วรากรณ์ สามโกเศศ
26 เมษายน 2559
เมื่อได้ยินข่าวว่าเจ้าของเมือง Tarraleah ในรัฐ Tasmania ของออสเตรเลียประกาศขายเมืองให้ใครก็ได้ไม่ว่าจะเป็นคนในประเทศหรือต่างประเทศ คงรู้สึกฉงนเหมือนกันว่าเมืองมีเจ้าของด้วยหรือ? และขายเมืองกันได้ด้วยหรือ?
Tarraleah (ทาร์ราเลห์) ที่จริงแล้วไม่ใช่เมืองในความหมายทั่วไปที่เป็นสมบัติสาธารณะ หากเป็นเมืองที่สร้างขึ้นมาโดยบริษัทเอกชนในที่ดินเอกชน ไม่ต่างอะไรไปจากการสร้างเรือนพักและอาคารสนับสนุนสำหรับวัตถุประสงค์บางอย่างของธุรกิจ
ในยุคทศวรรษ 1930 Hydro Electric Commission และต่อมา คือ Hydro Tasmania สร้างเมืองเช่นนี้ขึ้นให้เป็นที่พักของแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนอพยพมาจากยุโรป (ออสเตรเลียในยุคก่อน 1980 มีนโยบายที่เรียกว่า White Australians Policy คือรับคนอพยพเฉพาะที่เป็นคนผิวขาวหรือคนยุโรปเท่านั้น) เพื่อสร้างเขื่อนพลังน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าและดูแลรักษาให้เขื่อน
ที่พักของคนกว่า 2,000 คน ก็ต้องมีโบสถ์ โรงแรม โรงเรียน บ้าน โรงมหรสพ แหล่งหย่อนใจ ฯลฯ อยู่ด้วยเป็นธรรมดาในเมืองที่มีพื้นที่ 145 เอเคอร์ (ประมาณ 367 ไร่) เมื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถดูแลเขื่อนผลิตไฟฟ้าได้ดีกว่าแรงงานมนุษย์ Hydro Tasmania จึงเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก สถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้จึงถูกทิ้งร้างไปตั้งแต่ทศวรรษ 1990
เจ้าของคนปัจจุบันซื้อมาจาก Hydro Tasmania แล้วทอดหนึ่งเมื่อ 13 ปีก่อน และฟื้นฟูตกแต่งจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทำรายได้ปีละ 2 ล้านเหรียญออสเตรเลีย แต่ตอนนี้ดูแลต่อไปไม่ไหวจึงตั้งใจจะขายในราคา 11 ล้านเหรียญออสเตรเลีย
ทันทีที่ประกาศออกไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีผู้สนใจนับสิบ ๆ ราย เพราะเห็นศักยภาพของการทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทั้งพักผ่อน ตกปลา (ในเขื่อนเต็มไปด้วยปลาเทราส์ และปลาแซลมอน) พักแรม รวมทั้งเป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงฉลองต่าง ๆ เช่นพิธีแต่งงาน ฯลฯ
เมือง Tarraleah มีเจ้าของและซื้อขายกันได้เพราะโดยแท้จริงแล้วก็คือ รีสอร์ทแห่งหนึ่งที่เป็นเมืองประวัติศาสตร์ อายุกว่า 80 ปี และเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าให้ชาว Tasmania มายาวนาน
สิ่งที่ซื้อขายก็คือสิทธิในการใช้ที่ดิน และเป็นเจ้าของอาคารตลอดจนใบอนุญาตต่าง ๆ ไม่ใช่ม้วนแผ่นดินและบ้านมาใส่กระเป๋า เพราะโดยแท้จริงแล้วเวลาที่บุคคลหนึ่งซื้อที่ดินนั้นก็คือซื้อสิทธิในการใช้ที่ดินตลอดจนทรัพยากรที่อยู่ใต้ผืนดินนั้น
เมื่อมีคนต่างชาติมาซื้อที่ดินของบ้านเรานั้น ที่หวั่นเกรงกันไม่ใช่การม้วนเอาแผ่นดินไปที่อื่น หากเป็นประเด็นของการควบคุมการใช้ เคยมีผู้นำบอกว่าไม่น่าห่วงเรื่องต่างชาติมาซื้อที่ดินเพราะเอาไปไม่ได้ แต่ความจริงก็คือถึงแม้เอาไปไม่ได้แต่ก็สามารถสร้างความเสียหายให้แก่ชาติได้อย่างมาก เช่นสมมุติที่ดินริมหาดภูเก็ตทั้งหมดเป็นของต่างชาติและเขาเอามาทำฮวงซุ้ยแทน อย่างนี้เราจะสนับสนุนการท่องเที่ยวของบ้านเราได้อย่างไร
กลับมาเรื่อง Tasmania อีกครั้ง Tasmania ดูจะเป็นดินแดนลึกลับของผู้คนโดยทั่วไป สถานที่แห่งความสวยงามและสงบน่าอยู่แห่งนี้ คือรัฐหนึ่งของประเทศออสเตรเลียโดยเป็นเกาะแยกออกมา (จริง ๆ ประกอบด้วยเกาะเล็ก ๆ อีก 334 เกาะ) เกาะใหญ่อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ คือตรงที่เป็นรัฐ Victoria ประมาณ 240 กิโลเมตร ช่องแคบตรงนี้มีชื่อว่า Bass Strait
รัฐ Tasmania มีพื้นที่ 68,401 ตารางกิโลเมตร (ภูเก็ตมีพื้นที่ 576 ตารางกิโลเมตร) มีประชากรอยู่ประมาณ 500,000 คน (ทั้งออสเตรเลียมีประมาณ 24 ล้านคน มีพื้นที่ 7.69 ล้านตารางกิโลเมตร ไทยมีพื้นที่ประมาณ 0.5 ล้านตารางกิโลเมตร)
Abel Tasman นักบุกเบิกดินแดน ชาวดัชเป็นชาวยุโรปคนแรกที่พบเกาะนี้ ในปี ค.ศ.1642 โดยตั้งชื่อว่า “Anthony van Diemen’s Land” ตามชื่อของผู้สนับสนุนการเดินทางของเขา ในปี ค.ศ.1856 อังกฤษได้เปลี่ยนชื่อเป็น Tasmania เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้พบคนแรก
ประวัติศาสตร์ Tasmania บันทึกว่ามีการสู้รบระหว่างคนผิวขาวผู้บุกรุกกับชาวพื้นเมืองของออสเตรเลีย ที่เรียกว่า Aborigines ในทศวรรษ 1820 มีการต่อสู้กันจนคนพื้นเมืองตายไปกว่า 550 คน เมื่อปราบปรามได้สำเร็จในปี 1832 อังกฤษก็เอา Aborigines เกือบทั้งหมดจับใส่เรือไปไว้บนเกาะ Flinders Island ซึ่งต่อมาก็ตายไปเป็นจำนวนมากด้วยโรคระบาด Tasmania จึงเป็นรัฐเดียวในออสเตรเลียที่มี Aborigines จำนวนน้อยที่สุดในปัจจุบัน (ทั้งประเทศมีประมาณ 600,000 คน)
การเป็นรัฐที่อยู่ไกลออกไปทางใต้สุด และนโยบาย White Australians Policy ในอดีตทำให้ Tasmania เป็นรัฐที่ประชากรมีความกลมกลืนกันมากทางชาติพันธุ์กว่ารัฐอื่น ๆ กล่าวคือร้อยละ 65 ของคน Tasmania ปัจจุบันเป็นลูกหลานของ “10,000 ครอบครัวแรก” ที่อพยพมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 19 หรือประมาณ ค.ศ.1850 การสำรวจในปี ค.ศ.1996 ระบุว่ากว่าร้อยละ 80 ของคน Tasmania เกิดในรัฐนี้ และเกือบร้อยละ 90 เกิดในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไอร์แลนด์ หรือสหราชอาณาจักร
ในยุคของการท่องเที่ยวปัจจุบัน การซื้อขายเมืองประวัติศาสตร์ เช่น Tarraleah จะมีให้เห็นอีกมาก เช่นเดียวกับการสร้างเมืองหรือบ้านเก่าจากจินตนาการขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว
การบูรณะหรือสร้างบ้านเกิดของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์มีอยู่ทุกแห่งหนเพื่อเป็นแหล่งดึงดูดความสนใจ การได้ไปยืน selfie อยู่หน้าป้ายของบ้านที่ระบุว่าเป็นบ้านเกิดของบุคคลสำคัญเป็นความพอใจของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ โดยไม่สนใจว่าเป็นบ้านเก่าจริง ๆ หรือสร้างขึ้นมาใหม่ การมีเรื่องราวประกอบสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อเป็นแรงดึงดูดจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
ผมรอคอยมานานแล้วว่าเมื่อไหร่จะเห็นกระท่อมบ้านเกิดของ Siamese Twins (แฝดสยามหรืออินจัน) ที่คนทั่วโลกรู้จักสร้างขึ้นบนริมแม่น้ำแม่กลองอันเป็นบ้านเกิด เพื่อสมุทรสงครามจะไม่ได้เล่น แต่แค่ “หิ่งห้อย” และ “ครูเอื้อ” เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเท่านั้น
เรื่องเล่าขานจริงหรือเท็จจากประวัติศาสตร์ สามารถทำเงินในด้านการท่องเที่ยวได้มหาศาลเสมอ แดร็กคูล่าไม่มีตัวตนจริงเพราะเป็นนิยายแต่ก็มีคฤหาสน์อยู่ในสาธารณรัฐเช็กที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากไปเยือนในแต่ละปี ถ้าเราสร้าง “นากพระโขนง” ให้เป็นแบรนด์ของผีประจำ ASEAN ได้ คนไทยรวยอีกมาก แน่ ๆ