มติที่ประชุมเอนเอียงโดยธรรมชาติ

วรากรณ์  สามโกเศศ
20 กันยายน 2559

          ถ้าคุณเคยเห็นผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่กำลังจะลงมติเห็นชอบในมติหนึ่งที่คุณเห็นว่าไม่เข้าท่าเอาเลย แต่คุณก็ไม่กล้าค้านเพราะคนส่วนใหญ่เขาเห็นด้วย คุณก็เลยต้องลงมติตามเขาไป ถ้าคุณเป็นเช่นนี้เหมือนคนส่วนใหญ่ก็แสดงว่ากำลังมีสิ่งที่เป็นอันตรายแฝงอยู่เพราะอาจเป็นมติที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงได้ สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกแห่งในโลก และดูจะสาหัสในบางวัฒนธรรมเช่นสังคมไทย

          ปรากฏการณ์ข้างต้นเรียกว่า social proof ดังที่ Rolf Dobelli ในหนังสือชื่อ The Art of Thinking Clearly (2013) ได้ชี้ให้เห็น สิ่งนี้เกิดขึ้นในแทบทุกเรื่องที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวพัน ไม่เชื่อลองชวนเพื่อน10-20 คน ไปยืนริมถนน และชี้ขึ้นไปบนท้องฟ้าอย่างไม่มีสาเหตุ รับรองได้ว่าอีกไม่นานจะมีหลายคนหยุดและมองขึ้นไปในท้องฟ้าและชี้ตามคุณด้วย

          เสียงปรบมือหลังการแสดงหรือการพูดก็เหมือนกัน ถ้ามีใครปรบมือนำสักนิดก็จะมีคนปรบมือตามกันเกรียว ตลาดหุ้นพังพินาศก็เพราะเมื่อหุ้นราคาตกก็มักจะ “แห่” ตามกัน social proof อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า “herd instinct” หรือ “สัญชาติญาณฝูง” สิ่งนี้จะทำให้แต่ละคนรู้สึกว่าตัวเองกำลังกระทำสิ่งที่ถูกต้องเมื่อกระทำสิ่งเดียวกันกับคนอื่น ๆ

          ทำไมมนุษย์จึงมีพฤติกรรมเช่นนี้? ในสมัยมนุษย์อยู่ถ้ำเมื่อ 50,000 ปีก่อน “สัญชาติญาณฝูง” อาจเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการอยู่รอด ลองจินตนาการว่าเมื่อเดินป่ากันอยู่ดี ๆกับพรรคพวก จู่ ๆ ก็พากันวิ่งป่าราบ ถ้าคุณเป็นนักคิดใคร่ครวญก็อาจลังเลว่ามันกระต่ายตื่นตูมอะไรกันนักหนา และวินาทีนั้นคุณก็อาจถูกเสือโดดงับก็เป็นได้ ดังนั้นกลยุทธ์ที่ดีก็คือไม่คิดไม่ถาม วิ่งตามเลย ส่วนคนที่เป็นนักคิดก็จะไม่มีเชื้อพันธุ์เหลือให้สืบมาถึงทุกวันนี้

          แบบแผนของการเอาตัวรอดเช่นนี้น่าจะฝังตัวอยู่ในยีนส์ของเราจนนำมาใช้กับสถานการณ์ ต่าง ๆ ในปัจจุบัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียได้มากมายดังกล่าวแล้วในเรื่องการประชุมข้างต้น

          ปรากฏการณ์ในเรื่องการประชุมมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า groupthink ซึ่งเป็นลักษณะย่อยหนึ่งของ social proof ซึ่งเป็นจุดอันตรายของกระบวนการตัดสินใจ กล่าวคือในการประชุมหารือเพื่อหาคำตอบนั้น หากสิ่งแวดล้อมของที่ประชุมเป็นไปในทิศทางที่ทำให้คนหนึ่งคนหรือจำนวนหนึ่งมีอิทธิพลต่อที่ประชุม ก็จะทำให้คนอื่น ๆ คล้อยตาม โดยขาดการไตร่ตรองจากทุกฝ่ายอย่างรอบคอบ

          ผู้เขียนมีประสบกาณณ์ในการเข้าร่วมประชุมในทุกระดับของประเทศเป็นเวลานานปีจนสังเกตเห็นว่าบ่อยครั้งของการตัดสินใจของคณะกรรมการจะมีเรื่องของ groupthink เข้าไปเกี่ยวพันอยู่ด้วยเสมอ

          ลักษณะของ groupthink ของสังคมไทยเท่าที่สังเกตเห็นมีดังนี้ (1) ประธานครอบงำการประชุมโดยอาจไม่รู้ตัว ไม่เปิดโอกาสให้มีการถกเถียง เพื่อรับฟังความเห็นต่าง ๆ เท่าที่ควร ดังนั้นข้อสรุปจึงเป็นไป “ตามโผ” ที่ฝ่ายเลขานุการจัดมา

          (2) ประธานเป็นผู้สูงอายุ หรือมีอำนาจวาสนาหรือมีบารมีเป็นที่เกรงใจของผู้เข้าร่วมประชุมจนคล้อยตามสิ่งที่ประธานต้องการเสมอ ไม่กล้าแสดงความเห็นเป็นอย่างอื่น

          (3) ประธานเป็นผู้ไม่ครอบงำการประชุม รับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและจริงใจ หากแต่ในคณะกรรมการที่ประชุมนั้นมีบางคนที่พูดเก่ง โน้มน้าวคนฟังได้เก่ง มีเหตุมีผล จนที่ประชุมมักจะเป๋ไปตามความเห็นนั้น โดยไม่ได้ช่วยกันไตร่ตรองให้รอบคอบและหากผู้นั้นมีบารมี หรืออำนาจวาสนาประกอบด้วยแล้ว อิทธิพลของ groupthink ก็จะยิ่งแรงยิ่งขึ้น

          (4) คล้ายข้อ (3) หากแต่มีสมาชิกคนอื่น ๆ จำนวนหนึ่งที่มักคอยสนับสนุนและเห็นฟ้องกับ “บุคคลที่มีอิทธิพล” นั้นอยู่เสมอ จนเห็นตามกันไปหมด

          (5) เมื่อที่ประชุมประกอบด้วยสมาชิกที่ชอบพอกลมเกลียวกัน มีวัฒนธรรมของการคล้อยตามกัน ไม่ขัดกันเพราะถือเป็นพี่เป็นน้องกัน บรรยากาศของความกลมกลืนไม่ขัดแย้งกันก็จะมีสูง และ groupthink ก็จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

          ทั้ง 5 ข้อข้างต้นนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งเพราะ groupthink ไม่ก่อให้เกิดการถกเถียงด้วยความเห็นที่แตกต่างกันอย่างสร้างสรรค์ พิจารณาอย่างรอบคอบทุกแง่มุม หากแต่ “เฮ” ตามกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่มีวัฒนธรรมของการเห็นพ้องกันสูงอยู่แล้ว (คนไม่เห็นด้วยบ่อย ๆ จะกลายเป็นคนแปลกแยก) และเมื่อบวกเอาการถือชาติวุฒิ คุณวุฒิ และวัยวุฒิ เข้าไปผสมด้วยแล้ว ที่ประชุมนั้นก็อาจพากันเข้ารถเข้าพงได้ไม่ยากนัก และถ้า”เป็นรกเป็นพง” ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมไทยแล้ว ก็อาจเกิดความเสียหายที่ยิ่งใหญ่ได้ การตัดสินใจที่ผิดพลาดหลายครั้งในประวัติศาสตร์ก็มาจาก groupthink นี้แหละ

          ความผิดพลาดของมนุษย์ที่ฉกรรจ์ยิ่งก็คือความคิดที่ว่าถ้าคนเป็นสิบล้าน หรือร้อยล้านเขาเชื่อหรือทำกันแล้ว(โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ) มันต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างแน่นอน อย่าลืมว่าเมื่อความเชื่อหรือการกระทำนั้นมันเริ่มมาจากปรากฏการณ์ groupthink แต่แรกแล้ว สิ่งที่เกิดตามต่อ ๆ มาก็เป็นกลไกตามธรรมชาติ ดังคำพูดที่ว่า “เมื่อลิงตัวที่ 100 โดดข้ามรั้ว ลิงตัวที่ 101 ก็ย่อมโดดตาม ด้วย ” ประเด็นสำคัญก็คือเราไม่รู้ว่าลิง 100 ตัวแรกโดดไปแล้วเจออะไร และที่เริ่มโดดกันนั้นก็เพราะกลุ่มหัวหน้าลิงประชุมกันแล้วลงมติว่าสมควรกระโดด (สมมุติว่ามี groupthink ในหมู่ลิงฃึ่งเป็นสมมุติฐานที่ไม่ น่าผิด)

          อย่าลืมว่าจุดประสงค์ของการตั้งกรรมการหลายคนนั้นก็เพื่อให้ช่วยกันพิจารณาให้รอบคอบ ถ้าปล่อยให้ groupthink ทำงานแล้วมันก็จะเป็นการพิจารณาของคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นซึ่งผิดจากความตั้งใจแต่แรก

          การตระหนักถึงปรากฏการณ์ groupthink จะทำให้ที่ประชุมระมัดระวังอยู่เสมอจนได้มติที่ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบ