วรากรณ์ สามโกเศศ
7 พฤศจิกายน 2560
ความสามารถ จังหวะของชีวิต และเงื่อนไขของสิ่งแวดล้อมสามารถทำให้ผู้หญิงอายุเพียง 37 ปี ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศพัฒนาแล้วด้วยฝีมือของ เธอเอง
Jacinda Ardern เพิ่งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เธอเดินตามรอยผู้นำอายุน้อยในปัจจุบัน เช่น Justin Trudeau แห่งคานาดา (เป็นเมื่ออายุ 44 ปี คุณอภิสิทธิ์ก็เป็นตอนอายุเท่านี้เหมือนกัน) Emmanuel Macron แห่งฝรั่งเศส (39 ปี) Sebastian Kurz แห่งออสเตรีย (31 ปี) Kim Jong-Un แห่งเกาหลีเหนือ (อายุ 28 ปี) ดูเหมือนว่าการมีหน้าตาดีเป็นเงื่อนไขสำหรับชายและหญิงในตำแหน่งนี้ ยกเว้น Kim เพราะแค่ทรงผมก็หล่อเกินขนาดแล้ว
Jacinda Ardern หน้าตาดี พูดเก่งและมีความสามารถ เธอเรียนจบปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ ด้านสื่อสารการเมืองมาโดยเฉพาะโดยจบจาก University of Waikato ซึ่งอยู่ใกล้บ้านเกิดของเธอคือ Hamilton มหาวิทยาลัยนี้ตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อสนับสนุนคนเมารี ซึ่งเป็นคนพื้นเมือง ในจำนวนนักศึกษาเกือบหนึ่งหมื่นคน มีนักศึกษาเมารีถึง 15% อาจารย์และเจ้าหน้าที่จำนวนมากก็ทำงานที่นี่
พ่อของเธอเป็นตำรวจ ส่วนแม่ทำงานในโรงอาหารของโรงเรียน เธอเป็นสมาชิกพรรคแรงงาน (Labor) อย่างเหนียวแน่นตั้งแต่ยังเด็ก ลงเลือกตั้ง 3 ครั้ง ก็แพ้มาตลอด แต่ก็ได้เป็น ส.ส. รายชื่ออย่างสุดลุ้น พอได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เขตครั้งแรกได้ไม่ถึง 8 เดือนก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะเล่าว่าเธอได้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างไร ลองดูการเมืองนิวซีแลนด์กันสักหน่อย
นิวซีแลนด์มีประชากร 4.8 ล้านคนแต่มีแกะถึง 30 ล้านตัว มีรายได้ต่อหัวต่อคนมากกว่าไทยประมาณ 6 เท่า (36,000 กับ 6,000 เหรียญสหรัฐ) สองพรรคใหญ่คือ National กับ Labor ผลัดกันเป็นรัฐบาลมายาวนาน จนถึงปี 1969 ก็มีการลงประชามติให้มีระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่เรียกว่า MMP (Mixed Member Proportional) กล่าวคือใน 120 ที่นั่งของ ส.ส. ในรัฐสภาซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี แบ่งเป็น 71 ที่นั่ง จาก ส.ส. เขต (หนึ่งเขต หนึ่งคน) และ 49 ที่นั่งเป็น ส.ส. จากบัญชีรายชื่อ
ระบบ MMP ตั้งใจให้พรรคเล็กได้มีโอกาสเข้าไปร่วมรัฐบาล ในการเลือกตั้งผู้ลงคะแนนเลือก ส.ส.เขตจากพรรคและเลือกพรรคที่ชอบ สำหรับ ส.ส. เขตนั้นใครได้คะแนนสูงสุดก็ได้เป็น ส.ส. ส่วน 49 ที่นั่งของบัญชีรายชื่อนั้นเอามาจัดสรรให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ตามสัดส่วนที่ได้รับการลงคะแนนให้พรรค
ระบบนี้คล้ายกับบ้านเราในสมัยก่อน เพียงแต่พรรคที่ได้คะแนนนิยมจากการเลือกพรรค 5% ขึ้นไปจะได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส. ตามสัดส่วนความนิยมพรรค หรือถ้าพรรคใดได้ ส.ส. จาก เขตหนึ่งคนขึ้นไป ก็จะได้รับจัดสรร ส.ส. ให้เช่นกันโดยเรียงลำดับตามบัญชีรายชื่อ
นับตั้งแต่ปี 1969 เป็นต้นมาถึงแม้ National กับ Labor ผลัดกันเป็นรัฐบาลครั้งละ 6 ปีบ้าง 9 ปีบ้าง (เลือกตั้งทั่วไปทุก 3 ปี) แต่เกือบทุกครั้งพรรคเล็กก็ได้เข้าร่วมรัฐบาล
Jacinda นั้นเมื่อเรียนจบก็เป็นผู้ช่วยวิจัยของ Helen Clark ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค Labor หญิง และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของนิวซีแลนด์ (คนแรกคือ Jenny Shipley จากพรรค National) และไปทำงานเชิงที่ปรึกษาให้แก่ Tony Blair นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ก่อนที่เธอจะกลับมาลงเลือกตั้ง ส.ส. เขตในปี 2008 ผลปรากฏว่าเธอแพ้แต่ก็ได้เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ (ระบบของนิวซีแลนด์ไม่ห้ามการมีชื่อในสองระบบ) โดยเป็นลำดับที่ 20 ของจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค Labor 20 คน เธอจึงได้เป็น ส.ส. ที่มีอายุน้อยที่สุดในสภาคือ 28 ปี
สมัยเลือกตั้งต่อมาคือ 2011 เธอก็ลงเลือกตั้ง ส.ส. เขตอีกและก็แพ้แต่ก็ได้เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่ออันดับที่ 13 จากจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ 13 คนที่พรรคได้ ในสมัยเลือกตั้งต่อมาคือปี 2014 เธอก็ลงเลือกตั้ง ส.ส. เขตอีก และก็แพ้อีก แต่ได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกโดยอยู่ในอันดับ 5 จากจำนวน 5 คน ที่พรรคได้
ชีวิตของเธอนั้นเหลือเชื่ออย่างมาก แพ้เลือกตั้งแต่ก็ได้เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับสุดท้ายของพรรคทั้ง 3 สมัย พอมาถึงสมัยเลือกตั้ง 2017 ในเดือนกุมภาพันธ์ คราวนี้โชคชะตาอยู่ข้างเธออย่างไม่คิดไม่ฝัน เธอลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต ครั้งนี้เธอได้รับคะแนนอย่างท่วมท้นเพราะไม่มีคู่แข่ง ถัดมาอีกเดือนเธอก็ได้รับเลือกให้เป็นรองหัวหน้าพรรคอย่างเป็นเอกฉันท์เพราะคนก่อนลาออก
ก่อนเลือกตั้งเพียง 7 อาทิตย์ หัวหน้าพรรค Labor ก็ลาออกเพราะดูไปแล้วพรรคแพ้อย่างแน่นอน ในวันที่ 1 สิงหาคม 2017 เธอจึงได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค Labor เพราะได้รับคะแนนนิยมสูง เป็นกำลังสำคัญที่จะฉุดพรรคให้ได้จำนวน ส.ส.เกินกว่าครึ่งหนึ่งและได้เป็นรัฐบาล เธอก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี
ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 23 กันยายน 2017 พรรค Labor ได้ ส.ส. เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อรวม 46 ที่นั่ง แต่ก็ยังน้อยกว่าพรรค National ซึ่งมีอดีตนายกรัฐมนตรี Bill English เป็นหัวหน้า ซึ่งได้รวมทั้งหมด 56 ที่นั่ง (ลดไป 4 ที่นั่ง) จึงเป็นอันว่าเธอไม่ชนะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเธอแพ้
เวลาผ่านไป 3 อาทิตย์ พรรค Labor ก็ประกาศว่าจะมี 2 พรรค เข้าร่วมรัฐบาล คือ พรรค NZ First (9 ที่นั่งจากบัญชีรายชื่อทั้งหมด) และพรรค Green (8 ที่นั่งจากบัญชีรายชื่อทั้งหมด) รวมแล้วเธอมีเสียงสนับสนุน 63 ที่นั่ง (46 + 9 +8) เกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดคือ 60 ที่นั่ง เธอจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยมีประสบการณ์การเมืองเป็น ส.ส. มา 9 ปี แต่ได้เป็นเพียงรัฐมนตรีเงา
Jacinda ได้รับแรงเชียร์จากสื่อทั้งในและนอกประเทศมาก จนเป็นกระแสร้อนแรงทำให้พรรคได้ที่นั่งเพิ่มจากเดิม 14 ที่นั่ง เธอเป็นผู้นำ Women March ตอนต้นปี 2017 ประท้วงการเป็นประธานาธิบดีของ Donald Trump
นโยบายของเธอคือช่วยเหลือเด็กยากจน (1 ใน 3 ของเด็กนิวซีแลนด์ยากจนซึ่งได้แก่ลูกหลานของเมารี และชาวเกาะในปาซิฟิค) เก็บภาษีคนรวย เงินกู้เรียนมหาวิทยาลัยไม่มีดอกเบี้ย ไม่อนุญาตให้คนต่างชาติซื้อที่ดินและบ้าน ลดจำนวนคนอพยพเข้าประเทศ สนับสนุนการทำแท้ง สนับสนุนการแต่งงานของเพศเดียวกัน ต่อต้านโลกร้อน ฯลฯ เรียกได้ว่าเธอมีความคิด “ก้าวหน้า” เธอเรียกตัวเองว่าเป็น Social Democrat
ในวัย 37 ปี เธอเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยสุดในโลก เธอเป็นพลเมืองของประเทศที่ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญ ครั้งหนึ่งในปี 2005-2006 ตั้งแต่ Governor General (ตัวแทนพระราชินีเสมือนเป็นประมุข) นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร จนถึงประธานศาลฎีกาล้วนเป็นผู้หญิงทั้งหมด นอกจากนี้นิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกในโลกที่ผู้หญิงมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยเริ่ม ในปี 1893 (สหรัฐอเมริกาผู้หญิงมีสิทธิ์ในปี 1920)
ถ้าเป็นคนไทยก็ต้องบอกว่าดวงชะตาของเธอกำหนดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ขอให้ รองเท้าแก้วที่มาจากฝีมือของเธออยู่ติดแน่นไม่หลุดไปอีกนานเพราะเราเอาใจช่วย “ซินเดอเรลลา” หญิงเก่งวัยละอ่อนคนนี้