โคลนนิ่งเพื่อการค้า

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
8
ธันวาคม 2558

ที่มา https://www.europarl.europa.eu/resources/library/images/20150616PHT67001/20150616PHT67001-cl.jpg

           แกะ “ดอลลี่” เป็นสัตว์ตัวแรกของโลกที่มนุษย์โคลนได้สำเร็จเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน เมื่อเวลาผ่านไปการค้นคว้าต่าง ๆ ด้านเทคโนชีวภาพ (biotechnology) ก็ก้าวหน้าไปมากจนปัจจุบัน การโคลนสัตว์เพื่อการค้ากำลังจะเป็นทางโน้มของโลกอย่างน่าตกใจ

           เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2015 FDA ของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศยอมรับว่าปลา Atlantic Salmon ที่เกิดจากการตกแต่งพันธุกรรมเป็นอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางอาหาร ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่สัตว์ซึ่งเกิดจากการตกแต่งพันธุกรรมได้การรับรองอย่างเป็นทางการ

           ผู้ผลิตปลา Atlantic Salmon เลี้ยงในฟาร์มในปานามาได้ยื่นคำขอรับรองมาเป็นเวลา 20 ปี FDA ศึกษาอยู่ถึง 10 ชั่วอายุของปลาก่อนที่จะรับรอง วิธีการทำก็คือตกแต่งเอายีนส์ซึ่งผลิต growth hormone ของปลา Pacific Chinook Salmon ไปใส่ใน DNA ของปลา Atlantic Salmon จนทำให้เลี้ยงได้ตลอดทั้งปีและเติบโตเร็วมาก กล่าวคือจาก 3 ปี เหลือเพียง 16-18 เดือนสำหรับขนาดปลาที่ขายในตลาดได้

           ในเวลาใกล้กันก็มีข่าวของการตกแต่งยีนส์ของยุงลายที่เป็นพาหะของเชื้อมาเลเรียให้สิ้นฤทธิ์เพื่อให้ไม่มีคนตายถึง 3 ล้านคนต่อปีในอาฟริกาเพราะมาเลเรียอีกต่อไป โครงการนี้สนับสนุนโดยมูลนิธิ Bill and Melinda Gates ด้วยเงินทุนมหาศาลเพื่อใช้กลยุทธ์เทคโนโลยีชีวภาพในการปราบ โรคร้ายนี้

           ในยุคแรกของการโคลน (cloning) นักวิทยาศาสตร์ประสบความยากลำบากจนมีอัตราความสำเร็จต่ำ ต้นทุนก็สูง แต่หลังจากลองผิดลองถูกตลอดเวลาที่ผ่านมา ในที่สุดก็ได้เทคโนโลยีใหม่ที่เรียกรวมกันว่า Gene-editing หรือการตกแต่งยีนส์ แบบชนิดตัดโดยเอนไซม์และเอายีนส์อื่นมาใส่แทน

           มีอยู่หลายตัวอย่างของความสำเร็จของการโคลนสัตว์ด้วยวิธีใหม่ (ก) หมูที่ขุนให้อ้วนด้วยอาหารที่น้อยลง (ข) ไก่ที่ฟักออกมามีแต่ตัวเมีย เพื่อเอามาออกไข่ (ค) วัวที่ออกมาเป็นตัวผู้เพื่อเลี้ยงเอาเนื้อ เนื่องจากตัวผู้สามารถเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อได้มีประสิทธิภาพกว่าตัวเมีย (ง) หมูตัวเล็กแคระแกรน เพื่อเอามาเป็นสัตว์เลี้ยง (จ) สุนัขพันธุ์บีเกิลที่มีกล้ามเนื้อขาแข็งแรงขึ้น เพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว (ฉ) แพะพันธุ์แคชเมียรที่มีเนื้อหนาแน่นขึ้นและมีขนยาวเพื่อเอาไปทอเสื้อหนาว (ช) วัวพันธุ์เนื้อที่มีเนื้อมากขึ้นโดยกินอาหารเท่าเดิม

