สปิริตของ 100 ปี JFK

วรากรณ์  สามโกเศศ
19 กันยายน 2560

          2017 เป็น 100 ปี ชาตกาลอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคเนดี้ (JFK) บุคคลผู้อยู่ในใจของคนอเมริกันและชาวโลกตลอดเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา ประกายไฟความคิดของ JFK ในเรื่องการรับใช้ชาติและสังคมก่อให้ผลกระทบกว้างไกลในโลก

          เมื่อเดือนพฤษภาคม 2017 ที่ผ่านมา อดีตประธานาธิบดีโอบามาเป็นผู้ได้รับรางวัล ซึ่งมีชื่อว่า “2017 John F. Kennedy Profiles in Courage Award” โดย The John F. Kennedy Library and Foundation มอบรางวัลให้ผู้ซึ่งแสดงออกฃึ่งคุณลักษณะของ “politically courageous leadership” (ความเป็นผู้นำที่กล้าหาญทางการเมือง) และบังเอิญตรงกับปีที่ JFK เกิดครบ 100 ปี ด้วย จึงเป็นรางวัลที่ใหญ่เป็นพิเศษ

          JFK เกิด 29 พฤษภาคม 1917 เป็นประธานาธิบดีเมื่อมีอายุได้ 44 ปี และเสียชีวิตตอนอายุ 46 ปี รางวัลดังกล่าวเริ่มมีการให้ตั้งแต่ปี 1990 โดยพิจารณามอบให้ผู้ที่ทำงานให้สังคมทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น และไม่จำเป็นต้องเป็นคนใหญ่โต ขอให้มีการแสดงออกฃึ่งคุณลักษณะของความกล้าหาญอันสะท้อนสปิริตของ “Profiles in Courage”

          “Profiles in Courage” เป็นชื่อหนังสือที่ JFK เขียนในปี 1957 (ตอนอายุ 40 ปี) และได้รับรางวัล Pulitzer ซึ่งถือเป็นรางวัลสุดยอดของนักเขียนในสหรัฐอเมริกัน

          หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงชีวประวัติของวุฒิสมาชิกอเมริกันแปดคนในอดีตที่มีความกล้าหาญและความสัตย์ซื่อ หรือ integrity (ทั้งซื่อสัตย์และมั่นคงในหลักการอันสอดคล้องกับคุณธรรม) ผู้เขียนกล่าวถึงการต่อสู้ของคนเหล่านี้ที่กล้ากระทำสิ่งที่ถูกต้องอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว มั่นคงในหลักการ ถึงแม้จะตรงข้ามกับความเห็นของพรรคและของประชาชนผู้เลือกเข้ามาจนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักและสูญเสียความนิยมไม่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีก

          ขณะที่ตีพิมพ์ JFK (มีคนกล่าวหาว่า JFK เพียงให้ไอเดีย ควบคุมเนื้อหา และการเขียน คนเขียนจริง ๆ คือ Ted Sorensen) เป็นวุฒิสมาชิก หนังสือเล่มนี้ฃึ่งเป็นเรื่องของนักการเมืองในยุคใกล้สงครามกลางเมือง (ทศวรรษ 1860) สงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสองได้รับความนิยมมากจนได้รับรางวัล ถือได้ว่าเป็นตัวช่วยผลักดันให้เขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในเวลาอีก 3 ปีต่อมา

          สำหรับคนอเมริกันและชาวโลกจำนวนมากที่รู้จักเขา ไม่อาจจินตนาการได้ว่า JFK มีอายุครบ 100 ปี ในใจยังคงมีอายุเพียง 40 เศษ เป็นคนหนุ่มไฟแรงที่จุดประกายไฟแห่งการอุทิศให้ “สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง ” อย่างเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ กล่าวสั้น ๆ ก็คือ JFK เป็นบุคคลที่หนุ่มตลอดกาล (คล้ายพ่อแม่ที่มองลูกไม่ว่าอายุมากแค่ไหน มีงานการใหญ่โตแค่ไหนว่าเป็นเด็กอยู่เสมอ) ในใจของผู้ชื่นชอบเขา ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในโลก

          “สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง” ก็คือประโยชน์ของชาติ ของมหาชน และของสาธารณะ ซึ่งครอบคลุมทั้งคนมีฐานะ คนขาดโอกาส คนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีเสียงในสังคม ในองค์การ ในสถาบัน ฯลฯ         

          ความกล้าหาญและความสัตย์ซื่อ มีความหมายกว้างขวางและสำคัญยิ่งหากปรารถนาจะทำงานเพื่อสร้าง “สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง” เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

          ปัจจุบันมนุษย์ในโลกจำนวนมาก อยู่ใน “ความกลัว” โดยกลัวตกงาน กลัวขาดรายได้ กลัวสูญเสียตำแหน่ง กลัวการเปลี่ยนแปลงที่ไม่รู้จัก กลัวความไม่มั่นคงของสถาบันครอบครัว ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเป็นผลพวงจากโลกาภิวัตน์ การโยงใยของระบบเศรษฐกิจ กระแสบริโภคนิยม ตลอดจนทัศนคติที่เปลี่ยนไปของผู้คน ทั้งหมดล้วนมีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเป็นสาเหตุร่วมทั้งสิ้น

          “ความกลัว” ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ดังเช่นการเกิดความเกลียดชังคนที่คิดและเชื่อถือสิ่งที่ไม่เหมือนตน คนที่สวดมนต์แตกต่างออกไป คนที่พูดภาษาและมีขนบธรรมเนียมแตกต่างจากกลุ่มตน คนที่หน้าตาไม่เหมือนตน ฯ

          ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ที่เป็นพนักงานของรัฐและนักการเมืองต้องต่อสู้กับ”ความกลัว “ดังกล่าวที่นำไปสู่ปัญหาที่ฃับฃ้อนยิ่งด้วยการแสดงออกฃึ่งคุณลักษณะของความกล้าหาญอันได้แก่ (ก) ความกล้าหาญในการหันหลังให้แก่ผลประโยชน์จากการทุจริตคอรัปชั่นและการฉ้อราษฎร์ บังหลวง (ข) ความมีใจยึดมั่นในหลักคุณธรรมทั้งในการทำงานและการดำเนินชีวิต (ค) ความกล้าหาญยืนหยัดต่อสู้สิ่งไม่ถูกต้องในงานที่ตนรับผิดชอบ และ (ง) การต่อสู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในทุกลักษณะของสังคมอันเป็นบ่อเกิดของสารพัดปัญหา

          ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา บุคลากรของภาครัฐไทยโดยทั่วไปมีความอ่อนแอในความรู้ความสามารถในงาน ตลอดจนการอุทิศตนเองเพื่อรับผิดชอบในหน้าที่ของตนตามกฎหมายถึงแม้จะได้รับผลตอบแทนและผลประโยชน์สูงกว่าที่เคยเป็นมาในอดีตก็ตาม สปิริต Profiles in Courage ของ JFK เป็นสิ่งที่สังคมเราขาดแคลนยิ่ง

          สำหรับสังคมโดยทั่วไป ความกล้าหาญที่สำคัญคือความกล้าที่จะพิจารณาและวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง เกลียดสิ่งไม่ดีในตัวเรา ยึดมั่นในการเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ และกล้าที่จะคิดว่าสังคมเราสามารถสมานสามัคคี และร่วมกันแก้ไขปัญหาของชาติได้

          ความกล้าหาญของคนในภาครัฐมิได้หมายความถึงความไม่กลัว (คนโง่เขลาที่ไม่รู้อะไรเป็นอะไรก็จะไม่กลัวอะไร) หากหมายถึงการรู้จักตนเองว่ามีหน้าที่รับผิดชอบสิ่งใด อีกทั้งมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะฝ่าฟันความยากลำบากทั้งปวงเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนผู้จ่ายภาษีให้เป็นเงินเดือนอย่างแท้จริง

          การทำงานให้สาธารณะของพนักงานรัฐและนักการเมืองมิใช่เพียงกระทำด้วยความ ตั้งใจดี ด้วยประสิทธิภาพและด้วยความฃื่อสัตย์เท่านั้น หากต้องเป็นไปด้วยการทุ่มเทอย่างเต็มที่ด้วย