เรียนรู้ “ปัญญาเพื่อชีวิต”

วรากรณ์  สามโกเศศ
28 มีนาคม 2560 

          ชีวิตนั้นเปราะบางมากจนแม้แต่ความผิดพลาดเพียงบางเรื่องในวัยก่อนกลางคนก็สามารถทำลายได้ทั้งชีวิต ดังนั้นการเรียนรู้ข้อผิดพลาดจากประสบการณ์ของตนเองเพื่อการมีปัญญาในอนาคตจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก การเรียนรู้ชีวิตจากปัญญาของผู้อื่นโดยเฉพาะจากผู้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อนจึงเป็นวิธีการที่ฉลาด กล่าวคือได้รู้บทเรียนโดยไม่ต้องเจ็บตัว

          ผู้เขียนเก็บสะสม “ปัญญาเพื่อชีวิต” ไว้มากพอสมควรจากหลายแหล่งโดยเฉพาะจากอินเตอร์เน็ต ในครั้งนี้ขอนำมาสื่อสารต่อ ชุดแรกไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของ เนื้อหาน่าสนใจและมีค่าอย่างน่าใคร่ครวญ ข้อความมีดังนี้

          “…..แก้วที่คว่ำอยู่กลางสายฝน ต่อให้ฝนตกกระหน่ำทั้งคืนก็ไม่อาจเต็มไปด้วยน้ำ คนที่ไม่ยอมเปิดใจเรียนรู้ ต่อให้คลุกคลีอยู่กับนักปราชญ์ทั้งคืนก็ยังคงโง่เท่าเดิม

          คนที่ปล่อยตัวปล่อยใจให้ตกเป็นทาสของความโกรธ ต่อให้นอนบนเตียงราคาแพง ลิบลิ่ว ปูด้วยพรมขนสัตว์ที่มีลวดลายบุปผชาติประดับไปทั้งผืน ก็ไม่อาจทำให้หลับตาลงอย่างเป็นสุขได้เลยตลอดรัตติกาลอันยาวนาน

          อยู่คนเดียวจงระวังความคิด อยู่กับมิตรจงระวังวาจา อยู่กับมารดาบิดาจงระวังการปฏิบัติตน ถ้าคิดไม่ระวังจะกลายเป็นคิดฟุ้งซ่าน ถ้าพูดไม่ระวังมิตรจะเข้าใจผิด ถ้าปฏิบัติไม่ดีต่อมารดาบิดาจะเป็นการสร้างบาปให้ตนเอง

          อย่าแค่สอนให้ลูกอยาก “รวย” แต่สอนให้เข้าใจ “ความสุข” เพราะเมื่อลูกคุณโตขึ้น เขาจะได้รู้ “คุณค่า” ของสิ่งของ ไม่ใช่รู้แค่ “ราคา” ของมันเท่านั้น

          ผู้คนคิดว่าการอยู่คนเดียวทำให้เราเหงา แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่หรอก การถูกห้อมล้อมไปด้วยคนที่ ‘ไม่ใช่’ ต่างหาก คือสิ่งที่เหงาที่สุดในโลก

          คนฉลาดไม่ได้คบคนที่สวยที่สุดในโลก แต่คบคนที่คบแล้วโลกสวยที่สุด

          ฟ้ามิได้แบ่ง ‘ยอดคน’ กับ ‘คนธรรมดา’ออกจากกัน ยอดคนจะปรากฏขึ้นเสมอ แต่นั่นมิใช่เพราะ ‘ฟ้ากำหนด’ การที่ “ยอดคน” ปรากฏขึ้นได้เพราะเขาผ่านการ “ฝึกฝน” และ “เรียนรู้” ที่จะเป็นยอดคน

          “อัจฉริยะ” ไม่ใช่สัตว์ประหลาดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิดคนเก่งได้นั้นต้องได้รับการฝึกฝน ม้าดีต้องมีคนขี่ม้ามาฝึกฝน นักกีฬาที่ดีต้องมีโค้ชที่ดีมาฝึกฝน

          อดีตไม่สำคัญว่าเราเป็นใคร สำคัญที่ว่าวันนี้และวันหน้าเราต้องการเป็นใคร…อย่าเอาอดีตของตัวเองมาตัดสินอนาคตของตัวเอง

          จงเห็นคุณค่าในตัวเอง เคารพนับถือในความสามารถที่มีอยู่ของตัวเอง หากเราไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนาตัวเองแล้ว ตัวเราเองจะกลายเป็นผู้สำเร็จและยิ่งใหญ่ได้ จงยกย่องและให้เกียรติตัวเอง

          สมองของคนเราเหมือนพื้นดินที่ว่างเปล่า เมื่อเราปลูกอะไรลงไปเราก็จะได้ผลเป็นอย่างนั้น จงปลูกฝังแต่สิ่งดี ๆ ลงไปในสมอง คำพูดใด ๆ ที่เราเคยได้ยินซ้ำ ๆ หรือการกระทำสิ่งใดซ้ำ ๆ ติดต่อกันเกิน 49 วัน มันจะกลายเป็น “นิสัย” ของเรา จงคุยกับตัวเองแต่เรื่องดี ๆ ทุก ๆ วัน มันคือ เคล็ดลับของทุกความสำเร็จบนโลก

          สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในโลกคือ “สิ่งแวดล้อม” อย่าปล่อยให้ความคิด หรือคำพูดราคาถูกของคนบางคนมากำหนดชีวิตของเรา

          ในโลกนี้ไม่มีใครมีอิทธิพลกับตัวเรานอกจากตัวเราเอง อย่าตกเป็นเหยื่อคำพูดของใครที่พูดไปอย่างไม่ได้คิด
ชีวิตไม่ใช่เกมส์กีฬา ไม่มีเวลาพักครึ่ง ไม่มีการขอเวลานอก และที่สำคัญคือ ‘เปลี่ยนตัวผู้เล่นไม่ได้’ ไม่มีใครเกิดมา ‘ล้มเหลว’ ถ้าไม่ ‘ล้มเลิก’

          คนฉลาด…ต้องโง่เป็น คนโง่ไม่เป็น…จะไม่มีทางฉลาด

          เพียงคุณคิดว่าคุณทำได้ คุณก็ทำได้ตั้งแต่คุณคิด แต่หากคุณคิดว่าคุณทำไม่ได้ คุณก็ทำไม่ได้ตั้งแต่ที่คุณคิด
สิ่งเลวร้ายที่สุดของมนุษย์คือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ‘ทางจิต’ ที่ตอกย้ำตัวเองว่า…ทำไม่ได้

          แม้แต่ “คิด” ยังไม่กล้าที่จะคิด แล้วชีวิตจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร?
จงกล้าที่จะเผชิญความล้มเหลวเพราะมันคือครูที่ดีที่สุดที่เข้ามาเพื่อทดสอบตัวเรา ถ้าคุณต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต สิ่งที่คุณจะต้องเจอคือ “ความล้มเหลว” อย่ากลัวความล้มเหลวเพราะมันมากับความสำเร็จคุณเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ อยากสำเร็จไวจงรีบออกไปพบความล้มเหลวให้ไว ๆ เราจะได้พบกับความสำเร็จไว ๆ เช่นกัน

          ทำไมมนุษย์เหมือนกันจึงประสบความสำเร็จไม่เท่ากัน นั่นเป็นเพราะมนุษย์แต่ละคนได้รับโอกาสทางความคิดที่แตกต่างกัน การลงมือทำตามความคิดจึงแตกต่างกัน

          คนสำเร็จมองปัญหาเป็นโอกาส คนล้มเหลวมองโอกาสเป็นปัญหา

          คนสำเร็จจะปรับตัวเองไปหาโลกภายนอก คนล้มเหลวจะให้โลกภายนอกปรับเข้าหาตัวเอง

          ผู้นำที่ประสบความสำเร็จขององค์กรต่าง ๆ ในโลกนี้ กว่า 85% ทั่วโลกล้วนแล้วแต่มิใช่ คนเก่ง แต่เขาเหล่านั้นล้วนเป็นคนดีทั้งสิ้น

          คนเก่งมักจะมี “อัตตา” จะไม่ยอมปรับตัวเข้าหาโลก ไม่รับฟังความคิดเห็นของ คนอื่น ไม่ยอมรับการพัฒนา คนปฏิเสธการพัฒนาคือคนโง่ คนปฏิเสธความรู้ และสิ่งใหม่ ๆ เป็นผู้นำคนไม่ได้

          คนเก่งนั้นใช้เวลา 2-3 ปี ก็สอนให้เก่งได้ แต่คนดีต้องใช้เวลา “ชั่วชีวิต” ในการพากเพียร คนเก่งอาจหาได้ง่าย ๆ แต่คนดีสิหายากจริง ๆ

          คนเก่งถ้าขาดความจงรักภักดี ไม่มีความกตัญญู ก็เป็นได้แค่เก่ง แต่คนดีดูได้จากความกตัญญูรู้คุณ

          “ความรู้” เป็นเพียง “พลังอำนาจแฝง” ชนิดหนึ่งเท่านั้น “ความรู้” จะกลายเป็น “พลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่” ได้ก็ต่อเมื่อมันถูกนำไปใช้อย่างชาญฉลาด

          ฟัง…แต่…ไม่ได้ยิน ได้ยิน…แต่…ไม่เข้าใจ เข้าใจ…แต่…ไม่ลึกซึ้ง ลึกซึ้ง…แต่… ไม่แตกฉาน แตกฉาน…แต่ไม่นำไปใช้…ไม่ลงมือทำก็ไม่เกิดประโยชน์และเกิดผลลัพธ์

          จงนำศักยภาพและอัจฉริยภาพที่ซ่อนเร้นในตัวเรามาใช้อย่างชาญฉลาดเพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว เพื่อ สังคม และเพื่อประเทศชาติ…..”

          ชิ้นสุดท้ายเป็นของสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ท่านทรงกล่าวว่า “คนที่เกิดมามีแต่คนคอยช่วยเหลือถือว่าเป็นคนมีบุญ แต่คนที่เกิดมาแล้วได้ช่วยเหลือคนอื่นเป็นคนที่มีบุญมากกว่า”

          “ปัญญาเพื่อชีวิต” จะมีประโยชน์จริงก็ต่อเมื่อถูกนำไปใช้กับชีวิตเท่านั้น หากเพียงแต่ผ่านหู และคิดว่าน่าสนใจอย่างขาดการใคร่ครวญและปฏิบัติก็เปรียบเสมือนเป็นขยะหู และมูลฝอยสมอง