           แต่ดั้งเดิมมนุษย์ผสมพันธุ์สัตว์ข้ามหลายสายพันธุ์เพื่อให้ได้ลักษณะตรงตามที่ต้องการ ซึ่งต้องใช้เวลานานและไม่มีความแน่นอน เช่น ไก่ชน ม้าแข่ง สุนัข วัวพันธุ์เนื้อและ พันธุ์นม ฯ แต่เมื่อมีเทคโนโลยีโคลนนิ่งเกิดขึ้น มนุษย์ก็มีทางลัดคือเพียงเอาเซลล์หนึ่งของตัวต้นแบบมาเพาะในจานทดลอง และใช้วิธีการแต่งยีนส์โดยเอายีนส์ที่รู้แน่นอนว่าทำหน้าที่ในเรื่องใด (จำเป็นต้องมีแผนที่ DNA หรือ genome จึงจะรู้ว่ายีนส์ตำแหน่งใดใน DNA ของสัตว์สายพันธุ์อื่นทำหน้าที่อะไรและก่อให้เกิดคุณลักษณะใด) มาแทนยีนส์ที่ไม่พึงปรารถนา จากนั้นก็นำไปเพาะเลี้ยงในมดลูกของสัตว์พันธุ์นั้น

           พูดสั้น ๆ ก็คือ การตกแต่งยีนส์คือการไปแก้ไขสิ่งที่ธรรมชาติกำหนดมาเพื่อให้ได้คุณลักษณะที่พึงปรารถนา ส่วนการผสมข้ามสายพันธุ์ก็คือการคัดเลือกคุณลักษณะที่ต้องการโดยเป็นไปตามวิธีทางธรรมชาติ

           ข่าวล่าสุดของการทำธุรกิจจากการโคลนสัตว์อย่างเป็นล่ำเป็นสันก็คือเอกชนจีนร่วมลงทุนกับบริษัทเกาหลีประกาศตั้งโรงงานในตอนเหนือของเมืองเทียนจิน เพื่อผลิตสัตว์จากการโคลน เช่น วัว ปีละ 100,000 ตัว และจะเพิ่มเป็น 1,000,000 ตัว รวมทั้งการโคลนม้าแข่งและสุนัขพันธุ์ดี

           เพียง 4 ปีหลัง “ดอลลี่” จีนก็มีความสามารถในการโคลน จีนสามารถโคลนสุนัขพันธุ์ Tibetan Mastiff แท้ซึ่งมีขนาดใหญ่มากได้ 3 ตัว โคลน “หมูใจเด็ด” ฮีโร่จากการสามารถรอดชีวิตอยู่ได้ถึงกว่าเดือนหลังตึกถล่มในแผ่นดินไหวในเสฉวนในปี 2008 (มีคนตายกว่า 70,000 คน สูญหายอีก 20,000 คน)

           จีนเชื่อว่าความต้องการของเนื้อวัวพันธุ์เนื้อในจีนจะเพิ่มขึ้นอีกมาก การเลี้ยงแบบปกติจะช้าไม่ทันใจ หากโคลนตัวเยี่ยมยอดแล้วก็จะได้แฝดเหมือนกันเป็นแสนเป็นล้านตัวต่อไป นอกจากนี้การโคลนม้าแข่งและสุนัขที่มีราคาแพงก็จะเป็นการค้าที่ดีมากอีกด้วย

           จีนสามารถทำได้โดยไม่ถูกรัดรึงด้วยกฎเกณฑ์ในการคำนึงประเด็นจริยธรรม การละเมิดกฎธรรมชาติ เพราะไม่มีการควบคุมเข้มงวดเหมือนประเทศอื่น ๆ จีนใช้ข้อได้เปรียบตรงนี้ทุ่มเททรัพยากรเพื่อการวิจัย หาวิธีโคลนที่แม่นยำบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ต้องการ โดยมุ่งเน้นการค้าจากการโคลนสัตว์ซึ่งหลายประเทศก็ต้องการหากทำไม่ได้เพราะมีกฎหมายห้าม

           ในเดือนกันยายนที่ผ่านไป รัฐสภา EU ห้ามการโคลนสัตว์เพื่อเอามาเป็นอาหาร และห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อีกด้วย ในสหรัฐอเมริกาก็เพิ่งมีการยอมรับปลา GMO พันธุ์ Atlantic Salmon อย่างเป็นทางการเท่านั้น

