รู้จัก Duterte Harry

วรากรณ์  สามโกเศศ
17 พฤษภาคม 2559

         ในช่วงปีที่ผ่านไปมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำและรัฐบาลของหลายประเทศ ASEAN ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของเวียดนาม เมียนมาร์ ลาว อินโดนีเซีย กัมพูชา (นายกรัฐมนตรีคนเดิมแต่ยกเครื่องคณะรัฐมนตรีใหม่เกือบทั้งหมด) และที่เกิดขึ้นล่าสุดก็คือฟิลิปปินส์

          เท่าที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสรัฐมนตรีหลายท่านและข้าราชการระดับอธิบดีของบางประเทศเหล่านี้ รู้สึกประทับใจในความรู้ความสามารถเป็นอย่างมาก รัฐมนตรีมักเป็นคนรุ่นใหม่ที่มาจากการส่งไปเรียนหนังสือต่างประเทศ และอีกส่วนหนึ่งมาจากการกลับมาช่วยบ้านเมืองหลังจากไปเรียนและทำงานต่างแดนมาเป็นเวลานาน

          เรื่องนี้น่าคิดมากว่าเพื่อนบ้านของเราต่างก้าวไปไกล มีคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมารับใช้ชาติ หากรัฐบาลไทยชุดหลังเลือกตั้งประกอบด้วยรัฐมนตรีที่มีระดับความรู้ความสามารถอย่างไม่ต่างจากรัฐบาลก่อนหน้าปฏิวัติไม่นานแล้ว เราคงอับอายขายหน้าเวลาไปประชุมต่างประเทศเป็นแน่ (ในปีนี้ที่ลาวเป็นประธาน ASEAN จะมีการประชุมในทุกระดับ ทั้งเจ้าหน้าที่และรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับกิจการของ ASEAN ไม่ต่ำกว่า 800 ครั้ง) เพราะตามเขาไม่ทัน

          สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปของฟิลิปปินส์ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าใครได้เป็นประธานาธิบดี ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวซ้ำในเรื่องที่รู้ ๆ กันอยู่แล้ว จะขอกล่าวถึงประเด็นที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงกันเท่านั้น

          Rodrigo Duterte อายุ 71 ปี มีชื่อเล่นทางการเมืองว่า Digong ผู้ได้รับฉายาก่อนเลือกตั้งจากสื่อตะวันตกว่าเป็น “Trump of the East” เนื่องจากมีเนื้อหาการหาเสียงที่คล้ายคลึงกัน ทั้งสองใช้วิธีการที่เรียกว่า stump speech กล่าวคือพูดซ้ำ ๆ ในสถานที่ไปหาเสียงเลือกตั้งต่าง ๆ ด้วยเนื้อหาเหมือนเดิมโดยคัดเลือกคำพูดจากที่ผู้ฟังชอบและปรบมือเป็นพิเศษมาใช้

          ทั้งสองพยายามทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงชอบตน (กรณีของ Donald Trump คือหาเสียงให้คนพรรครีพับลิกันเลือกตนเป็นตัวแทนไปแข่ง) ด้วยการพูดให้โดนใจเชิงจิตวิทยาในจุดที่ผู้ฟังชอบหรือหวาดหวั่นอยู่

          Trump บอกว่าจะไม่ยอมให้มีการอพยพมุสลิมเข้าประเทศ และจะไปไกลจนถึงไม่ยอมให้เข้าประเทศสักคน จะจัดการกับคนอเมริกันใต้ให้อยู่ในขอบเขต (ไม่ใช่มีจำนวนมากเกินไป) ดูถูกนักการเมือง จะจัดการกับโจรผู้ร้าย ต่อต้านการค้าเสรี จะจัดการกับจีนซึ่งเป็นตัวการทำให้คนอเมริกันว่างงาน ฯลฯ

          ส่วน Duterte มาในสไตล์ของ “นักปราบ” จะปราบโจรผู้ร้ายและนักค้ายาให้เกลี้ยงประเทศ (จะฆ่าสัก 100,000 คน และโยนลงในอ่าวมะนิลาหากได้เป็นประธานาธิบดี) เป็นผู้ต้องการสร้าง “law and order” ให้เกิดขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์ให้จงได้ ปราบความยากจน จะกำจัดโจรโดยไม่ต้องขึ้นศาลให้เสียเวลา เศรษฐกิจนั้นก็จะแก้ไขอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม จะไม่ยอมให้กลุ่มนักธุรกิจร่ำรวยที่ครอบงำประเทศมีที่ยืน ฯลฯ

          ภาพลักษณ์ที่ Duterte ต้องการให้เกิดในใจผู้คนก็คือ “ไม่กลัวอะไรทั้งนั้น” ไม่ก้มหัวให้กับครอบครัวร่ำรวยที่ทายาทเป็นนักการเมืองมีอำนาจอยู่ทั่วประเทศ มีคำพูดที่เว่อร์แต่ฟังแล้วปลื้ม เช่น “ถึงผมจะตกนรกเพราะทำอะไรที่ไม่ดี (เช่น ฆ่าโจร) แต่ผมก็พอใจตราบที่ทำให้ประชาชนของผมได้ขึ้นสวรรค์”

          การเป็นนักพูดหาเสียงชั้นยอดของเขาในช่วงเวลาหาเสียงที่ยาวถึง 4-5 เดือนทำให้เกิดโอกาสที่จะสร้างคะแนนนิยม ในตอนแรกของการสมัครเมื่อต้นธันวาคม 2558 ชื่อเขาไม่อยู่ในสายตาเลย ผู้ที่คนคิดว่าจะแข่งกันก็คือ Grace Poe ( ลูกสาวบุญธรรมของ “นักข่าว-ดารา” จากจอโทรทัศน์ผู้เกือบได้เป็นประธานาธิบดี)กับ Manuel Roxas (หลานปู่ของประธานาธิบดีคนแรกของฟิลิปปินส์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง)ฃึงเป็นทายาททางการเมืองของ Aquino ประธานาธิบดีที่ไม่อาจลงสมัครได้อีกเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นได้วาระเดียวคือ 6 ปี

          ฟิลิปปินส์นั้นมีวัฒนธรรมของการหาเสียงที่ไม่ต่างจากไทย นั่นคือคนสมัครต้องพูดได้ “มันส์” และถูกใจคนฟัง บางครั้งก็ร้องเพลง เต้นระบำ เล่าโจ๊กคาบลูกคาบดอก มีคำพูดที่ ผู้ฟังฮา ซึ่งบ่อยครั้งทำให้ไปกระทบกระทั่งคนอื่น (เขาพูดถึงกรณีที่นักสอนศาสนาชาวออสเตรเลียถูกข่มขืนและฆ่าเมื่อปี 1988 เขาบอกว่าน่าจะให้นายกเทศมนตรีฃึ่งก็คือตัวเขาเป็นคนลงมือคนแรกเพราะเธอ หน้าตาดี) จนต้องขอโทษ ขอโพย ลามปามกระทั่งไปวิจารณ์สันตปาปาที่ทรงเยือนฟิลิปปินส์และทำให้การจราจรติดขัด

          Duterte นั้นเป็นนายกเทศมนตรี Davao City ในเกาะมินดาเนาซึ่งมีประชากรประมาณ 500,000 คน ติดต่อกันเกินกว่า 20 ปี และครั้งหนึ่งเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งไม่มีบทบาทอะไร มากนัก

          ผลงานของเขาก็คือการทำให้เมืองที่ชุกชุมไปด้วยอาชญากรรมกลายเป็นเมืองที่ปลอดภัยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ส่วนหนึ่งเกิดจากการ “วิสามัญฆาตกรรม” โจรไป 7,000 คน (Human Right Watch ระบุตัวเลขนี้ แต่เขาบอกตอนหาเสียงว่าจริง ๆ คือ 1,700 คน!)

          มีการกล่าวขวัญว่าชื่อเสียงของการเป็น “นักปราบ” ชื่อดังทำให้เขาถูกทาบทามถึง 4 ครั้ง จากประธานาธิบดี 4 คน ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่เขาปฏิเสธโดยไม่มีใครทราบชัดว่าเขามองไปที่การลงแข่งขันตำแหน่งประธานาธิบดีเลยหรือไม่เพื่อจะได้ไม่ช้ำ

          เขาไม่เคยลงสมัครแข่งตำแหน่งประธานาธิบดีมาก่อนดังนั้นจึงเรียกได้ว่าเป็นคนหน้าใหม่ สำหรับคนไทยอาจรู้สึกแปลกที่หากเปรียบเทียบก็เสมือนนายกเทศมนตรีเมืองขนาดกลางแถบทางใต้ (เกาะนี้อยู่ทางใต้) ได้เป็นนายกรัฐมนตรี (ประธานาธิบดี) หลังจากหาเสียงเพียง 4 เดือน (จริง ๆ แล้วไม่น่าแปลกใจเพราะเคยมีคนที่หาเสียงน้อยกว่านี้ และไม่เคยมีตำแหน่งการเมืองมาก่อนยังได้เป็นเลย)

          Duterte ไม่ได้เปิดเผยชัดเจนในเรื่องนโยบายสำคัญใน 4 เรื่องที่ควรเป็นประเด็นคือการดำเนินการเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้กับกับจีน ปฏิรูประบบภาษี การเปิดเสรีการค้า และการผ่อนปรนการเป็นเจ้าของธุรกิจของคนต่างชาติ

          คำพูดจากการหาเสียงชนิด “เอามั นส์” โดยเน้นแต่เรื่องภายในประเทศ ทำให้รัฐบาลต่างประเทศกังวล อย่างไรก็ดีลึก ๆ เข้าไปแล้วเชื่อว่าเมื่อได้เป็นประธานาธิบดีตัวจริง เสียงจริง ก็ต้องกระทำตนในแบบที่ประธานาธิบดีพึงปฏิบัติ โดยอยู่ในกรอบของวัฒนธรรมคนศิวิไลซ์ ซึ่งเป็นสิ่งสากล

          นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอย่าประมาทคนแก่อายุ 71 ปี ที่ช่ำชองการหาเสียง สื่อฟิลิปปินส์มิได้พลาดที่ดู Duterte ผิดไปจนมองข้ามในตอนแรก หากผิดพลาดที่ไม่เข้าใจคนฟิลิปปินส์สมัยปัจจุบัน