดแบบนี้จึงสร้างความผิดพลาด ยิ่งไปกว่านั้นในโลกที่ “ชีวิตไม่ใช่ปรนัย” หนุ่มอาจปฏิเสธที่จะทำโจทย์ข้อนี้ก็ได้ เพราะเขาไม่คิดว่าจะต้องมีการเลือกเนื่องจากการมีแฟนสองคนพร้อมกันอาจเป็นสไตล์ชีวิตที่เขาต้องการและคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาก็อาจเป็นได้

          “ไม่ฆ่ามัน มันก็ฆ่าเรา” เป็นวิธีคิดที่ช่วยนำคนไปสู่เรื่องปวดหัวให้พ่อแม่ ครอบครัวและตัวเองได้เป็นอย่างดี สำหรับคนที่มีนิสัยเจ้าคิดเจ้าแค้นซึ่งอาจติดมาจากการชอบดูหนังบู๊จีนนั้น การคิดแบบปรนัยเช่นนี้ดูจะเป็นอันตรนิสัยที่ขุดออกได้ยาก พวกเขาลืมไปว่าคนมันไม่ได้มีชีวิตอยู่รอดเพราะการฆ่ากันป่าเถื่อนเหมือนสมัยอยู่ในถ้ำเมื่อ 50,000 ปีก่อน มนุษย์ปัจจุบันมีอารยธรรมที่ทำให้สามารถพูดจา ใช้เหตุใช้ผลกันได้ ถ้ามีความเชื่อในกระบวนการเช่นนี้อยู่บ้าง “ความคิดแบบปรนัย” ก็จะลดน้อยไป และสังคมอยู่กันได้ด้วยความสงบสุข

          การคิดกันแบบปรนัยในสังคมไทยเป็นเรื่องน่าเห็นใจเพราะสิ่งแวดล้อมชวนให้คิดไปในทิศทางนี้ เมื่อเล่นหวยกันเป็นลมหายใจเข้าออก ก็เผชิญกับสภาวะ “ถูก” กับ “ถูกกิน” (สำหรับผู้รู้เลขล็อกล่วงหน้ามีแต่ “กิน ๆ ๆ” อย่างเดียว)

          เมื่อคนจนยังมีอยู่ให้เห็นเต็มประเทศไทย ก็เห็นมีแต่ “คนจน” หรือ “คนรวย” เมื่อใดที่คนมีฐานะทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกันแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องแบ่งคนออกตามฐานะมีจน วาทกรรม “อำมาตย์” “ไพร่” ก็มีส่วนช่วยให้คนคิดแบบปรนัยในหลายส่วนของประเทศ

          ความคิดแบบปรนัยทำให้มนุษย์เห็นทางตันได้ง่ายกว่าความคิดแบบอัตนัยซึ่งอาจมีตัวเลือกเหมือนกันแต่มีจำนวนที่ไม่สิ้นสุดเนื่องจากไม่มีกรอบเป็นตัวขีดกำหนด การคิดพลิกแพลง การมีความคิดริเริ่ม การไม่ยึดติด การมีความอ่อนไหวปรับตัว ล้วนเกี่ยวโยงกับความคิดแบบอัตนัยทั้งสิ้น

          เมื่อโดยแท้จริงแล้วชีวิตมนุษย์เปรียบเสมือนข้อสอบอัตนัย การคิดแบบปรนัยเพื่อแก้ไขปัญหาชีวิตจึงมักไม่ประสบผลสำเร็จ เปรียบเสมือนกับการเอาน๊อตรูกลมไปใส่สลักเกลียวเหลี่ยม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *