แนวคิด Resilience Dividend เพื่อเมือง

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
27
ตุลาคม 2558

Photo by Brett Jordan on Unsplash

          เมื่อหันไปมองรอบตัว เราจะเห็นสิ่งคุกคามเมืองอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ ภัยจากผู้ก่อการร้าย ภัยโลกร้อน โรคระบาด มลภาวะ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ฯลฯ นับวันสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำจนกลายเป็น “new normal” หรือ “เกณฑ์ปกติใหม่” ไปแล้ว เราจะหาทางต่อสู้มันได้อย่างไร นักคิดในโลกปัจจุบันได้เสนอแนวคิดที่เรียกว่า “Resilience Dividend” หรือ “ผลตอบแทนจากการกลับสู่สภาวะเดิม”

          Resilient หมายถึงสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมหลังจากมีสิ่งหนึ่งไปขัดขวางสภาพปกติของมัน เช่น ฟองน้ำ เมื่อถูกบีบก็แปลงสภาพ แต่เมื่อปล่อยมือมันก็กลับสู่สภาพปกติ สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้นเราเชื่อกันมานานว่าเป็น Resilient Economy กล่าวคือไม่ว่าจะมีการประท้วง น้ำท่วม ฝนแล้ง ฯลฯ อย่างไรก็ตามในที่สุดแล้วมันก็จะกลับสู่สภาวะเดิมหรือสภาวะปกติคือมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 10-20 ต่อปี การเจริญเติบโตอยู่ในระดับร้อยละ 4-5 ต่อปี อย่างไรก็ดีในปัจจุบันมีจำนวนคนที่มีความเชื่อดังกล่าวอยู่ไม่มากนัก

          Resilience ซึ่งเป็นคำนามของ Resilient หมายถึงการสามารถกลับคืนสู่สภาวะเดิมหรือปกติหลังจากสิ่งขัดขวางหมดไป น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ทำให้เห็นว่ากรุงเทพฯ มี Resilience อยู่สูงพอควรกล่าวคือ เมื่อน้ำลดทุกอย่างก็กลับคืนสู่ภาวะปกติจนแทบไม่เห็นร่องรอยภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือน อย่างไรก็ดีมีคำถามว่าแล้วเราจะมี

          Resilience ในลักษณะนี้เพื่อรับมือน้ำท่วมอีกครั้งแล้วครั้งเล่ากระนั้นหรือ และเราแน่ใจได้หรือว่าเราจะสามารถรับมือกับปัญหาอื่น ๆ ที่จะถาโถมเข้าใส่ แนวคิดใหม่ของ Resilience Dividend หมายถึงการหาผลตอบแทนจากการมี Resilience ในหลายลักษณะ ถ้าไม่มีก็สร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันและแก้ไขมากกว่าตั้งรับ

          กลุ่มที่ริเริ่มและผลักดันแนวคิดนี้คือมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ซึ่งมีอายุครบ 100 ปี ในปี 2013 โดย Dr. Judith Rodin ซึ่งเป็นประธานของมูลนิธิได้เสนอแนวคิดไว้ในหนังสือ “The Resilience Dividend” (2013)

          Judith Rodin เคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย Pennsylvania มาก่อน และเป็นอาจารย์สอนจิตวิทยาที่ Yale อยู่หลายปี เธอเป็นประธานมูลนิธิมาตั้งแต่ปี 2005 ปัจจุบันอายุ 71 ปี เป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อความคิดของผู้บริหารเมืองทั่วโลกเนื่องจากแนวคิดนี้สอดคล้องกับสิ่งที่กำลังเป็นไปของโลกอย่างยิ่ง

          เธอบอกว่าการสร้าง Resilience หรือการสามารถกลับสู่สภาพเดิมเป็นสิ่งที่มีลำดับความสำคัญสูงที่สุดอันหนึ่งในชีวิตของเราเนื่องจากมันมี 3 ทางโน้มที่จะมีอิทธิพลต่อโลกใน 10 ปีข้างหน้า นั่นก็คือ (ก) อัตราการอยู่อาศัยในเขตเมือง (Urbanization Rate) จะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชากรโลกจะถึง 9 พันล้านคน (จาก 7 พันล้านคนในปัจจุบัน) ในกลางศตวรรษ ในปัจจุบันมีคนอาศัยในเขตเมืองถึงร้อยละ 50 ของประชากร

          (ข) ปรากฏการณ์โลกร้อน ซึ่งมีผลกระทบมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และจะหนักมือขึ้นในอนาคตอันใกล้ เป็นสิ่งคุกคามธุรกิจ สถาบัน และเมือง เช่น อากาศร้อนได้ฆ่าคนอเมริกันมากกว่าจำนวนคนตายที่เกิดจากภัยธรรมชาติทั้งหมดรวมกัน และผู้เชี่ยวชาญบอกว่าความร้อนจะมากขึ้นจนมีคนตายมากขึ้น และ (ค) โลกาภิวัตน์ ทำให้เหตุการณ์ไม่ดีในแห่งหนึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่ดีในอีกแห่งได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว เช่น economic shocks และโรคติดต่อ ฯลฯ สามารถเดินทางถึงกันได้อย่างรวดเร็วอย่างไร้พรมแดน

          3 ปัจจัยข้างต้นทำให้เกิดการเชื่อมต่อของสังคม-สิ่งแวดล้อม-เศรษฐกิจ ซึ่งมีผลอย่างมหาศาลและน่ากลัวยิ่งต่อเมือง สิ่งซึ่งมากระทบจนทำให้เราต้องวุ่นวายในปัจจุบัน เช่น น้ำท่วม ไฟป่า ภัยผู้ก่อการร้าย โรคระบาด ฯลฯ จะเกิดบ่อยกว่านี้ รุนแรงกว่านี้ และอันตรายกว่านี้สำหรับคนซึ่งมีจำนวนมากขึ้น ขณะเดียวกันเมืองก็ต้องควบคุม

          “ความเครียดเรื้อรัง” (chronic stresses) เช่น อาชญากรรม ซึ่งจะพัฒนาช้า ๆ จนมีผลเสียข้ามเวลาอย่างไม่ต่างจาก shocks ทั้งหลายเลย

          Judith Rodin บอกว่าอย่าหลอกตัวเองอีกต่อไปว่าในที่สุดสิ่งต่าง ๆ ก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเช่นเดิม มันจะไม่เป็นเช่นนี้อย่างแน่นอน เราจะแพ้ถ้าเราคิดแต่จะทุ่มเททรัพยากรเพื่อฟื้นฟูเมืองจากวิกฤต ที่ถูกต้องนั้นควรใช้แนวคิด Resilience Dividend ซึ่งมิได้หมายความถึงการแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งเลวร้ายเท่านั้น หาก

          Resilience จะทำให้เมืองแน่ใจได้ว่าจะมีการกลับมาทำงานอย่างเดิมและด้วยประสิทธิภาพที่สูงทั้งในสภาพแวดล้อมดีที่สุดและเลวที่สุด มันเหมือนกับตัวปลดล๊อกให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการลงทุนทางธุรกิจ และการมีส่วนร่วมกันในความมั่งคั่งที่เกิดขึ้น

          ตัวอย่างของการทำให้เกิดผลตอบแทนจาก Resilience ก็ได้แก่เมือง Medellin ในประเทศโคลัมเบียซึ่งเคยเป็นเมืองอันตรายที่สุดในอเมริกาใต้ มีทั้งความรุนแรง ฆ่ากันหลายศพต่อวัน คอรัปชั่น ยาเสพติด ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การขาดโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ แต่ปัจจุบันได้รับผลตอบแทนจาก Resilience กล่าวคือเป็นเมืองที่มีความปลอดภัย คนมีงานทำและ ความเหลื่อมล้ำลดลงมาก

          สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะในยุคทศวรรษ 1990 เกิดแนวคิดกำจัดอาชญากรรมโดยสร้างชุมชนที่มี Resilience มากขึ้นด้วยการทำให้คนจนซึ่งเป็นคนก่ออาชญากรรมมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้บริหารสร้าง Resilience โดยสร้างระบบคมนาคมให้คนจนสามารถเดินทางได้สะดวกขึ้น มีงานทำและ มีรายได้ สร้างรถรางไฟฟ้าวิ่งจากชุมชนแออัดที่มีคนจนอยู่มากมายเชื่อมต่อเข้ากับระบบขนส่งมวลชน สร้างบันไดเลื่อนไฟฟ้าให้คนจนซึ่งอยู่ในชุมชนแออัดบนเขาสามารถถึงจุดหมายบนเขาเพียง 6 นาที แทนที่จะเป็น 30 นาที

          เส้นทางขนส่งนี้สามารถใช้รับส่งคนเวลาเกิดวิกฤตได้ด้วย เมื่อคนจนมีงานทำและมีรายได้ สามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างแท้จริง อาชญากรรมก็ลดลงในที่สุด พูดสั้น ๆ ว่าแนวคิดสร้าง Resilience ให้แก่เมืองทำได้ทั้งในด้านรูปธรรมคือ สร้างโครงสร้างพื้นฐานและนามธรรม คือมีชุมชนเข้มแข็ง มีความรักสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันจนสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้

          ขณะนี้แนวคิดนี้กระจายไปทั่วโลก มูลนิธิ Rockefeller เชิญชวนให้เมืองต่าง ๆ สมัครเข้าเป็นเครือข่าย Resilience City เพื่อรับความช่วยเหลือให้คำแนะนำในการเป็นเมืองที่มี Resilience มากกว่าเดิม

          ตัวอย่างต่อไปนี้อาจทำให้ชัดเจนขึ้นว่า Resilience คืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร ในเชิงรูปธรรม เมืองมี Resilience มากขึ้นหากมีระบบระบายน้ำท่วมขังได้รวดเร็ว มีบันไดดับไฟที่สูงเพียงพอต่ออาคารสูงมาก มีการสร้างอาคารที่คำนึงถึงแผ่นดินไหวรุนแรง สร้างการจ้างงานในระดับชุมชน มีคลองที่ระบายน้ำได้ดีไม่มีบ้านเรือนกีดขวาง มีทางเดินให้ความสะดวกในชุมชนแออัด มีระบบการจราจรที่ไม่เป็นง่อย ฯลฯ

          ในด้านนามธรรม การปราบปรามคอรัปชั่นเด็ดขาดคือการสร้าง Resilience Dividend ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง หากสาธารณชนเข้มแข็งสนใจติดตามการใช้งบประมาณก่อสร้าง ตรวจสอบการใช้อำนาจที่ไม่ชอบของพนักงานรัฐ ปัญหาโครงสร้างอาคารพาณิชย์และของรัฐขาดมาตรฐานก็จะไม่มี จนสามารถทนทานต่อปัญหาภัยพิบัติต่าง ๆ ของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากขึ้น

          ถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความสามัคคีกลมกลืนกันก็จะไม่มีปัญหาใดที่ช่วยเหลือกันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ ภัยยาเสพติด ภัยโรคระบาด ภัยก่อการร้าย ฯลฯ การมีกล้อง CCTV มีการปราบปรามอาชญากรรมที่ได้ผล มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง คือการสร้าง Resilience อย่างหนึ่งเพื่อให้เกิดผลตอบแทน

          การสร้างงานให้ชุมชน การกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน ตลอดจนการลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน การเปิดกว้างให้ทุกคนได้รับประโยชน์เท่าเทียมกันจากการเป็นผู้อยู่อาศัย ในเมือง ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งของการสร้าง Resilience Dividend

          แนวคิดใหม่ของ Resilience Dividend ทำให้เกิดความคิดเชิงนวัตกรรมในการเตรียมรับมือกับภัยที่มาสู่เมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เมืองกลับสู่สภาวะปกติเท่านั้นหากต้องการให้อยู่ในสภาวะที่ดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ

          แนวคิดใหม่ที่กำลังมีอิทธิพลต่อเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกอยู่ในปัจจุบันสมควรได้รับการพิจารณาไตร่ตรองโดยสังคมไทย และผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับเมืองเพราะจะมีวิกฤติแล้ววิกฤตเล่าถาโถมเข้าสู่เมืองต่าง ๆ ของบ้านเราอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้เหมือนเมืองอื่น ๆ ทั่วโลก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *