เตรียมตัวกับ Internet Finance

วรากรณ์  สามโกเศศ
13 ธันวาคม 2559

          สำหรับคนในวงการปรากฏการณ์ Internet Finance ดูจะไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นเพราะมีตั้งแต่ก่อนปี 2006 ในจีน แต่นับตั้งแต่ปี 2013 ดูจะแพร่หลายยิ่งขึ้นจนน่าตกใจว่าอาจนำไปสู่ปัญหาในหลายเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบาดข้ามชาติมาไทย

          ในความหมายอย่างกว้าง Internet Finance (IF) ครอบคลุม (ก) กิจกรรมด้านไอทีของบริษัทที่ให้บริการทางการเงิน และ (ข) กิจกรรมดั้งเดิมทั้งหมดที่สถาบันการเงินเอาไอทีมาประยุกต์ใช้ในบริการของสถาบันการเงิน

          ตัวอย่างของกิจกรรมกลุ่มแรกก็ได้แก่การเป็นตัวกลางการชำระเงินให้ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เช่น We Chat Pay หรือ AliPay ของจีน กล่าวคือผู้ซื้อมีเงินในบัญชีและเอาไปใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการ (ที่เรียกว่า debit card คือมีเงินอยู่ในบัตรแล้วจึงจ่าย ซึ่งต่างจาก credit card ซึ่งจ่ายไปโดยยังไม่ได้ “จ่ายเงินจริง” ต้องเรียกเก็บภายหลังซึ่งหากจ่ายไม่ครบก็คือการกู้ยืมเงินนั่นเอง)

          ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนซื้อของในร้าน 7-11 (ที่นิยมมากก็คือนมเม็ดสวนจิตรลดา ยาหม่อง โก๋แก่ เถ้าแก่น้อย ฯลฯ) ก็ไม่ต้องจ่ายเงินสด เพียงเข้าแอพ AliPay ในโทรศัพท์มือถือ (บริษัทลูกของ Alibaba ของแจ็ค หม่า) คนขายก็เอาที่ยิงป้ายยิงไปบนจอ ก็จะหักเงินจากบัญชีแบบ debit card เรียบร้อย

          ตัวอย่างของกิจกรรมกลุ่มสอง ก็ได้แก่ Mobile Banking อันได้แก่ถอนเงิน โอนเงิน ฝากเงินผ่านไอที ดังที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันผ่านมือถือหรืออุปกรณ์เคลื่อนที่อื่น ๆ

          อย่างไรก็ดีความหมายอย่างแคบของ IF ก็คือกิจกรรมไอทีซึ่งจ่ายเงินโดยฝ่ายที่สาม (ฝ่ายหนึ่งและสองคือผู้ซื้อและผู้จ่ายเงินซื้อของ) ดังเช่นกรณีของ Ali Pay การกู้ยืมเงินออนไลน์ การขายตรงของกองทุนเพื่อการลงทุน การระดมทุนสำหรับโครงการจากคนจำนวนมาก (crowd funding) การขายประกันออนไลน์ ตลอดจนการโอนเงินระหว่างกันเป็น digital currency เช่น หน่วยเป็น bitcoin (ปัจจุบันมี digital currency ไม่ต่ำกว่า 400 ชนิด และทุกวันจะมีคนคิดขึ้นมาใหม่ทุกวันเพื่อให้การโอนเงินระหว่างกันสะดวกและปลอดภัยใกล้ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่สุด)

          Ali Pay ฃึ่งเป็นยักษ์ใหญ่เปิดตัวในปี 2004 และ Credit East ในปี 2005 แต่ที่เกิดเป็น ไฟไหม้ป่านั้นเกิดขึ้นเมื่อมีการเปิดตัว Yu’ebao ซึ่งเป็น platform เพื่อการซื้อขายออนไลน์สำหรับตลาดเงินอันมี Ant Financial Services ของ Alibaba เป็นเจ้าของในปี 2013

          AliPay ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 450 ล้านราย และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2,000 ล้านราย ใน 20 ปี มีส่วนแบ่งการตลาดในจีนประมาณร้อยละ 70 มี 2 ล้านร้านค้าทั่วโลกที่รับชำระเงินโดย AliPay เมื่อ AliPay ประสบความสำเร็จ ไอเดียอื่น ๆ ที่สำคัญออนไลน์ เช่น กู้เงินระหว่างบุคคล (P2P) การซื้อขายกองทุน การระดมทุนก็เกิดขึ้นตามมา

          P2P เติบโตอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2014 ปัจจุบันมีมากกว่า 4,000 platforms (ระบบไอทีฃึ่งอำนวยให้เกิดธุรการการเงิน) ในจีน ดึงดูดให้คนเกือบ 3 ล้านคนปล่อยเงินกู้ Mybank ซึ่งเป็นของกลุ่ม Alibaba ก่อตั้งปี 2015 ปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายย่อยและผู้ก่อสร้างธุรกิจรายใหม่ นับถึงปัจจุบันบริการลูกค้ารายย่อยกว่า 3 ล้านราย ปล่อยกู้ไปแล้ว 45,000 ล้านหยวน สามารถปล่อยกู้เงินด่วนโดยโอนเงินให้ในเวลาเพียง 3 นาที (ปล่อยกู้ตั้งแต่ 1 หยวนขึ้นไป) เวลาใช้คืนภายใน 24เดือน ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันแต่ประการใด

          บริษัทไม่กลัวหนี้สูญเพราะเขามีข้อมูลของผู้กู้จากการเป็นลูกค้าซื้อขายออนไลน์ก่อนหน้านี้ใน Alibaba แล้ว การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดยักษ์ของผู้บริโภคหรือ big data นี่แหละคือหัวใจของธุรกิจทุกลักษณะ

          นอกจากนี้ยังมีบริษัท Ant Fortune ของกลุ่มเดียวกันที่ใช้ไอทีเป็นโอกาสแก่ประชาชนในการฝากเงินและลงทุนในบริษัทแม่คือ AliPay ได้ในเวลาเดียวกัน กล่าวคือเมื่อลูกค้าฝากเงินใน AliPay เป็น debit card หากไม่ใช้เงินก็จะกลายเป็นเงินลงทุนในบริษัท แต่ก็สามารถนำเงินนี้มาใช้จ่ายได้ตลอดเวลา ผลตอบแทนก็คิดให้ตามวันเวลาของการเป็นเงินลงทุน

          P2P นั้นมีมากมายหลายบริษัท และระหว่างบุคคลก็มีเช่นกัน นอกประเทศจีนก็มี platform สำหรับกิจกรรมเช่นนี้ เช่น Lending Club / Prosper / On Deck ฯลฯ การซื้อขายกองทุน การประกันออนไลน์โดยตรงก็ร้อนแรงไม่น้อย

          ปรากฏการณ์ IF ที่ระเบิดขึ้นอย่างน่ากลัวนี้เป็นเรื่องน่ากังวลอยู่หลายระดับภายในประเทศจีน การกู้ยืมออนไลน์โดยคนไม่รู้จักกันเป็นปุ๋ยอย่างดีของการต้มตุ๋นลักษณะแชร์แม่ชม้อย (ฝรั่งเรียกว่า Ponzi Scheme) กล่าวคือเสนอให้ดอกเบี้ยอย่างสูงเป็นพิเศษโดยตอนแรกก็จ่ายให้โดยดี แต่เมื่อเงินเข้ามากขึ้นก็หายตัวไปเลย

          ความกังวลอีกระดับหนึ่งก็คือการปล่อยกู้ข้ามประเทศ สิ่งที่เป็นไปได้ค่อนข้างแน่นอนในอนาคตก็คือคนไทยจะได้มีโอกาสชมเชยการกู้ยืมชนิดทันใจออนไลน์ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และคนไทยก็จะเป็นหนี้กันหนักมือขึ้นกว่าที่กู้กันอยู่แล้วในประเทศ ถ้าธนาคารต่างประเทศโดยเฉพาะจีนมี Big Data ของลูกค้ามากเพียงพอและวิเคราะห์ได้ชัดเจนว่าใครมีหรือไม่มีปัญหาผ่อนใช้เมื่อใด เราก็จะเห็นการเป็นทาสจากการเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดูแลเรื่องหนี้ของประชาชนก็ทำงานได้ยากเพราะไม่สามารถใช้กฎหมายบังคับไม่ให้ต่างประเทศปล่อยหนี้ได้ จะทำได้ก็ด้วยมาตรการควบคุมฝั่งของเรา แต่ก็ครอบคลุมได้ยากเพราะมันผ่านเข้าออนไลน์ สิ่งสำคัญที่ต้องคุ้มครองก็คือธุรกิจของสถาบันการเงินของประเทศเรา

          รัฐบาลจีนตระหนักดีถึงปัญหาไฟไหม้ป่านี้ดี ในเดือนตุลาคมปีนี้จึงมีกฎเกณฑ์ออกมาบังคับ IF มากขึ้นเพื่อป้องกันปัญหา โดยเฉพาะเรื่องต้มตุ๋น การกระทำใต้ดินผิดกฎหมาย บริษัทเถื่อน ฯลฯ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะได้ผลเพียงใด

          IF ไม่ใช่เรื่องที่เลวเพราะสนับสนุนให้เกิดประสิทธิภาพในการประกอบธุรกรรมอันเนื่องมาจากความสะดวก และสามารถลดต้นทุนลงได้มาก อีกทั้งเปิดช่องให้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อนำไปผลิตและประกอบการค้าอีกด้วย

          สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในเรื่องนี้ก็คือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ประโยชน์จะเกิดได้เต็มที่ก็ต่อเมื่อมีความสมดุลอันเหมาะสมระหว่างนวตกรรมทางการเงินและการจัดการในเรื่องความเสี่ยง นอกจากนี้ความพอดีในเรื่องออกกฎการควบคุมตลอดจนการบังคับใช้กฎก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องให้ความสนใจ

          ปรากฏการณ์ระเบิด IF นี้เกิดขึ้นในประเทศจีนเป็นแห่งแรก แต่ก็มิได้หมายความว่า IF ไม่มีในประเทศอื่น ๆ ในเวลาอีกไม่นานคลื่นนี้ก็จะถาโถมเข้ามาในโลก

          การทันโลก ทันเทคโนโลยี และมีสติ พร้อมกับการออกนโยบายและมาตรการที่ทันเหตุการณ์ผ่านการเตรียมพร้อมที่จะเปลี่ยนปรากฏการณ์นี้ให้เป็นคุณมากกว่าโทษเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง