วรากรณ์ สามโกเศศ
14 มีนาคม 2560
ถึงแม้ตอนเกิดแสนจะเป็นเด็กธรรมดา ไม่มีข้อได้เปรียบทางสังคม แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปกลับเป็นคนพิเศษของสังคมไทย เป็นที่รักของผู้คนเพราะวัตรปฏิบัติส่วนตัวและคุณประโยชน์ที่ทำให้แก่แผ่นดินจนเป็นที่ยอมรับของสังคมไทย และได้รับการยกย่องจาก UNESO ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในวาระ 100 ปีชาตกาลในปี 2559 ใช่แล้วครับผมกำลังจะพูดถึงท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์
เดือนมีนาคมเป็นเดือนเกิดของท่าน ในวาระชาตกาล100ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตีพิมพ์หนังสือออกมาหลายเล่มเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของท่าน ตลอดจนมีชุดวิดิทัศน์เกี่ยวกับผลงาน หนึ่งในจำนวนหนังสือนั้นคือ“เศรษฐกิจแห่งประเทศไทย” เขียนโดยป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร ปิยมิตรของท่าน ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2498 หรือกว่า 60 ปีมาแล้ว
“เศรษฐกิจแห่งประเทศไทย” มีคำนิยมโดยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของไทยผู้มีผลงานโดดเด่นมากมายเป็นที่รักใคร่ของมิตรและศิษย์ กษิดิศ อนันทนาธร ผู้ทำงานหนักอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ “งาน 100 ปี ชาตกาลอาจารย์ป๋วย” ได้เลือกบุคคลที่เหมาะสมอย่างยิ่ง
ผู้เขียนขอนำเอาข้อเขียนบางส่วนของ ดร.ฉัตรทิพย์ ซึ่งสรุปเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ไว้อย่างกะทัดรัดมาสื่อต่อดังต่อไปนี้
“…..หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเศรษฐกิจแห่งชาติ คือเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย หรือการทำมาหากินของประชาชนไทยเรา ท่านอาจารย์ป๋วยนึกถึงเศรษฐกิจเมืองไทยโดยประยุกต์หลักเศรษฐศาสตร์อธิบาย
…..ในการทำความเข้าใจเศรษฐกิจแห่งชาติท่านอาจารย์ป๋วยอธิบายว่ามีเรื่องอยู่ 3 เรื่อง คือ 1) การเพิ่มปริมาณสินค้าและบริการ 2) การเฉลี่ยมาตรฐานการครองชีพ และ 3) การแก้สภาพลุ่ม ๆ ดอน ๆ ของเศรษฐกิจ ท่านอาจารย์ป๋วยเรียกเรื่องทั้ง 3 นี้ว่า “จุดหมายทางเศรษฐกิจ”
…..เรื่องสำคัญที่สุดคือการเพิ่มปริมาณสินค้าและบริการ นี่คือการผลิตให้ได้มากนั่นเอง คือการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติที่เราเรียกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ ไทยเป็นประเทศยากจน ผลิตได้น้อย เป็นประเทศด้อยพัฒนา เพราะฉะนั้นเรื่องผลิตให้ได้มากจึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจของประเทศเรา…..
ท่านอาจารย์ป๋วยอธิบายว่า “ความหมายของเศรษฐกิจ….. คือเพ่งเล็งในทางที่เราจะมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากความหิว ปราศจากโรค ได้รับการป้องกันความร้อน ความหนาว หรือกล่าวอย่างสั้น ๆ เพื่อให้มีความสุขสบายในทางร่างกาย”
…..เรื่องสำคัญทัดเทียมกับการพัฒนาเศรษฐกิจอีกเรื่องหนึ่ง คือที่ท่านอาจารย์ป๋วยเรียกว่า “การเฉลี่ยมาตรฐานการครองชีพ” นี้คือเรื่องการกระจายรายได้และทรัพย์สิน ท่านอาจารย์มีความคิดว่าควรพยายามให้เหลื่อมล้ำกันให้น้อยลง ถ้าชุมชนมีการเหลื่อมล้ำทางรายได้กันมาก จะยังทำให้เกิดความไม่ปรองดองในหมู่ชนและโดยการรับมรดก “การเหลื่อมล้ำจะยิ่งสืบต่อกันไปเรื่อยจนเกิดความอยุติธรรมขึ้น เช่น ลูกเศรษฐีซึ่งไม่เคยประกอบกิจการงานเลยกลับมีมาตรฐานการครองชีพสูงกว่าคนอื่นที่ขยันกว่าแต่บังเอิญจนกว่า” แต่ละคนในชุมชนควรจะมีรายได้ขั้นต่ำ (Minimum Income) พอสำหรับซื้อของที่จำเป็น “ใช้วิธีภาษีอากรและวิธีการจำกัดมรดกตกทอด เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในทางเศรษฐกิจมากขึ้น”….,
ในเรื่อง “การเฉลี่ยมาตรฐานการครองชีพ” ข้าพเจ้าประทับใจความคิดของท่านอาจารย์ในหนังสือเล่มนี้ในอีก 3 ประเด็น คือ 1) พยายามขจัดการคอร์รัปชั่น การทุจริตและใช้อำนาจมิชอบของข้าราชการซึ่งทำให้เกิดการผูกขาด ได้สิทธิพิเศษ ราคาสินค้าแพงขึ้น เกิดการร่ำรวยที่ไม่เป็นธรรม กำไรที่ไม่ได้เกิดจากประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้า 2) ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย การควบคุมการใช้จ่ายเงินแผ่นดินโดยรัฐสภา จะช่วยควบคุมให้รัฐบาลใช้ทรัพยากรของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นประโยชน์กับส่วนรวม ไม่รั่วไหล และเจ้าหน้าที่ไม่อาจทุจริตได้ 3) ควรให้เอกชนประกอบการทางเศรษฐกิจได้โดยเสรีเพราะรัฐวิสาหกิจมักมีการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกันก็ควรส่งเสริมระบบสหกรณ์เพื่อให้ชาวบ้านสามัญสามารถรวมตัวกันในการผลิตและการค้าขายได้ สามารถต่อรองกับระบบทุนนิยมได้
เรื่องที่ 3 ซึ่งเป็นจุดหมายของเศรษฐกิจแห่งชาติ คือการแก้สภาพลุ่ม ๆ ดอน ๆ ของเศรษฐกิจ นี่คือการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แก้ปัญหาวัฏจักรเศรษฐกิจ ปัญหาระยะสั้นเงินเฟ้อเงินฝืด
พิจารณาโดยรวม สำหรับประเทศไทย ท่านอาจารย์ป๋วยเสนอระบบเศรษฐกิจเสรีที่ประกอบด้วยองค์กรการผลิตทุนนิยม และองค์กรการผลิตสหกรณ์ ภายใต้การกำกับของรัฐและรัฐบาลประชาธิปไตย ใช้ระบบภาษีและงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันจัดการไม่ให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำกันมาก รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ท่านอาจารย์ป๋วยมองไปในอนาคตและเป็นห่วงว่า “เมื่อเศรษฐกิจเจริญขึ้น การแบ่งสรรรายได้ของประเทศจะแตกต่างออกไป บุคคลบางคนอาจร่ำรวยมากขึ้น แต่บุคคลบางคนอาจจนลงก็ได้ ในเรื่องเหล่านี้รัฐบาลจะต้องพิจารณาและหาทางแก้ไขอยู่เสมอ …..เพื่อให้ความสุขแก่คนโดยทั่วถึง”…..”
นี่คือข้อความจากหนังสือที่เขียนเมื่อ 62 ปีที่แล้ว ภายใต้ข้อมูลและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากปัจจุบันโดยสิ้นเชิง วิเคราะห์ดูแล้วจะเห็นว่ายังทันสมัยและเป็นความจริงอย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนใหญ่ของหนังสือเล่มนี้เป็นการวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยในยุคก่อนการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้ข้อมูลและสถิติของสมัยนั้นสนับสนุนการประยุกต์ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เพื่อให้เห็นภาพเศรษฐกิจไทยอย่างชัดแจ้ง
คำนำของหนังสือเล่มนี้สะท้อนความตั้งใจของผู้เขียนในการผลิตข้อเขียนที่หาไม่ได้ในเรื่องสภาวะเศรษฐกิจในสมัยนั้น ตอนหนึ่งของคำนำ “…..ผู้เรียบเรียงหวังอยู่ว่าหนังสือนี้จะมีประโยชน์ ยืนนาน ถ้าผู้อ่านใช้ความพินิจพิจารณาและความเข้าใจสุขุมมองลึกทะลุผิวของตัวเลขและปัญหาซึ้งลงไปถึงแก่นสารทฤษฎี การพิจารณาปัญหาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเพื่อนำเอาความเข้าใจดีนั้นเป็นประโยชน์ต่อไป…’ และเมื่อพิมพ์ครั้ง พ.ศ. 2504 ท่านอาจารย์เขียนในคำนำว่า “…ข้อเท็จจริงและสถิติ ระเบียบวิธีการย่อมเปลี่ยนไปตามกาลสมัย แต่ธรรมะและหลักวิชาย่อมคงอยู่และไม่ตาย”…..”
Winston Churchill กล่าวไว้ว่า “ถ้ายิ่งสามารถมองย้อนไปข้างหลังได้ไกลเพียงใดก็จะยิ่งมีโอกาสมองเห็นไปข้างหน้าไกลเพียงนั้น” (The farther backward you can look, the farther forward you are likely to see) “เศรษฐกิจแห่งประเทศไทย” เป็นหนังสือที่ขาดไม่ได้สำหรับการสร้าง “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ของบ้านเรา