ขัดแย้งมรดกทำร้ายสิงคโปร์

วรากรณ์  สามโกเศศ
27 มิถุนายน 2560

          เมื่อวันพุธที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา คนสิงคโปร์ช็อคกับข้อความยาวใน facebook ซึ่งเป็นแถลงการณ์ของน้อง 2 คนในตระกูลลีของนายกรัฐมนตรี Lee Hsien Loong (LHL) ถล่มพี่ชายจนหน้าแตกแบบหมอปฏิเสธเย็บ คอลัมน์นี้ไม่ใช่ “ลัดดา” ซุบซิบ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้มีประเด็นให้คิด

          คนสิงคโปร์ไม่คุ้นกับการเปิดเผยข้อมูลหรือการวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวของ Lee Kuan Yew (LKY) แล้วแทบไม่มี ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นคนสิงคโปร์จึงจับตามองจอสมาร์ทโฟน และก็ไม่ผิดหวังเพราะนายกรัฐมนตรี (LHL) ผู้พี่ก็ออกแถลงการณ์ด้วยข้อความและเอกสารยาวเช่นกัน ฝ่ายน้องชายและน้องหญิงก็โต้กลับไปมาบน social media จนเป็นที่สนุกสนานของพวกปากหอยปากปูเป็นอันมาก

          ลีกวนยู มีลูก 3 คน คนโตเป็นชาย คือ LHL เป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2004 LHL มีลูกรวม 4 คน ภรรยาคนแรกมีลูกสาวและลูกชายแต่เสียชีวิตเพราะหัวใจล้มเหลวหลังจากคลอดลูกชายได้ไม่นาน ตอนอายุ 33 ปี LHL ก็แต่งงานใหม่กับข้าราชการดารรุ่งชื่อ Ho Ching มีลูกชายด้วยกัน 2 คน ปัจจุบัน LHL มีอายุ 65 ปี ต่อสู้เอาชนะโรคมะเร็งมาได้สองครั้งคือในทศวรรษ 1990 และ ปี 2015

          ลูกคนที่สองเป็นหญิง ชื่อ Lee Wei Ling (LWL) เป็นหมออายุ 62 ปีมีสถานะโสด ในอดีตพบรักแต่พ่อไม่ยอมรับจึงหนีไปอยู่อังกฤษด้วยกัน ลีกวนยูโกรธมากสั่งห้ามเข้าสิงคโปร์ เมื่อเลิกกับแฟนก็กลับเข้าประเทศไม่ได้จนแม่ต้องช่วยเจรจา เธอเป็นนักเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ ดูจะเป็นคน “แรง” สักหน่อยในพี่น้อง 3 คน เธอเคยเป็นผู้อำนวยการ The Institute of National Neuroscience สื่อกล่าวว่าเธอปล่อยเนื้อปล่อยตัวไม่แต่งตัว ไม่แต่งหน้า และเมื่อกินยาเพราะมีโรคประจำตัว เธอจึงดูโทรมกว่าอายุเอามาก ๆ

          ลูกคนที่สามเป็นชาย ชื่อ Lee Hsien Yang (LHY) อายุ 60 ปี อดีตเป็นนายพลในกองทัพเหมือนพี่ชาย ปัจจุบันเป็น CEO ของ Sing Tel และอีกหลายตำแหน่ง ภรรยาเป็น นักกฎหมาย ชื่อ Lee Suet Fern เป็นลูกสาวของปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่ NUS ชื่อ Lim Chong Yah (นานมาแล้วผู้เขียนไปงานเลี้ยงที่บ้าน และเห็นรูปถ่ายจึงรู้ว่าลูกสาวเป็นสะใภ้ของครอบครัวนี้)

          ประเด็นของข้อขัดแย้งตามที่อ้างในสาธารณะของฝ่ายน้อง 2 คน ที่จับมือกันแน่นก็คือพินัยกรรมของพ่อ (LKY) ระบุว่าให้รื้อบ้านเลขที่ 38 Oxley Street ให้หมดเพราะต้องการให้สอดคล้องกับ ความประสงค์ของพ่อที่ไม่ต้องการให้มีอนุสรณ์สถาน รูปปั้น พิพิธภัณฑ์ หรือสิ่งบูชาใด ๆ ที่เกี่ยวกับตัวเขาเพื่อให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่อย่างเด็ดขาด เพราะผลงานนั้นปรากฏชัดแล้วในสิ่งที่ประเทศเป็นอยู่และประชาชนได้รับ

          น้อง 2 คน โจมตีพี่ชายว่าไม่ยอมรื้อเพราะต้องการเก็บไว้เป็น “ทุน” สำหรับการเชิดชูพ่ออันจะเป็นประโยชน์ทางการเมือง นับว่าเป็นสิ่งเห็นแก่ตัว ลุแก่อำนาจ ไม่น่าไว้วางใจ ไม่น่าเชื่อถือ ขนาดกับน้องยังทำได้อย่างนี้และกับประชาชนสิงคโปร์จะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังถูก “ข่มขู่” จนน้องชายคิดจะออกไปอยู่นอกประเทศ อีกทั้งพาดพิงไปทางลบถึง Ho Ching ภรรยาซึ่งมีหน้าที่ใหญ่โต เป็น CEO ของ Temasek อีกด้วย และอ้างว่าพี่ชายมีแผนที่จะสนับสนุนลูกชายให้สืบทอดเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป พูดง่าย ๆ ก็คืออัดพี่ชายเสียเละไม่มีชิ้นดี

          รุ่งขึ้นพี่ชาย (LHL) ก็ปล่อยเอกสารที่ให้การกับคณะกรรมการที่รัฐได้ตั้งขึ้นพิจารณาว่าสมควรรื้อบ้านหลังนี้หรือไม่และกำลังพิจารณาอยู่ ในเอกสารยาวระบุชัดเจนและก็เป็นไปตามที่คนสิงคโปร์คาดเดากันกล่าวคือ มันน่าจะเกี่ยวพันกับสิ่งอื่นมากกว่าแค่ “รื้อ” หรือ “ไม่รื้อ” บ้านเท่านั้น

          LHL บอกว่าพ่อซึ่งถึงแก่อนิจกรรมในปี 2015 เมื่อมีอายุ 91 ปี ในปีที่สิงคโปร์ฉลองเอกราชย์ครบ 50 ปี มีพินัยกรรมถึง 7 ฉบับ แก้กันไปแก้กันมา หนักที่สุดก็ในช่วงปี 2011 ถึงก่อนเสียชีวิต ตัวเขาเองเห็นแค่ 6 ฉบับคือฉบับปี 2013 เมื่อพ่อเสียชีวิตแล้วจึงรู้ว่ามีฉบับที่ 7 ซึ่งระบุให้รื้อบ้าน (ไม่มีข้อความให้รื้อใน 2 ฉบับก่อนหน้า) และให้น้องสาวได้มรดกเพิ่มขึ้นอีก 1/7 เมื่อ อ่านดูละเอียดแล้ว ทุกสิ่งที่กล่าวถึงน่าจะเป็นความจริงเพราะเป็นข้อมูลทางการที่นายกรัฐมนตรีมอบให้แก่คณะกรรมการ

          ข้อมูลระบุว่าในช่วงหลังจากที่แม่ (Kwa Geok Choo) เสียชีวิตในปี 2010 ลูก ๆ ก็ผลัดกันไปหาพ่อ รบเร้าหลายเรื่อง เรื่องสำคัญก็คือการรื้อบ้าน มีหลักฐานว่าพินัยกรรมถูกแก้กลับไปมาหลังจากที่ลูกแต่ละคนไปหาและโน้มน้าวได้สำเร็จ

          ประเด็นสำคัญของการรื้อบ้านก็คือ จะทำให้เหลือแต่ที่ดินซึ่งสามารถเอาไปขายได้ซึ่งมูลค่าปัจจุบันอาจถึง 30-40 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (700-1,000ล้านบาท) เพราะอยู่ใกล้กับ Orchard Road แหล่งค้าขายสำคัญ นายกรัฐมนตรีบอกว่าต้องการให้เก็บไว้เพราะจะได้ไม่สามารถขายให้แก่ธุรกิจได้เพราะไม่ต้องการให้ครอบครัวหาประโยชน์จากความมีชื่อเสียงของพ่อ ตราบที่ไม่มีการรื้อบ้านก็ขายที่ดินกันไม่ได้เพราะเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ (บ้านหลังนี้ ลีกวนยู อยู่มาตลอดชีวิตตั้งแต่ทศวรรษ 1940 เป็นบ้านที่แสนธรรมดาที่สุด) หากรัฐจะซื้อมาก็เป็นที่ชัดเจนว่าพี่น้องจะรับเงินไปทั้งหมดโดยไม่บริจาคก้อนใหญ่ให้แก่การกุศลนั้นเป็นไม่ได้

          เมื่อพิจารณาเรื่องนี้แล้วจึงเห็นว่ามันเป็นเรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ เหมือนครอบครัวธรรมดาทั่วไปที่ขาดธรรมะในใจ ที่น่าเสียดายก็คือมันเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่สมควรนำมาทะเลาะกันในสาธารณะ จนมีผลกระทบต่อมรดกแห่งความยิ่งใหญ่ที่ลีกวนยูได้ทิ้งไว้ให้แก่สิงคโปร์และโลก

          เพื่อให้เรื่องนี้จบ นายกรัฐมนตรีสั่งให้เปิดสภาซักถามกันให้เต็มที่ในวันที่ 3 กรกฎาคม นี้ ตนเองพร้อมจะตอบทุกอย่างเพราะเรื่องนี้ผูกพันกับชื่อเสียงและเกียรติภูมิของ ชาวสิงคโปร์

          แง่คิดในเรื่องนี้ก็คือถ้าไม่มี social media เรื่องก็คงไม่เป็นไฟลามทุ่งดังที่เกิดขึ้น เป็นแน่ จนเกิดความเสียหายแก่ภาพพจน์ของครอบครัวหนึ่งอันเกรียงไกรของโลกเพราะได้รับการศึกษา ดีมากทุกคน ทำงานทำการอย่างแข็งขัน ไม่มีคนใดทั้งลูกและสะใภ้ที่เกเร ทุกคนมุ่งสนับสนุนเกียรติภูมิของปู่ และชื่อเสียงของสิงคโปร์

          สิงคโปร์เสียชื่อในด้าน brand control เพราะแต่ไหนแต่ไรสิงคโปร์มี brand ในด้านประสิทธิภาพ ความสมาร์ท ความสามรถในการ”จัดการได้” และควบคุมได้อย่างดีมายาวนาน มาครั้งนี้ความสามารถในด้านนี้ลดลงไปอย่างช่วยอะไรไม่ได้

          คนที่น่าสงสารที่สุดคือลีกวนยู ในตอนอายุ 88-90 ปี ก่อนเสียชีวิตต้องปวดหัวกับเรื่องมรดกที่ลูกหลานนำมารบเร้าให้แก้ไขพินัยกรรม และร้ายกว่านั้นก็คือไม่เป็นการยุติธรรมเลยที่ตนเองต้องเสียเกียรติภูมิเพราะลูก ๆ หลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว