Hydrogen Society

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
17
พฤศจิกายน 2558

Photo by Riccardo Annandale on Unsplash

       ญี่ปุ่นประกาศตัวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าจะเป็น Hydrogen Society ซึ่งหมายถึงการใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานพื้นฐานเพราะเป็นพลังงานทดแทนได้และสะอาด อีกทั้งก่อให้เกิดผลกระทบน้อยมากต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจากการใช้รถยนต์ หรือการดำรงชีวิตประจำวัน

          เราได้ยินคำว่า Hydro society หรือสังคมพลังน้ำของไทยมานมนาน เราอาศัยน้ำในการเพาะปลูกและดำรงชีวิตตลอดจนใช้คลองและแม่น้ำเป็นเส้นทางสัญจร การอยู่กับน้ำเป็นวัฒนธรรมของไทยมายาวนาน ปัจจุบันเราได้ยินคำว่า Hydrogen Society ซึ่งตีฆ้องร้องป่าวโดยญี่ปุ่นในปัจจุบัน

          มีการพูดถึง Hydrogen Economy ในทศวรรษ 1970 โดยผู้ประดิษฐ์คำนี้คือ John Bockris ศาสตราจารย์ด้าน Electrochemistry ชาวอังกฤษ (ค.ศ. 1923-2013) และสานต่อโดยนักคิดจาก University of Michigan เพื่อหลีกหนีผลเสียจากการใช้ hydrocarbon fuels (เช่น พลังงานจากกาซ ถ่านหิน และน้ำมัน) เพราะการเผาไหม้ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด climate change

          ไอเดียของการใช้ไฮโดรเจนมาจากการเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาด เพราะเมื่อเผาไหม้แล้วไม่เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งมีปริมาณไม่จำกัดเพราะเป็นองค์ประกอบของน้ำ

          ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นกับภาคธุรกิจญี่ปุ่นร่วมกันผลักดันให้รถยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานออกสู่ตลาด ทั้งโตโยต้า ฮอนด้า และนิสสัน ต่างกำลังเร่งการผลิตเป็นการใหญ่ รถยนต์รุ่น Mirai ของโตโยต้าซึ่งใช้พลังงานไฮไดรเจนออกสู่ตลาดเมื่อปลายปี 2014 และเชื่อว่าจะทยอยออกตามมาอีกหลายรุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้เงินอุดหนุนรถยนต์ทุกคัน อาจถึง 500,000-600,000 บาทต่อคัน

          ญี่ปุ่นตั้งเป้าว่าจะใช้ Tokyo Olympics 2028 เป็นตัวเปิดการเป็น Hydrogen Society รถโดยสารที่ขนนักกีฬาและใช้ในการจัดการจะเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยโฮไดรเจนทั้งหมด ขณะนี้กำลังวางแผนสร้างเครือข่ายสถานีเติมไฮโดรเจนทั่วประเทศให้มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 35 แห่ง ก่อนปี 2020

          นอกจากนี้ยังมีแผนจะใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้าที่มาจากไฮโดรเจนเป็นแหล่งพลังงานของที่อยู่อาศัยอีกด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือญี่ปุ่นทุ่มเต็มที่กับการใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงาน อย่างไรก็ดีความฝันของญี่ปุ่นในเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย มีผู้วิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะในโลกตะวันตกเป็นจำนวนมาก

          ปัญหาแรกของการใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานก็คือราคาของการผลิตไฮโดรเจนซึ่งยังสูงมาก สำหรับญี่ปุ่นเองอาจต้องนำเข้าจากต่างประเทศเช่นจากออสเตรเลีย เพียงรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนในเวลาหนึ่งปีโดยเฉลี่ยใช้ไฮโดรเจนประมาณ 1,000 คิวบิกเมตรต่อปี การผลิตที่ใช้อยู่ในปัจจุบันประมาณ 300 ล้านคิวบิกเมตรจึงไม่เพียงพอหากมีการใช้รถยนต์และในการดำรงชีวิตกันมากขึ้น

          ปัญหาที่สอง คือ ความปลอดภัย ไฮโดรเจนที่ไม่บริสุทธ์สามารถติดไฟและระเบิดได้ บริษัทผลิตรถยนต์และผลิตไฮโดรเจนต่างยืนยันว่าได้ป้องกันไว้อย่างดีแล้วและปลอดภัยอย่างไว้ใจได้ (โรงงานนิวเคลียร์ที่ Fukushima ก็เคยพูดอย่างเดียวกัน) ดังนั้นความเชื่อมั่นของผู้ใช้ในเรื่องความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ

          ปัญหาที่สาม ถึงแม้การใช้ไฮโดรเจนจะสะอาด แต่การได้มาซึ่งไฮโดรเจนก็ต้องใช้พลังงานซึ่งอาจมาจากการเผาไหม้ถ่านหินหรือก๊าซโดยแยกไฮโดรเจนจากน้ำ (H2O) หากจะให้สะอาดจริงก็ต้องใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ ฯลฯ ดังนั้นพลังงานไฮโดรเจนจึงมิได้สะอาดบริสุทธ์ หรือ “เขียวอื๋อ” เสมอไป

          ปัญหาที่สี่ ราคารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจน (อ๊อกซิเจนกับไฮโดรเจนหากอยู่ใกล้กันโดยมีแผ่นกั้นจะทำปฏิกิริยาเคมีเกิดความร้อนขึ้นและสามารถแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า) ยังมีราคาสูงมาก รถยนต์ Mirai มีราคาสูงกว่ารถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเกือบเท่าตัว

          ไม่ว่าจะมีคนวิจารณ์เรื่องการใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานอย่างไร ญี่ปุ่นก็เดินหน้าทั้ง ๆ ที่รู้ว่าคานาดาก็เคยพยายามทำสิ่งเดียวกันในปี 2010 แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เช่น ผลิตรถโดยสารพลังงานไฮโดรเจนแต่ก็ไม่ไปไหนเนื่องจากต้นทุนในการดำเนินงานสูง

          สหรัฐอเมริกาเองก็เคยพยายามใช้พลังงานไฮโดรเจนแต่ก็ดูแผ่วไป เนื่องจากการเกิดขึ้นของรถพลังไฟฟ้า รถไฮบริด (ทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน) แบตเตอรี่ไฟฟ้าที่ทรงพลังและมีราคถูกลง ฯลฯ

          ญี่ปุ่นประกาศผลักดันการเป็น Hydrogen Society ท่ามกลางคำวิจารณ์ (ความหวาดหวั่นว่าญี่ปุ่นจะทำสำเร็จ?) ของประเทศตะวันตกว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นสิ่งโง่เขลา ฯลฯ ญี่ปุ่นอาจต้องเลือกทางเดินนี้เพราะความจำเป็นในเรื่องการลดการใช้พลังงานนิวเคลียร์ซึ่งเคยก่อปัญหา และความต้องการสร้าง ‘อัตลักษณ์’ ใหม่ของการเป็นสังคมที่เขียวอย่างแท้จริง

          ภาคธุรกิจและภาครัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำวิจัยเรื่องพลังงานไฮโดรเจนมายาวนาน เป็นไปได้หรือไม่ว่าญี่ปุ่นอาจค้นพบอะไรที่ลึกซึ้งกว่าที่ผู้คนรู้และเข้าใจกันอยู่ในขณะนี้ จึงกล้าที่จะเดินหน้าประกาศเป็น Hydrogen Society

          การมีผู้กล้าหาญออกมาบุกเบิกการใช้ไฮโดรเจนที่มีอยู่ไม่จำกัดในโลกมาใช้เป็นพลังงานที่สะอาด เป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน โลกแห่งการหันไปใช้พลังงานทางเลือกนอกจาก fossil fuels ได้เปิดกว้างขึ้นอีกแล้วเพื่อประโยชน์ของชาวโลก เราควรเชียร์ญี่ปุ่นในเรื่องนี้เพราะยิ่งมีทางเลือกมากเท่าใด ก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติมากเพียงนั้น

          การเข้าใจว่าไม่มีหงส์ดำในโลกมาแต่ดึกดำบรรพ์ จนกระทั่งพบใน ค.ศ. 1697 พิสูจน์ให้เห็นว่าการยังไม่เคยเห็นหงส์ดำมิได้หมายความว่าไม่มีหงส์ดำในโลก ความเป็นไปได้ของ Hydrogen Society ของชาวโลกอาจรออยู่ข้างหน้าก็เป็นได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *