ตั้งมหาวิทยาลัยต่างประเทศในไทย

วรากรณ์  สามโกเศศ
30 พฤษภาคม 2560

          โครงการ “ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก” หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) ของรัฐบาลกำลังเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับตามแผนการที่ได้วางไว้ เรื่องหนึ่งที่มีการกล่าวถึงก็คือการยอมให้มหาวิทยาลัยต่างประเทศเข้ามาตั้งในประเทศไทย ปฏิกิริยาในเรื่องนี้มีอยู่เงียบ ๆ อย่างไม่ เปิดเผยนัก ผู้เขียนขอแสดงความเห็นในเรื่องนี้

          EEC เป็นความพยายามที่จะสร้างและเสริมเพิ่มเติมกลไกขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ (Engine of Growth) โดยเล็งไปที่ทำเลที่ตั้งในภาคตะวันออกต่อยอดจากโครงการ Eastern Seaboard บริเวณแหลมฉะบัง มาบตาพุด ฯลฯ ฃึ่งเริ่มในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ 30 ปีก่อน โดย ดร.เสนาะ อูนากูล เป็นมันสมอง โดยมีทีมงานสำคัญคือ ดร.สาวิตต์ โพธิวิหค คุณสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม ฯลฯ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง เกิดท่าเรือน้ำลึกแห่งแรกขนาดใหญ่ของประเทศไทย เป็นฐานของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมรถยนตร์ ชิ้นส่วน ฯลฯ

          จากสัดส่วน GDP ของภาคตะวันออกประมาณร้อยละ 3.6 ของทั้งประเทศในปี 2526 เพิ่มเป็นร้อยละ 17.7 ในปี 2557 ทำให้รายได้ต่อหัวของคนที่อยู่ในภาคตะวันออกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนตัวเลขเฉลี่ยมากกว่าคนกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ คงไม่ผิดถ้าจะกล่าวว่าโครงการ Eastern Seaboard เป็น “คานงัด” ที่สำคัญของอุตสาหกรรมไทยในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา

          รัฐบาลปัจจุบันมองว่า “คานงัด” อันเก่ามันเริ่มจะล้าเพราะทำงานมานาน อุณหภูมิและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนไม้คานของประเทศอื่นที่มีอายุน้อยกว่าเริ่มมีอิทธิฤทธิ์มากขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้นประเทศเราจึงต้องการ “คานงัด” อันใหม่ ซึ่งได้แก่ EEC

          EEC จะอยู่ในบริเวณพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งแท้จริงก็คือบริเวณที่เดิมของ Eastern Seaboard โดยจะใช้พื้นที่ว่างใกล้เคียงที่มีอีกมาก พื้นที่ขั้นต้นไม่ต่ำกว่า 30,000 ไร่ (มีอยู่แล้วพร้อมลงทุน 15,000 ไร่ และอยู่ระหว่างพัฒนา 15,000 ไร่) มุ่งจะพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้สะดวกเหมาะสมต่อการเข้ามาลงทุนของธุรกิจต่างประเทศและไทยเพราะอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ที่ไม่ไกลจาก CLMV และจีน สอดคล้องกับการการเป็นศูนย์เชื่อมต่อกับประเทศเหล่านี้อย่างยิ่ง การพัฒนามีดังนี้

          ส่วนแรก คือ การก่อสร้างพื้นฐานคมนาคมและโลจิสติกส์ สร้างมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทางพร้อมปรับปรุงทางหลวงเชื่อมต่อ มีรถไฟรางคู่ รถไฟ ความเร็วสูง และสถานีรถไฟแห่งใหม่ ที่สำคัญคือเน้นให้ 3 สนามบินคืออู่ตะเภา สุวรรณภูมิ และดอนเมือง เชื่อมต่อถึงกันอย่างสะดวก มีการขยายสนามบินอู่ตะเภาเพื่อเป็นอาคารรับผู้โดยสารเพิ่มเติม ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ศูนย์ขนส่งสินค้าทางอากาศ ฯลฯ

          นอกจากนี้ก็คือพัฒนาสาธารณูปโภค ระบบน้ำ ไฟฟ้า สาธารณสุข สภาพแวดล้อม การท่องเที่ยว โดยมองไปที่การสนับสนุนพัทยา (มีนักท่องเที่ยวปีละ 10 ล้านคน) ตลอดจนขยายเมืองใหม่

          ส่วนที่สอง คือ พัฒนานิคมอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีชั้นสูง กำจัดขยะ น้ำเสีย โดยมองไปที่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

          กล่าวโดยสรุปก็คือต้องการสร้างพื้นที่ดึงดูดใจนักลงทุนจากภูมิภาคนี้และทุกแห่ง ตลอดจนจากภาคธุรกิจไทย โดยทำให้มีต้นทุนต่ำ สามารถเช่าที่ดินได้นานสำหรับการลงทุน มีส่วนประกอบด้านต่าง ๆ ที่ทำให้ชีวิตของผู้เกี่ยวพันและครอบครัวมีคุณภาพสูง

          ส่วนสำคัญก็คือแรงจูงใจด้านภาษี และด้านไม่ใช่ภาษี เช่น การถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน การยอมให้นำเข้าช่างฝีมือ และประเด็นของข้อเขียนนี้ก็คือการยอมให้ต่างชาติตั้งมหาวิทยาลัยในไทย ซึ่งมีประเด็นดังต่อไปนี้

          (1) การมีมหาวิทยาลัยต่างชาติในไทยชนิดแบบเป็นแคมปัส มิใช่การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทยนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ (ถึงแม้ในตอนต้นอาจไม่ใช่มหาวิทยาลัยต่างชาติ แต่ต่อมากลายร่าง) ตัวอย่างก็คือมหาวิทยาลัย Stamford ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาคเอกชนเครือข่าย Laureate International University ซึ่งมีอยู่ 60 มหาวิทยาลัยใน 29 ประเทศ และ Webster University ซึ่งแคมปัสหลักของมหาวิทยาลัยชื่อเดียวกันอยู่ในรัฐ Missouri สหรัฐอเมริกา

          (2) มหาวิทยาลัยต่างชาติในไทยไม่เป็นที่นิยมนัก รวมกันมีนักศึกษาอยู่ในระดับจำนวนพันในจำนวนนักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนทั้งหมดประมาณ 150,000 คน ในจำนวนนักศึกษาทั้งประเทศไทยซึ่งมีกว่า 1.5 ล้านคน

          เหตุผลก็คือนักเรียนไทยที่มีความรู้ภาษาอังกฤษดีพอที่จะเรียนได้ มีเงิน และปรารถนาเรียนหลักสูตรที่เป็นภาษาอังกฤษสามารถเรียนได้ใน International Program ของมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งมีอยู่นับร้อยแห่ง ส่วนกลุ่มที่อยากเรียนหลักสูตรแบบมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ถ้ามีเงินพอที่จะก็ไปเรียนออสเตรเลีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา

          (3) เกือบทั้งหมดของนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษในไทย ไม่ว่าในมหาวิทยาลัยไทยหรือต่างประเทศล้วนเรียนในระดับปริญญาตรีเกือบทั้งสิ้น ในบ้านเรามีหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงอยู่น้อยมาก ๆ อีกทั้งอาจารย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากงานวิจัย รู้จริงและรู้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงนั้นก็มีน้อยมาก บุคลากรเหล่านี้ที่พอมีอยู่บ้างก็ไม่ใช่อาจารย์ หากเป็นนักวิชาการ นักเทคโนโลยีในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และภาคเอกชน

          (4) หลักสูตรทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอกทั้งหลายในบ้านเราไม่ว่าสอนในภาษาใดก็พูดได้ว่าไม่ทันกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง หลักสูตรเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาล่าสุดก็ปีก่อนหน้า ดังนั้นจึงใช้เวลา 4 ปี กว่าจะผลิตคนออกมาได้ และระหว่างที่เรียนนั้นโลกและตลาดก็เปลี่ยนไปจนสิ่งที่เรียนมาไม่สอดคล้องกับโลกที่ต้องเผชิญ หลักสูตรในต่างประเทศก็เข้าหรอบเดียวกับไทย แต่หลายแห่งหลักสูตรมีความคล่องตัวกว่ามาก จนนักศึกษาสามารถเลือกเรียนวิชาที่ตนเองสนใจและคาดเดาว่าจะสามารถนำไปปรับปรุงใช้กับโลกจริงได้อย่างดีที่สุด

          ครูอาจารย์เกือบทั่วโลกจำนวนมากสอนตามเนื้อหาที่ตนเองถูกสอนมาซึ่งอาจเป็นเวลาสิบ ๆ ปีและเราก็ตระหนักกันดีกว่าโลกเมื่อ 10 ปีก่อนนั้นต่างไปจากปัจจุบันอย่างไร และนี่คือปัญหาหนักอกในระดับมหาวิทยาลัยทั่วโลกในปัจจุบัน

          การอนุญาตให้มหาวิทยาลัยต่างชาติมาเปิดในไทยนั้น จะมีผลกระทบน้อยในการแย่งชิงนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยไทยเพราะส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาคนละกลุ่มกับที่จะไปเรียน

          การมีมหาวิทยาลัยต่างชาติชั้นดีในเขต EEC จะช่วยทำให้ผู้ที่อาจเกี่ยวพันกับกิจกรรมของ EEC ยินดีที่จะมาร่วมมากขึ้นเพราะลูกหลานมีที่เรียน อีกทั้งเป็นแรงกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยไทยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงคุณภาพการเรียนการสอน โดยเฉพาะเป็นต้นแบบของงานวิจัยและการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา

          การมีเครือข่ายเชื่อมต่อกับมหาวิทยาลัยเหล่านี้จะเป็นผลดีต่อไทยมากกว่าผลเสีย แรงดึงดูดนักศึกษา CLMV และจีนให้มาเรียนในไทยอย่างมีคุณภาพก็จะแรงขึ้น ผู้บริหารการศึกษาไทยไม่ควรรังเกียจและหวาดกลัวการมาตั้งมหาวิทยาลัยเช่นนี้ในไทย อย่างไรเสียก็ไม่อาจหยุดกั้นได้ เพื่อนบ้านของเรา เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ มีมหาวิทยาลัยต่างชาติมาตั้งอยู่หลายปีแล้ว

          สิ่งหนึ่งที่ขอติงก็คือการอนุญาตให้ตั้งมหาวิทยาลัยต่างชาติชนิดออนไลน์เท่านั้นจะไม่เป็นผลแต่อย่างใดเพราะขณะนี้คนไทยก็สามารถเรียนออนไลน์กับมหาวิทยาลัยต่างชาติเหล่านี้ได้อยู่แล้ว ประเด็นที่ควรตระหนักก็คือการเรียนออนไลน์นั้นพิสูจน์แล้วทั่วโลกว่าไม่ได้ผล มีเปอร์เซ็นต์น้อยมากที่เรียนจบ (เฉพาะคนที่มุ่งมั่นอย่างแท้จริงเท่านั้น)เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องการเรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์และมีสังคมแห่งการเรียนรู้ที่จับต้องได้

          การมีทัศนคติที่กว้างขวาง คิดถึงผลประโยชน์ของชาติมากกว่าส่วนตนคือความรักชาติที่แท้จริง