วรากรณ์ สามโกเศศ
24 พฤษภาคม 2559
นอกจากการลงประชามติในเรื่องรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของคนไทยในวันที่ 7 สิงหาคม ปีนี้แล้ว ก่อนหน้าที่จะถึงนี้มีประชามติอีกอันหนึ่งที่มีผลกระทบกว้างไกลและมีความหมายต่อคุณภาพชีวิตของคนในโลก นั่นก็คือการลงคะแนนเสียงของคนอังกฤษว่าจะยังคงเป็นสมาชิกของ EU ต่อไปหรือไม่ ซึ่งเรียกเรื่องนี้กันว่า “Brexit” ซึ่งมาจาก British + Exit
เป็นความฝันของคนยุโรปมานับร้อยปีว่าควรมีรวมตัวกันเชิงการค้าเพราะจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน ในปี 1957 จึงเกิด Treaty of Rome ซึ่งสร้าง Common Market หรือ EEC (European Economic Community) ขึ้น แต่อังกฤษมิได้เป็นสมาชิกกลุ่มผู้ก่อตั้ง อังกฤษพยายามสมัครเข้าเป็นสมาชิกถึง 2 ครั้ง คือในปี 1963 และ 1967 แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะประธานาธิบดี Charles de Gaulle แห่งฝรั่งเศส ขัดขวางจนเมื่อหมดอำนาจลงแล้วจึงได้เป็นสมาชิกในปี 1973
เมื่อต่อมา EEC กลายเป็น European Union (EU) ด้วย Maastricht Treatyในปี 1993 อังกฤษก็ยังคงเป็นสมาชิกองค์การนี้ที่เปลี่ยนรูปมาเป็นทั้งเศรษฐกิจและการเมือง
อย่างไรก็ดีคนอังกฤษนั้นคลางแคลงใจเกี่ยวกับเรื่องเป็นสมาชิกกลุ่มนี้มาตลอด พรรคการเมืองก็มีความเห็นแตกแยกกัน ดังนั้นในปี 1975 อังกฤษจึงมีการลงประชามติว่าจะยังคงเป็นสมาชิกของ EEC ต่อไปหรือไม่ ซึ่งผลออกมาว่าประมาณ 2 ใน 3 เห็นว่าควรอยู่ต่อไป
ถึงแม้จะเป็นสมาชิกของ EU ในจำนวนทั้งหมด 28 ประเทศ แต่อังกฤษก็มีอะไรพิเศษกว่าสมาชิกประเทศอื่น เช่น ไม่ใช้เงินยูโร แต่ยังคงใช้เงินปอนด์เช่นเดิม (มี 9 ประเทศที่เป็นสมาชิก EU แต่ไม่ใช้เงินยูโร) และไม่ร่วมในการให้วีซ่าหมู่เข้าประเทศ EUที่เรียกว่า Schengen เหมือนประเทศ EUอื่นๆ (คนที่ไม่ใช่พลเมืองของ EU ต้องขอวีซ่าเข้าอังกฤษต่างหาก) อย่างไรก็ดีอังกฤษก็ถูกผูกพันไว้หนาแน่นด้วยกฎเกณฑ์กลางโดยเฉพาะในเรื่องเงินที่ต้องจ่ายสนับสนุนประเทศ EUอื่นเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปี
เหตุที่เกิดประชามติเรื่อง Brexit ขึ้นก็เพราะมีความรู้สึกในหมู่คนอังกฤษว่าประเทศตนเองมีอิสระเสรีในการตัดสินใจน้อยลงเนื่องจากการเป็นสมาชิก EU มีตัวเลขว่าร้อยละ 55 ของจำนวนกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ออกมีสาเหตุมาจากการถูกบังคับโดยกติกาของการเป็นสมาชิก EU นอกจากนี้การถูกบังคับให้ต้องรับผู้อพยพจากประเทศสมาชิกนับหมื่นทุกปีก็ไม่ถูกใจประชาชน และยิ่งปัญหาอพยพของคนจากซีเรีย ตุรกี และประเทศอื่น ๆ รุนแรงขึ้น พร้อมกับปัญหาเศรษฐกิจของกรีกที่ชาว EU ต้องร่วมกันอุ้ม หนักหนาขึ้น คนอังกฤษก็เกิดความลังเล
นายกรัฐมนตรีอังกฤษ David Cameron แห่งพรรค Conservative ในปี 2012 ปฏิเสธที่จะให้มีประชามติเรื่อง Brexit แต่เมื่อทนแรงกดดันไม่ได้จึงต้องสัญญาในการหาเสียงเลือกตั้งในปี 2015 ว่าหากชนะจะจัดให้มีประชามติ Brexit ก่อนสิ้นปี 2017 ดังนั้นเมื่อได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งจึงผ่านกฎหมายประชามติ 2015 ทั้งหมดนี้คือที่มาของการลงประชามติ Brexit ในวันที่ 23 มิถุนายน 2016
เรื่องจะลงคะแนน yes หรือ no กับประชามติ Brexit ครั้งนี้ถือว่าคึกคักมาก กฎหมายอนุญาตให้ต่อสู้กันได้ด้วยการรณรงค์ของทั้งสองฝ่าย นายกรัฐมนตรีอนุญาตให้รัฐมนตรีและ ส.ส. ของพรรคออกมาสนับสนุนหรือคัดค้านได้อย่างเสรี คนอังกฤษได้เห็นสารพัดกลุ่มออกมารณรงค์ต่อสู้กัน เช่น Vote Leave / Grassroots Out / Britain Stronger in Europe / Leave EU / Conservatives In ฯลฯ
นายกรัฐมนตรี Cameron เห็นว่าควรอยู่ต่อ ดังนั้นในตอนต้นปีนี้จึงเดินทางไปสำนักงานใหญ่ของ EU ที่ Brussels เพื่อต่อรองเงื่อนไขการเป็นสมาชิกของ EU ให้ดีขึ้น เช่นได้เงื่อนไขว่าเงินที่ต้องช่วยจ่ายเป็นสวัสดิการให้แก่ผู้อพยพจากประเทศ EU อื่น ๆ นั้นมีเพดานไม่ใช่ไม่มีขีดจำกัดเช่นเดิม ตลอดจนมีการยืนยันว่าลอนดอนซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินของยุโรปนั้นได้รับการยกเว้นในบางเรื่อง ไม่ต้องผูกติดกับเงื่อนไขที่ EU กำหนด ฯลฯ อย่างไรก็ดีคนอังกฤษเห็นว่าสิ่งที่ได้มาก่อนประชามติ Brexit นั้นเล็กน้อยมาก ดังนั้นจึงไม่ได้ช่วยให้คนเปลี่ยนใจมาสนับสนุนการอยู่ต่อเพิ่มมากขึ้น
การสำรวจเสียง yes หรือ no ของ Brexit นั้น ณ ปัจจุบันถือว่าสูสีกันมาก กล่าวคืออยู่ประมาณ 40 กับ 40 โดยมีร้อยละ 20 ยังไม่ตัดสินใจ แต่ละฝ่ายก็งัดเหตุผลออกมาโน้มน้าวผู้จะลงคะแนนเสียง
สำหรับผู้สนับสนุน no หรือการเห็นว่าควรออกจากการเป็นสมาชิก EU นั้นให้เหตุผลว่าการออกมาจะทำให้มีความเป็นอิสระมากขึ้น ในด้านการเป็นศูนย์กลางการเงินของลอนดอน ธนาคารและสถาบันการเงินเบื่อหน่ายกับดีกรีการกำกับควบคุมซึ่งมีมากขึ้นทุกที และในการประกอบธุรกิจการค้าก็เช่นกัน กฎกติกาที่ต้องทำเหมือนกันในทุกประเทศสมาชิกทำให้อังกฤษไม่คล่องตัว
เหตุผลของ yes หรือการอยู่ต่อก็คืออังกฤษจะได้ประโยชน์ในด้านการค้า จะยังคงเป็นสมาชิกของ Single Market ของ EU กล่าวคือค้าขายกันโดยไม่มีภาษีขาเข้า หากออกไปก็เท่ากับละทิ้ง EU ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผู้คนเกรงขามทั้งในเรื่องเศรษฐกิจการค้าและการธนาคาร “ความแค้น” ของสมาชิก EU ต้องมีอยู่ และเมื่อทำการค้ากันในภายหลังก็จะถูกกีดกันจนเสียหายได้
งานศึกษาของ David Hummels และ Georg Schaur (2012) พบว่าสินค้าทั่วไปที่ขนส่งข้ามไปมากันนั้นทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นเสมือนกับมีอัตราภาษีขาเข้าระหว่างร้อยละ 0.6 ถึง 2.1 ซึ่งเท่ากับว่าสินค้าต้องมีอัตราภาษีขาเข้าสูงขึ้นอีก แต่หากเป็นกลุ่มประเทศที่ไม่มีภาษีขาเข้าเช่น EU ต้นทุนก็จะสูงขึ้นน้อยกว่า ดังนั้นการเป็นสมาชิก EU จึงเป็นประโยชน์ต่อการค้าขายกับต่างประเทศ(มูลค่าการส่งออกของอังกฤษไป EU เท่ากับร้อยละ12.6 ของ GDP)
สำหรับคนนอกประเทศนั้นแทบจะหาคนสนับสนุนการออกไปจาก EU ของอังกฤษไม่ได้เลย ประธานาธิบดีโอบามาถึงกับเดินทางมาอังกฤษเพื่อ “หาเสียง” ให้กับกลุ่ม yes เนื่องจากเสถียรภาพของยุโรปเป็นยอดปรารถนาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีปัญหาปวดหัวกับจีนและรัสเซียอยู่เต็มมือแล้ว
การลงประชามติ Brexit เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แย่ที่สุดของ EU เนื่องจากนานาปัญหาประดังเข้ามานับตั้งแต่คลื่นอพยพของผู้คนข้ามทะเลเมดิเตอเรเนี่ยน (ในปี 2015 มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน) ปัญหาเศรษฐกิจกรีกที่ยังไม่จบ วิกฤตเงินยูโรก็ยังไม่พ้นฝั่ง การเจริญเติบโตของ EU ที่ อืดอาด การว่างงานสูงของเยาวชน ฯลฯ
หากอังกฤษออกไป EU ก็จะถูกครอบงำโดยเยอรมันอีกทั้งสูญเสียบารมีและความน่าเชื่อถือ เหตุการณ์นี้จะทำให้คน EU เกิดแนวคิดปกป้องตนเอง (protectionist) ซึ่งตรงข้ามการค้าเสรีและเกิดความระแวงซึ่งกันและกันมากขึ้น ความเป็นเอกภาพของยุโรปก็จะลดน้อยลง
ผู้นำ EU กังวลกับผลกระทบที่ไม่มีใครตอบได้แน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งความไม่ชัดเจนตรงนี้อาจมีผลต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเร็ว ๆ นี้ในเยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี ทุกคนไม่ต้องการให้อังกฤษออกไปเพราะจะกระทบต่อดุลยภาพเดิมที่มีอยู่
เมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว ไม่มีใครหยุดเรื่อง Brexit ได้ Cameron ต้องการให้คนอังกฤษที่มีความเห็นแตกต่างกันว่าจะอยู่หรือไปในทุกพรรค และทุกระดับได้แสดงความเห็นเพื่อประเด็นนี้จะได้จบไปเสียที
คนอังกฤษก็ต้องการแสดงความเห็นเช่นกันเมื่อเห็นตัวเลขว่าในปี 2014/2015 อังกฤษเป็น 1 ใน 10 ประเทศซึ่งจ่ายเงินออกไปให้ EU มากกว่าที่ได้รับกลับมา (ประเทศที่หนักกว่าก็คือฝรั่งเศสและเยอรมัน ) ประเทศที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือโปแลนด์ ฮังการี และกรีก นอกจากนี้มีการคำนวณว่าเมื่อหักกลบลบเงินที่จ่ายให้ EU โดยทุกภาคส่วนและที่ได้รับกลับมาแล้ว อังกฤษจ่ายมากกว่ารับเป็นเงินประมาณ 8,800 ล้านปอนด์ (458,000 ล้านบาท) ในปี 2014/2015 ซึ่งเพิ่มเกือบหนึ่งเท่าของปี 2009/2010
คนชาติใดที่เห็นตัวเลขนี้แล้วก็คงต้องถามตัวเองเหมือนกันว่าสุดท้ายเมื่อคิดสะระตะทุกอย่างแล้วมันคุ้มหรือเปล่าที่จะเป็นสมาชิก EU ต่อไป ถึงจะรู้ว่า “ โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” แต่คำถามก็คือมันต้องแพงถึงขนาดนั้นเชียวหรือ