วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
21 กรกฎาคม 2558
วลี Think Global, Act Local เป็นที่รู้จักกันดีในความหมายหนึ่ง อย่างไรก็ดีในปัจจุบันมีความหมายกว้างขวางกว่าเก่าอย่างเป็นประโยชน์ต่อสังคม
ถ้าจะให้ถูกต้องไวยากรณ์แล้วต้องเป็นว่า Think Globally, Act Locally (TGAL) แต่ในยุค Postmodern เช่นปัจจุบัน ผู้คนใช้กันตามใจชอบ ขาดกฎกติกาที่แน่นอนมั่นคง ดังนั้นจึงมีผู้เรียก ๆ สั้น ๆ ว่า Think Global, Act Local (ยุคนี้กัญชาถูกกฎหมายแล้วในบางรัฐในสหรัฐอเมริกา ทั้ง ๆ ที่เคยเป็นโทษร้ายแรง ชาย-ชายและหญิง-หญิงแต่งงานกันได้ นักกีฬาอาชีพก็ลงแข่งโอลิมปิกเกมส์ได้ ฯลฯ)
ในภาษาอังกฤษ TGAL คือสิ่งที่เรียกว่า paradox กล่าวคือ local กับ global ขัดแย้งกัน ตัวอย่างที่คลาสสิคของ paradox ก็คือคำพูดของ Winston Churchill ที่ว่า “Never in the field of human conflict was so much owed by so many to so few” ในโอกาสที่กล่าวถึงบุญคุณของทหารอากาศอังกฤษซึ่งมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับข้าศึกที่ได้ช่วยชีวิตคนอังกฤษไว้โดยสามารถป้องกันไม่ให้เครื่องบินเยอรมันถล่มอังกฤษได้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
มหาตมา คานธี ก็ใช้สำนวนที่เป็น paradox ในการกล่าวว่า “Whatever you do will be insignificant, but it is very important that you do it”.
TGAL หมายถึง จงคิดในระดับโลกแต่กระทำในระดับท้องถิ่น วลีนี้ในตอนแรกหมายถึงว่าให้ตระหนักถึงโลกใบนี้ เมื่อชุมชน หรือท้องถิ่น (ประชาชน) กระทำสิ่งต่าง ๆ แนวคิดนี้เริ่มต้นมาจากนักวางผังเมืองดังสะท้อนในหนังสือชื่อ Cities in Evolution (1915) ของ Patrick Geddes ถึงแม้วลีนี้จะไม่ปรากฏอยู่ในหนังสือก็ตาม
ใครเป็นผู้ริเริ่มใช้วลีนี้ยังไม่ชัดเจน บ้างก็ว่า David Brower ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Friends of the Earth เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นใน ค.ศ. 1969 บ้างก็ว่าที่ปรึกษาสหประชาชาติใช้วลีนี้ในปี 1972 อย่างไรก็ดี TGAL กลายเป็นชื่อของการสัมมนาใหญ่ในปี 1979 ซึ่งจัดโดยนักอนาคตวิเคราะห์ชาว คานาดาชื่อ Frank Feather
ในตอนแรก TGAL สื่อความหมายในการร่วมกันดูแลโลกใบนี้ด้วยการกระทำอย่างระมัดระวังในระดับย่อยของท้องถิ่นต่าง ๆ ต่อมากินความไปถึงเรื่องการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ กล่าวคือต้องคิดในภาพรวมก่อนแล้วจึงกระทำในระดับย่อย ส่วนในเรื่องธุรกิจนั้นมีความหมายไปในทางการประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงโลกใบนี้ซึ่งหมายถึงการระแวดระวังสิ่งแวดล้อม
TGAL กินความหมายกว้างขึ้นกว่าเดิมทุกที “global” ในที่นี้มิได้หมายถึงโลกใบนี้ของเรา หากหมายถึงส่วนรวม และ “local” มิได้หมายถึงชุมชนหากหมายถึงสิ่งย่อย ๆ เช่น ประชาชน หรือองค์กร ดังนั้นสังคมจึงมีกรอบความคิดที่กว้างขึ้น และเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ในปี 2552 ผู้เขียนได้เขียนไว้ว่า
“…..Social Enterprise (SE) คือธุรกิจเอกชน ซึ่งทำมาค้าขายเหมือนธุรกิจทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์ 3 อย่างควบคู่กันไป คือ (ก) สร้างกำไร (ข) มุ่งสร้างสรรค์สังคม (ค) สนับสนุนสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า Triple Bottom Line
SE ไม่มุ่งกำไรสูงสุด หากมุ่งสร้างกำไรเพื่อนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของสังคม SE คือ องค์กร “Not – For – Profit” ในความหมายที่กำไรไม่ต้องแบ่งสรรคืนให้เจ้าของทุน หากนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์หลักคือ “การให้” แก่สังคมเพื่อสร้างสรรค์
…..ในอังกฤษ ลักษณะ 3 อย่างที่ทำให้องค์การหนึ่งเป็น SE ก็คือ (1) ผลิตสินค้าและและบริการหรือค้าขายโดยแสวงหากำไร (2) มีวัตถุประสงค์ของการตั้งขึ้นมาอย่างชัดเจนเพื่อสังคม เช่น สร้างงานเพื่อชุมชน หรือ ฝึกฝนทักษะของชุมชนหรือ จัดหาบริการให้แก่ชุมชน ฯลฯ (3) ความเป็นเจ้าของนั้นไม่ถูกผูกขาด หากกระจายกันไปในกลุ่มของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ลูกค้าบริษัท ชุมชน ฯลฯ กำไรถูกแบ่งสรรกลับคืนเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมหรือชุมชน
อังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่มี SE กว่า 60,000 องค์กร เรียกองค์กรที่เป็น Social Enterprise นี้ว่าอยู่ใน Third Sector (First Sector คือ ภาครัฐ ส่วน Second Sector คือธุรกิจเอกชนปกติ) หรือ Social Economy ในนัยยะหนึ่งก็คืออีกทางเลือกหนึ่งของระบบเศรษฐกิจนอกเหนือไปจาก 2 แนวทางที่รู้จักกันคือ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม และระบบเศรษฐกิจที่รัฐกำกับควบคุม (สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์)….”
เมื่อประชาชนอยากมีชีวิตที่มีความหมายมากกว่าอดีตที่เป็นลูกจ้างเอกชนโดยทำงานเพื่อทำให้เจ้าของทุนร่ำรวย จึงเกิดมีทางเลือกที่ถึงแม้จะทำงานแบบเดิมแต่กำไรสู่สังคม
SE สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าแต่ละคนทำงานเพื่อให้ตนเองมีรายได้ แต่แรงงานที่ทุ่มเทไปนั้น (“ท้องถิ่น”) เป็นไปเพื่อสังคม (“โลก”) หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าตระหนักถึง “โลก” และกระทำสิ่งที่สมควรทำในระดับ “ท้องถิ่น”
อย่างไรก็ดีมีอีกหลายสิ่งในโลกที่เป็นไปในทางตรงกันข้ามคือ Think Locally, Act Globally ซึ่งนำความวิบัติมาสู่สังคม เอาตัวอย่างชัด ๆ ก็ได้ คือโครงการจำนำข้าว เวลาคิดทำโครงการนั้นพอเห็นชัดว่าเพื่อ “กำไร” ส่วนตัว (“local”) และกระทำอย่างกว้างขวางไปถึงข้าวทุกเม็ดและผลที่เกิดก็คือหนี้ภาครัฐกว่า 400,000 ล้านบาท และความปั่นป่วนของสังคม (“global”) ปัจจุบันยังเหลือข้าวในสต๊อกที่เสื่อมคุณภาพลงไปทุกวันในปริมาณที่คนไทยทั่วประเทศบริโภคกันได้ทั้งปี
ศึกช่วงสงกรานต์ของปี 2551 และ 2552 ที่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่คนไทย ทั้งเสียเลือดเนื้อและแตกแยกเพราะใช้ลิ่มเป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ส่วนตัว และกระทำในขอบเขตกว้างขวางโดยมิได้คำนึงถึงผลเสียต่อส่วนรวมแม้แต่น้อย นี่คือผลพวงของการ “คิดแคบ” เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและสร้างความ “กว้างขวาง” ในความวิบัติ
ถ้าประยุกต์เรื่อง TGAL ให้กว้างขวาง นายกรัฐมนตรีคงอยากเห็น TGAL ในสังคมไทยปัจจุบันในรูปของการคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและแต่ละคนประคับประคองกันในระดับย่อยจนเข้าสู่เหตุการณ์ปกติ ส่วนกลุ่มไม่เห็นด้วยเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็คงเห็น TGAL เหมือนกัน คือ เห็นแก่เสรีภาพของประชาชนโดยรวม และกระทำโดยส่วนย่อย คือ การประท้วงของประชาชน อย่างไรก็ดีสำหรับประชาชนตรงกลางจำนวนมากนั้นเบื่อหน่ายการเมืองแบบที่เป็นมายาวนานของบ้านเราภายใต้การมีเสรีภาพ แต่สิ่งที่ได้มาคือประชาชนตัวเล็กลง บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย จนกระทั่งยอมสละเสรีภาพชั่วคราวในภาพรวมเพื่อจัดรูปกันใหม่ อย่างนี้ประชาชนก็คิดแบบ TGAL เป็นเหมือนกันนะ
ในเรื่องผลประโยชน์ของชาติ Think Globally, Act Locally สอนให้ประชาชนนึกถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมโดยแต่ละคนทำหน้าที่ของตนเองภายใต้ความเป็นพลเมือง ถึงจะผิดพลาดในการตัดสินใจในบางครั้งไปบ้างก็อภัยให้กันได้ตราบที่มองชาติเป็นหลัก
การใช้วิจารณญาณที่ดีมาจากประสบการณ์ ซึ่งประสบการณ์ที่สั่งสมก็มาจากการใช้วิจารณญาณที่ไม่ดีมาก่อนบ้างในอดีต