วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
16 กันยายน 2557
คนสก๊อตแลนด์จะลงประชามติกันในวันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน นี้ว่าจะเป็นประเทศอิสระโดยไม่เป็นส่วนหนึ่งของ United Kingdom อีกต่อไป หลังจากร่วมหอลงโรงกันมา 307 ปี ขณะนี้คะแนนเสียงต้องการเป็นอิสระมากกว่าเสียงปฏิเสธเป็นครั้งแรกและโมเมนตั้มดูจะเอียงไปทางตอบรับ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จริงก็จะเกิดผลกระทบกว้างไกลในโลก
ใน ค.ศ. 1707 สก๊อตแลนด์ซึ่งเคยเป็นดินแดนอิสระมายาวนานหลายร้อยปีก็ทำสัญญา เป็น Union (รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน) กับราชอาณาจักรอังกฤษ และประมาณอีกร้อยปีต่อมาไอร์แลนด์ก็ทำอย่างเดียวกัน อย่างไรก็ดีไอร์แลนด์หลุดออกไปเป็นประเทศอิสระด้วยสงครามต่อสู้เพื่ออิสรภาพในปี 1922 และเป็นสาธารณรัฐสมบูรณ์ในปี 1948 แต่สก๊อตแลนด์ยังคงติดอยู่กับสัญญาเดิม การลงประชามติครั้งนี้จะเป็นการชี้ชะตาว่าต้องการจะเป็นประเทศอิสระหลุดพ้นจากอังกฤษตามอย่างไอร์แลนด์ หรือไม่
ในปัจจุบันสิ่งที่เรียกว่า United Kingdom ประกอบด้วยอังกฤษ (England) สก๊อตแลนด์ (Scotland) เวลส์ (Wales) และไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland) ซึ่งเป็นดินแดนประมาณ 1 ใน 6 ของเกาะไอร์แลนด์ทั้งหมด (ประชากร 4.6 ล้านคน) อังกฤษถือว่า Northern Ireland เป็นดินแดนของตนเองตามประวัติศาสตร์โดยมีประชากรทั้งหมด 1.8 ล้านคน เกือบทั้งหมดมิได้นับถือ ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเช่นเดียวกับพลเมืองประเทศไอร์แลนด์
4 ชาติพันธุ์ คือ อิงลิช ไอริช สก๊อต และเวลช์ (ประชากรของ Wales ประมาณ 3 ล้านคน) อยู่ร่วมกันเป็น United Kingdom มายาวนาน ปัจจุบันไอร์แลนด์ออกไปแล้วเหลือไว้แต่ Northern Ireland และคราวนี้สก๊อตแลนด์กำลังพยายามจะหนีออกไปอีกราย
ถ้าสก๊อตแลนด์หลุดออกไปก็หมายถึงดินแดน 1 ใน 3 ของ United Kingdom จะหายไปพร้อมกับน้ำมันและก๊าซในทะเลเหนือซึ่งมีปริมาณอยู่เป็นจำนวนมาก และประการสำคัญจะเป็นตัวอย่างให้เกิดการเลียนแบบในอังกฤษ ใน EU และในประเทศอื่น ๆ ในโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่กำลังมีปัญหาแบ่งแยกดินแดนอยู่ในปัจจุบัน
ความคิดเรื่องการเป็นประเทศอิสระของชาว Scots นั้นมีมายาวนาน เพียงแต่ไม่เป็นขบวนการที่เข้มข้นและจริงจังเหมือนคนไอริช (คงจำขบวนการ IRA หรือ Irish Republican Army กันได้ที่ต่อสู้ฆ่าฟันกับอังกฤษตามสไตล์ก่อการร้ายตั้งแต่สงครามอิสรภาพจนถึงการจะเอา Northern Ireland มาผนวกเข้ากับประเทศให้เป็น Ireland ทั้งเกาะ Lord Louis Mountbatten พระราชวงศ์ชั้นสูง ผู้ช่วยเหลือประเทศไทยมากในสงครามโลกครั้งที่สองก็ถูกระเบิดของ IRA เสียชีวิตในปี 1979)
การลงประชามติครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากพรรค SNP (Scottish National Party) ของ สก๊อตแลนด์ชนะเลือกตั้งในปี 2011 โดยรณรงค์ว่าจะจัดให้มีประชามติตัดสินการเป็นอิสระจาก United Kingdom ซึ่งก็คือตัดขาดจากอังกฤษในปี 2014 และหากลงมติเห็นพ้องกันก็จะใช้วันที่ 24 มีนาคม 2016 เป็นวันประกาศอิสรภาพของสก๊อตแลนด์
สก๊อตแลนด์เป็นเสมือนรัฐกึ่งอิสระของ United Kingdom มีนายกรัฐมนตรีของตนเองซึ่งเรียกว่า First Minister และมีรัฐบาลแบบท้องถิ่น (มีตัวแทนเป็น ส.ส. ในรัฐสภาอังกฤษด้วย) ดูแลเรื่องการศึกษากฎหมาย สถาบันศาสนา โดยมีระบบเป็นของตนเอง ส่วนการต่างประเทศ การป้องกันประเทศ การเก็บภาษี การให้เงินอุดหนุนสก๊อตแลนด์ ฯลฯ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลอังกฤษ
ในตอนแรกเมื่อมีการผลักดันประชามติดังกล่าว รัฐบาลอังกฤษสนับสนุนเพราะมั่นใจว่าคนสก๊อตจะปฏิเสธอย่างแน่นอนและจะเป็นการดีเพราะหากไม่ผ่านการพูดเรื่องแยกเป็นอิสระจะได้จบสิ้นลงเสียทีหลังจากมีความพยายามกันมายาวนาน ในตอนแรก ๆ หลายโพลมีผลตรงกันว่าคนสก๊อตไม่เอาด้วยแน่ คะแนนห่างกันถึง 4-14 จุด รัฐบาลอังกฤษก็นอนใจ เชื้อสายสก๊อตทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น J.K. Rowling / Rod Stewart / Alex Ferguson / Susan Boyle / David Bowie ฯลฯ ต่างออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าควรอยู่กับอังกฤษต่อไป
คนที่ออกมาบอกว่าควรแยกได้แก่ Sean Connery / Brian Cox นักแสดง / Ken Loach ผู้กำกับภาพยนตร์ ฯลฯ
อย่างไรก็ดีในอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ โพลระบุว่าคะแนนที่เห็นว่าควรแยกเป็นอิสระมากกว่าอีกฟากหนึ่งเป็นครั้งแรกคือ 51-49 และมีทางโน้มที่จะห่างมากขึ้นเมื่อใกล้วันลงมติ
นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลอังกฤษตกใจ เพราะการสูญเสียสก๊อตแลนด์นั้นหมายถึงการสูญเสียดินแดนถึง 78,000 ตารางกิโลเมตร ตลอดจนมูลค่าก๊าซและน้ำมันมหาศาลซึ่งเคยเป็นแหล่งรายได้และพลังงานสำคัญ ประการสำคัญต้องจับตามอง Wales และ Northern Ireland ถึงแม้ประชากร 3 ล้านคนของ Wales ขณะนี้ยังไม่มีความรู้สึกต้องการแบ่งแยกเด่นชัด แต่ก็ไม่อาจแน่ใจได้ในเรื่องการเลียนแบบ อย่างไรก็ดีแม้แต่เมื่อยังไม่มีมติเห็นชอบออกมา ขณะนี้หลายเมืองและเขตของอังกฤษที่คิดว่าตนเองไม่ได้สิ่งที่ควรได้รับจากรัฐสภาอังกฤษก็เริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น และถ้าประชามติออกมาว่าแยก นาย David Cameron นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็อาจต้องลาออก
เบลเยี่ยมและสเปนเฝ้าดูการลงประชามติครั้งนี้อย่างสนใจเป็นพิเศษเนื่องจากพรรคของกลุ่ม Flemish (กลุ่มเบลเยี่ยม-ดัชน์) ซึ่งสนับสนุนการแบ่งแยกกำลังได้รับความนิยม นอกจากนี้แคว้น Catalonia (Barcelona เป็นเมืองหลวง) ของสเปนกำลังจะลงประชามติลักษณะเดียวกันในเดือนพฤศจิกายนของปีนี้ หากประชามติผ่านก็อาจเป็นตัวกระตุ้นสำคัญให้เกิดการรู้สึกไปในทิศทางเดียวกันได้
ประชาชนที่จะลงประชามติของสก๊อตแลนด์คือผู้อยู่อาศัยในประเทศที่มีอายุเกิน 16 ปี ซึ่งมีจำนวน 4.2 ล้านคน คนเชื้อสายสก๊อตที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกากว่า 27 ล้านคน และที่อยู่ในส่วนอื่น ๆ แม้แต่อังกฤษไม่มีสิทธิลงคะแนน ข้อพึงสังเกตก็คือถึงแม้มติจะผ่านแต่สก๊อตแลนด์ก็ใช่ว่าจะเดินไปบนกลีบกุหลาบ
การเป็นสมาชิก EU เป็นเรื่องสำคัญยิ่งในเชิงเศรษฐกิจและการอยู่รอดจากการค้าขายกับประเทศในยุโรปซึ่งล้วนเป็นสมาชิก EU เมื่อเป็นประเทศสก๊อตแลนด์ใหม่ก็ต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิก EU ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะอาจถูกวีโต้โดยเบลเยี่ยมและสเปนที่ไม่ต้องการให้ ‘รางวัล’ เพราะจะเท่ากับ ช่วยให้ความคิดแบ่งแยกมีพลังมากขึ้น
การเป็นประเทศเล็กที่มิได้เป็นสมาชิกของสังคมใหญ่อีกต่อไปจะทำให้ไม่มี Economy of Scale (การลดต้นทุนอันเกิดจากขนาดการผลิตที่ใหญ่) ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น นอกจากนี้ความไม่แน่นอนต่าง ๆ ในเรื่องการใช้สกุลเงิน นโยบายเศรษฐกิจ เงินทุน ภาระการเงินที่ติดค้างมาจากการแบ่งแยก ตลอดจนการขาดเงินอุดหนุนดังที่เคยได้รับจากอังกฤษก็จะทำให้เกิดอุปสรรคในการเป็นประเทศใหม่ได้มาก
อย่างไรก็ดีการที่สก๊อตแลนด์เป็นประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นเลิศในโลก รวมทั้งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่โลกผ่านผลงานของบุคคลสำคัญเชื้อสายสก๊อต เช่น Adam Smith / Sir Alexander Fleming / James Watt / Tony Blair / Gordon Brown ฯลฯ ตลอดจนความขยันหมั่นเพียรในการทำงานและความประหยัดมัธยัสถ์ของคนสก๊อตจะช่วยให้ประเทศไปได้ดีในระยะยาว ถ้าคนสก๊อตร่วมใจกันลงประชามติแยกเป็นอิสระได้สำเร็จ ภาพประทับใจที่อาจเกิดขึ้นในวันประกาศเอกราชคือการชุมนุมของชาวสก๊อตจำนวนมากเพื่อลาจากเพื่อนเก่าท่ามกลางเสียงกระหึ่มของเพลง Auld Lang Syne (หรือ Days Gone By ซึ่งเป็นทำนองพื้นเมืองและเนื้อร้องมาจากบทกวีที่เขียนขึ้นในปี 1788 ของยอดกวีเอกของโลกชาวสก๊อต Robert Burns) พร้อมกับน้ำตาแห่งความหวั่นไหวกับอนาคต