           อย่างไรก็ดีการโคลนในอุตสาหกรรมเลี้ยงวัวก็มิใช่สิ่งใหม่ในสหรัฐอเมริกา มีมาตั้งแต่ ค.ศ. 2004 เพียงแต่ยังไม่ได้รับการรับรองจาก FDA

           การโคลนซึ่งดูน่าหวาดหวั่นที่สุดก็คือการโคลนหมูเพื่อให้อวัยวะมนุษย์สามารถเติบโต ในตัวหมูได้ หากทำได้สำเร็จก็หมายถึงการเพาะอวัยวะมนุษย์ เช่น หัวใจ ตับ ไต เซลล์ต่าง ๆ ได้อย่างไม่รู้จบ โดยใช้หมูเป็นเครื่องมือเนื่องจากหมูและคนมีความคล้ายคลึงกันมากในเชิงชีววิทยา

           ในปัจจุบันมีความพยายามที่จะโคลนวัวพันธุ์เนื้อที่มีภูมิคุ้มกันเชื้อโรคต่าง ๆ ให้แข็งแรงเป็นพิเศษ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะรักษาซึ่งอาจมีพิษตกค้างถึงมนุษย์ได้ แค่นี้ยังไม่พอ ตอนนี้มีการโคลนวัวตัวผู้ไม่ให้มีเขาเพราะเขาเป็นปัญหาทำให้เกะกะและเป็นอันตราย หากจะถอนทิ้งตอนโตวัวก็จะเจ็บปวดและมีต้นทุนสูง

           การโคลนม้าพันธุ์ดีเพื่อแข่งโปโลเป็นการเฉพาะก็ทำได้สำเร็จแล้วในอเมริกาใต้ ดังนั้นการโคลนม้าแข่งพันธุ์ดีราคานับล้านบาทเพื่อการค้าจึงไม่ใช่เรื่องยาก บางประเทศก็ใช้การโคลนเพื่อการค้าที่มีตลาดเฉพาะ อย่างเช่นในปัจจุบันอิสราเอลสามารถโคลนองุ่นจากซากเมล็ดเก่าแก่จากสมัยพระเยซูที่พบในถ้ำเพื่อเอามาผลิตไวน์ซึ่งเชื่อว่าเป็นไวน์ที่พระเยซูเคยดื่มเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว

           สิ่งที่ผู้คนหวาดหวั่นในเรื่องการโคลนก็คือการโคลนมนุษย์ซึ่งน่าเชื่อว่ามีการทดลองลับ ๆ อยู่ทั่วโลก เพียงแต่ว่าใครจะเปิดเผยก่อนเท่านั้นเองว่าทำได้สำเร็จแล้ว คิดแล้วน่ากลัวยิ่งขึ้นหากกลายเป็นการค้าไป ลองคิดดูว่าหากมีการโคลนตนเองเพื่อหาคู่แฝดและเอาอวัยวะมาใช้เพื่อตนเองตามใจชอบ คน ๆ นั้นจะมีชีวิตยิ่งกว่าเป็นทาสสมัยก่อน

           การโคลนคู่ชีวิต พ่อแม่ ลูกที่จากไป อาจทำได้ในอนาคต แต่อย่าลืมว่าเราโคลนได้แต่ร่างกายเท่านั้น จิตใจ บุคลิกลักษณะอุปนิสัยของเขามิได้ถูกโคลนมาด้วย ร่างกายหน้าตาเหมือนกันแต่จิตใจที่เลวร้ายจะเป็นเรื่องที่เศร้ายิ่งกว่าให้เขาจากไปและทิ้งความทรงจำที่ดีเอาไว้

           โลกข้างหน้าน่ากลัวเพราะมนุษย์ทำให้น่ากลัว การละเมิดกฎธรรมชาติทำให้ได้ประโยชน์เชิงการค้าและความพอใจ อย่างไรก็ดีหากขาดกฎระเบียบที่ควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ในที่สุดคนที่ทำให้โลกน่ากลัวก็จะไม่มีโลกที่น่าอยู่ให้กลัวอีกต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *